ข้าวโพด จากกรรมกรสู่รัฐมนตรี

หากจะบอกว่าข้าวโพดคือพืชที่มีความนิยมอยู่ทั่วโลกก็คงจะไม่ผิดเท่าใดนัก เพราะจากข้อมูลของ สมาคมผู้ปลูกข้าวโพดแห่งชาติ(The National Corn Growers Association) จะพบว่าทั่วโลกเรานั้นสามารถสร้างผลผลิตข้าวโพดต่อแปลงเพาะปลูกได้มากถึง 6 เท่าจากในปี พ.ศ. 2472 เป็นต้นมา นั่นหมายถึงเรามีการจัดการวิทยาการการเพาะปลูกข้าวโพด เพื่อสร้างผลผลิตที่ดีให้รองรับการเติบโตของตลาดข้าวโพดเป็นอย่างดีในระยะเวลาที่ผ่านมา สอดคล้องกับข้อมูลจากแหล่งเดียวกันที่บอกว่าทั่วโลกเรานั้นผลิตข้าวโพดในปัจจุบันได้มากถึง 1,110,835 ล้านตัน และมีการบริโภคสูงถึงกว่า 1,135,192 ล้านตัน (ข้อมูลปี พ.ศ.2562-2563*) โดยตลาดที่ใหญ่ที่สุดในการผลิตและบริโภคคือ สหรัฐอเมริกา และ จีน ซึ่งปริมาณทั้งโลกที่ว่านั้นหากจะแยกรายละเอียดปลีกย่อยออกมาอีก เราจะพบว่ามันมีความสอดคล้องกับแนวทางการเติบโตที่สำคัญทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด

ภาพโดย WikiImages จาก Pixabay

เรื่องของข้าวโพดทั่วโลก . . .

ผลผลิต และการบริโภคข้าวโพดทั้วโลก ปี 2562-2563*
ผลผลิต และการบริโภคข้าวโพดทั้วโลก ปี 2562-2563*

หากคุณคุ้นตากับฉากในภาพยนต์ที่มีเครื่องจักรขนาดใหญ่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดในแปลงขนาดยักษ์อยู่แล้วละก็ นั่นอาจจะหมายถึงเจ้าผลผลิตในภาพนั้นอาจมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในอาหารที่คุณกำลังทานอยู่ก็ได้ เพราะข้าวโพดไม่เพียงแต่เป็นอาหารที่เราทานเป็นฝักอย่างเดียวเท่านั้น ข้าวโพดยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ที่หลากหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของการแปรรูปพร้อมใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในด้านต่างๆ

รายการใช้ประโยชน์จากข้าวโพด ปี 2562
รายการใช้ประโยชน์จากข้าวโพด ปี 2562

หากดูจากแผนภาพข้างต้นเราจะพบว่าเราใช้ประโยชน์จากข้าวโพดในแง่ของการแปรรูปสู่กระบวนการทางอุตสาหกรรมมากที่สุด มากกว่าทำเป็นอาหาร หรืออาหารสัตว์เสียอีก โดยที่ปริมาณในการแปรรูปทำเอทานอลซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบหลักเกี่ยวกับด้านพลังงานทางเลือกนั้นมีปริมาณมากจนใกล้เคียงกับการนำมาทำเป็นอาหารเลยทีเดียว อีกทั้งยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับปริมาณการแปรรูปสู่อุตสาหกรรมด้านอาหารก็เยอะมากเช่นกันทั้ง ฟรุกโตสไซรัป สารให้ความหวาน แป้ง ซีเรียล และส่วนประกอบในเครื่องดื่มอื่นๆ

นี่จะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าข้าวโพดนั้นเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบันไม่เพียงเพราะการเป็นอาหารอย่างเดียวเท่านั้น ยังเป็นส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้ในการบริโภค อีกทั้งยังใช้ในการแปรรูปมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ด้านต่างๆอีกมากมายอีกด้วย

แล้วประเทศไหนบ้างที่กระโดดมาเล่นในตลาดข้าวโพดนี้ ต้องบอกว่าจริงๆแล้วข้าวโพดมีการผลิตและใช้ประโยชน์อยู่กับทุกๆประเทศเลยครับ เพียงแต่ตลาดใหญ่ทางด้านการส่งออกนั้นต้องยอมรับพี่ใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา นั่นเลย ด้วยเพราะเป็นประเทศที่มีความพร้อมในหลายๆด้านด้วยกันทั้งเทคโนโลยีการผลิต เครื่องจักรที่ทันสมัย การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพดที่ดี รวมถึงพื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกข้าวโพดและได้รับการสนับสนุนจริงจังจากรัฐบาลด้วยครับ จึงทำให้ประเทศดังกล่าวมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดเยอะเป็นอันดับโลกแบบนี้

ในส่วนของการนำเข้าผลิตภัณฑ์ข้าวโพดก็เห็นจะไม่พ้นประเทศที่พื้นที่เพาะปลูกน้อยอย่างกลุ่มสหภาพยุโรป ที่ส่วนใหญ่ภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกรวมไปถึงการนำเข้าผลิตภัณฑ์ข้าวโพดเพื่อมาแปรรูปอีกด้วย หากดูตารางด้านล่างจะพบว่าเราจะเห็นประเทศใกล้ๆบ้านเราอย่าง ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลีใต้ หรือแม้กระทั่งจีนที่เป็นผู้ผลิตข้าวโพดอันดับสองของโลกยังต้องมีการนำเข้ามาด้วยเลยบางส่วนนั้น ท่านสงสัยไหมครับว่าประเทศแถบเอเชียเหล่านี้นำเข้าข้าวโพดมาเพื่ออะไรเยอะแยะ คำตอบคงหนีไม่พ้นการนำมาแปรรูป หรือใช้ผลิตภัณฑ์แปรรูปสำเร็จมาพัฒนาต่อแล้วส่งขายอีกทอดนึงเพื่อทำกำไร ดังเช่นผลิตภัณฑ์ดังๆอย่าง ไซรัป สารประกอบในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง นั่นแหละครับ

การส่งออก-นำเข้า ผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด ปี 2562-2563*
การส่งออก-นำเข้า ผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด ปี 2562-2563*

ข้าวโพดมีกี่ชนิด?

จากข้อมูลของกรมวิชาการการเกษตรพอจะแยกแยะข้าวโพดออกได้เป็น 5 ชนิดด้วยกัน อันได้แก่

  1. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือข้าวโพดไร่ (Field Corn)
  2. ข้าวโพดหวาน (Sweet Corn)
  3. ข้าวโพดคั่ว (Pop Corn)
  4. ข้าวโพดแป้ง (Flour Corn)
  5. ข้าวโพดเทียน (Waxy Corn) 
    สำหรับรายละเอียดของข้าวโพดแต่ละชนิด อ่านเพิ่มเติมที่นี่

คุณค่าทางอาหารของข้าวโพด

Wikipedia – http://ndb.nal.usda.gov/ndb/search/list

จากตารางคุณค่าสารอาหารข้างต้นในข้าวโพด 100 กรัมนั้นให้พลังงานคิดเป็น 10-19% ของพลังงานที่รางกายต้องการใน 1 วันเลยทีเดียว ถือได้ว่ามีการให้พลังงานที่สูงพอสมควร

การแปรรูปข้าวโพดมาสู่การบริโภค

จำได้ไหมครับที่ผมบอกว่านอกจากอาหารสัตว์ และการกินเป็นฝักของมันแล้ว มันสามารถนำมาแปรรูปสู่กระบวนการทางอุตสาหกรรมอาหารได้หลากหลาย เรามาเริ่มดูเลยดีกว่าว่ามันนำมาทำอะไรได้บ้าง

แป้ง (flour) อันนี้เป็นกระบวนการเบื้องต้นเลยในการจะนำไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นต่อยอดทำอย่างอื่นต่อ โดยกระบวนการคือนำเมล็ดข้าวโพดที่แก่และแห้งแล้วมาบด แบ่งออกได้เป็น
คอร์นมีล (cornmeal) มีสีเหลือง หยาบ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการนำเมล็ดข้าวโพดแห้งมาบดเลย ไม่ได้แยกอะไรออก มีทั้งเปลือกเมล็ดรวมอยู่ด้วย
คอร์นฟลาวร์ (corn flour) หรือที่บ้านเราเรียกแป้งข้าวโพดนี่แหละครับ มีสีขาวอมเหลืองอ่อนๆ หรือสีขาวเลย อยู่ที่กระบวนการแยกเอ็มบริโอ ซึ่งวิธีการคือนำเมล็ดข้าวโพดมาแช่ บดแยกเปลือกชั้นนอกออก ผ่านการร่อนแยกขนาดและแยกเอ็มบริโอ เหมาะที่จะใช้ประกอบอาหาร
คอร์นสตาร์ช (cornstarch) ได้จากการนำโปรตีนกลูเต็น(gluten) มาผ่านเครื่องเหวี่ยงจนเป็นแป้งในรูปของสารแขวนลอยเข้มข้น แล้วนำมาแยกกลูเต็นออกอีกครั้งด้วยเครื่องเหวี่ยงแรงสูง จากนั้นล้างและทำให้แห้งจะได้เป็น คอร์นสตาร์ช สำหรับนำมาประกอบวัตถุดิบให้มีความข้นขึ้น นอกจากนี้ยังใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ ซอสต่างๆ ใช้เป็นแป้งรีดผ้าและใช้ในอุตสาหกรรมการทอผ้า และการผลิตเด็กซ์ตริน

คอร์นไซรัป (corn syrup) น้ำเชื่อมข้าวโพด หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ แบะแซ ได้จากการใช้คอร์นสตาร์ชนำมาผ่านกรรมวิธีจนเปลี่ยนเป็นน้ำตาลที่มีความหวานมากกว่าน้ำตาลจากอ้อย และไม่ให้พลังงาน ซึ่งนำไปเป็นส่วนผสมในอาหารหลากหลายมาก ด้วยความที่เป็นสารให้ความหวาน เหลวข้นหนืด จึงใช้เป็นสารสำหรับเคลือบผิวของยาวิตามินต่างๆ ใช้เป็นส่วนผสมของลูกอม ใช้เป็นส่วนประกอบในนมผมทารก และอาหารอื่นๆอีกมากมาย

น้ำมันข้าวโพด ทำโดยการแยกเอมบริโอออกจากเมล็ดโดยการนึ่งและบด จากนั้นนำเอมบริโอมาบีบหรือสกัดน้ำมันด้วยตัวทำละลาย จะได้เป็นน้ำมันข้าวโพด ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นน้ำมันประกอบอาหารแล้วยังใช้ในอุตสาหกรรมทำเครื่องชะล้าง ไข สบู่ รวมไปถึง สีน้ำมันอีกด้วย น้ำมันข้าวโพดมีสีเหลืองและกลิ่นหอม เมื่ออุณหภูมิปกติจะไม่มีกลิ่น แต่ถ้าได้รับความร้อนมากขึ้นจะเริ่มมีกลิ่นของข้าวโพดบางๆ มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว และมีกรดไขมันที่จำเป็นอยู่มาก เป็นน้ำมันที่มีคุณภาพดี และมีประโยชน์เช่นเดียวกับน้ำมันงา น้ำมันเมล็ดคำฝอย น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดทานตะวัน

ข้าวโพดเข้ามาในไทยได้อย่างไร?

ถึงแม้ข้าวโพดจะมีต้นกำเนิดมาจากประเทศแถบละตินอเมริกา แต่ก็ไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยแต่อย่างใด ซึ่งบันทึกเก่าแก่สุดน่าจะเป็นจดหมายเหตุของลาลูแบร์(Monsieur De La Loubere) ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ช่วง พ.ศ. 2230 ซึ่งระบุไว้ว่า “คนไทยปลูกข้าวโพดแต่ในสวนเท่านั้น และต้มกินหรือเผากินทั้งฝักโดยมิได้ปอกเปลือก หรือกะเทาะเมล็ดเสียก่อน” นั่นแสดงถึงการมีข้าวโพดเพาะปลูกกันบ้างแล้วแม้อาจจะยังไม่มีแพร่หลายเท่าใดนัก แต่การบันทึกข้อมูลหลังจากนั้นพบว่า ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1  หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร อดีตอธิบดีกรมเพาะปลูก (กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน) ได้ทำการเกษตรส่วนตัวที่ตำบลบางเบิด อำเภอสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2463 ได้ทดลองนำเข้าพันธุ์ข้าวโพดไร่ชนิดหัวบุบ (dent corn) มาจากสหรัฐอเมริกา และทดลองปลูกเป็นครั้งแรกในประเทศไทยจำนวน 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์นิโคลสันเยลโลเดนต์ (nicholson’s yellow dent) ซึ่งมีเมล็ดสีเหลือง และพันธุ์เม็กซิกันจูน (mexican june) ซึ่งมีเมล็ดสีขาว โดยได้ทดลองปลูกที่ฟาร์มส่วนตัว เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์สำหรับเลี้ยงไก่ไข่ และเลี้ยงสุกร นอกจากนี้ยังได้ส่งไปขายเป็นอาหารไก่ในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย โดยต่อมาก็มีอีกหลายหน่วยงานนำไปทดลองปลูกจนแพร่หลายเป็นเวลาต่อมา

แล้วสถานการณ์ข้าวโพดในไทยหล่ะ เป็นอย่างไร?

ต้องบอกว่าข้าวโพดในไทยก็ไม่น้อยหน้าใครเลยครับ หมายถึงในแง่ของการใช้งานการบริโภคโดยภาพรวม ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในปีพ.ศ.2563 คาดการณ์ว่าประเทศไทยมีความต้องการการใช้ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดสูงถึงกว่า 8.44 ล้านตัน แต่เราสามารถผลิตได้จากภายในประเทศเพียง 4.69 ล้านตันเท่านั้น นั่นหมายถึงเราผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการใช้งานจนต้องมีการนำเข้าเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งปัญหานอกจากการนำเข้าธรรมดาแล้ว เรายังพบว่าเกิดปัญหาจากการนำเข้าในรูปแบบต่างๆมาอีก โดยมีข้อมูลว่ามีทั้งการลักลอบนำเข้าข้าวโพดเถื่อนจากชายแดน หรือแม้กระทั่งจากประเทศที่ 3(ประเทศที่ไม่มีชายแดนติดไทย) หรือแม้กระทั่งปัญหาคลาสสิคในปัจจุบันนี้คือการตรวจสอบย้อนกลับถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้จากข้าวโพดจากทางประเทศคู่ค้าของเราเองโดยเฉพาะทางอียู EU และ อเมริกา คือจากที่เราบอกไปว่าเราผลิตข้าวโพดได้ทำเป็นเลขกลมๆก็แค่เพียง 5 ล้านตันนั้น ปัญหาคือ เราผลิตข้าวโพดจากแหล่งพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิถึง 52% หรือตัวเลขกลมๆคือผลผลิตจำนวน 2 ล้านตันนั้นมาจากแหล่งที่เป็นที่ป่า อีกทั้งพื้นที่ประมาณ 33% ที่เพาะปลูกนั้นอยู่ในแปลงพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวโพดอีกด้วย ซึ่งปัญหาที่ตามมาในกรณีที่ผลผลิตที่ได้จากพื้นที่ป่า คือหากผลผลิตจำนวน 2 ล้านตันที่ว่ามานั้นไปเป็นส่วนผสมของสิ่งใดๆก็ตาม ประเทศคู่ค้าที่อ่อนไหวต่อนโยบายสิ่งแวดล้อมในการตรวจสอบกลับถึงที่มาของผลิตภัณฑ์ข้าวโพดนั้น อาจแบนสินค้าจากเราได้ ในขณะที่ปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพดก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่องเพราะความต้องการข้าวโพดโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีปริมาณสูงมากในแต่ละปี

อีกปัญหาที่เรากำลังเผชิญคือ ปัญหาความต่อเนื่องจากการขาดแคลนข้าวโพด อย่างที่กล่าวมาแล้วนั้นว่าไทยเราต้องใช้มากกว่าที่ผลิตได้เองภายในประเทศ นั่นจึงเป็นปัญหาต่อต้นทุนในการนำเข้าข้าวโพด ส่งผลให้เพิ่มต้นทุนในการผลิตลามไปถึงราคาขายของสินค้าและเป็นปัญหาต่อการแข่งขันในระดับภูมิภาคต่อไป อีกทั้งยังไม่มีพืชชนิดใดที่จะมาทดแทนกระบวนการต่างๆแทนข้าวโพดได้เลย นั่นจึงเป็นปัญหาต่อเนื่องที่สำคัญมาก

ยังครับ ยังไม่จบปัญหาเท่านี้หากติดตามสถานการณ์ช่วงหลังๆที่ผ่านมาเราจะพบว่ามีปัญหาที่สำคัญต่อสุขภาพร่างกายเราด้วยเช่นกัน นั่นคือปัญหาฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนึ่งในต้นตอของฝุ่นควันพิษนั้นมาจากกระบวนการจัดการหลังเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร และ ข้าวโพด คือหนึ่งในพืชเกษตรที่ว่านั่น การต้องเผาตอเพื่อเริ่มทำการปลูกในรอบใหม่นี่เองที่ส่งผลให้เป็นควันพิษเพราะด้วยจำนวนแปลงเพาะปลูกที่มีมากมาย โดยประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดกว่า 7 ล้านไร่ และอยู่ทางภาคเหนือกว่า 4 ล้านไร่ ซึ่งบางส่วนเป็นพื้นที่สูงและถูกบุกรุกป่า นั่นจึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษดังกล่าว

การใช้ประโยชน์อื่นๆที่ไม่ใช่อาหารมนุษย์และอาหารสัตว์

กลับมาจากปัญหาหนักๆในย่อหน้าข้างบนแล้วนะครับ มาเข้าสู่การเป็นว่าที่รัฐมนตรีของข้าวโพดกัน ในหัวข้อเรื่องนี้ ผมเขียนไว้ว่า “ข้าวโพด จากกรรมกรสู่รัฐมนตรี” นั่นเป็นทรรศนะของผมเองในการยกระดับข้าวโพดให้ดูเทียบชั้นเจ้ากระทรวงต่างๆ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น หากย้อนกลับไปอ่านเรื่องข้าวโพดตั้งแต่แรกเริ่ม ท่านผู้อ่านจะทึ่งกับผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ได้จากข้าวโพด ท่านจะทึ่งกับปริมาณการผลิต การใช้ข้าวโพดในระดับโลกจนมาถึงในระดับประเทศ แต่นั่นมันยังไม่ใช่ทั้งหมด เรื่องทั้งหมดมันอยู่ที่ “ขยะ” หรือ เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากข้าวโพดนั่นเอง

ขยะจากข้าวโพด หากพูดแบบไม่คิดอะไรมากนอกจากลำต้นและรากมันที่ต้องเข้าสู่กระบวนการหลังเก็บเกี่ยวที่จะต้องคิดหาวิธีกันอย่างยั่งยืนในอนาคตแล้วละก็ ผมกำลังพาท่านผู้อ่านเข้ามาสู่ เปลือก และซังข้าวโพด แน่นอนว่ามันเป็นส่วนจากธรรมชาติ 100% และมันย่อยสลายได้ แต่หากการจะก้าวจากกรรมกรที่มีหน้าที่แค่เป็นอาหารธรรมดาๆแล้ว มาสู่รัฐมนตรีในตำแหน่งใหญ่โต การทิ้งปล่อยให้ย่อยสลายเองคงจะไม่ใช่แนวทางอย่างแน่นอน

อย่างหนึ่งที่เรานำมาใช้กันคือ หมักเป็นปุ๋ย หรือ อาหารสัตว์ หรือไม่เช่นนั้นก็นำซังข้าวโพดมาตากแห้งและบดจนเป็นผง จากนั้นก็นำมาทำผงเรียกว่า ซังข้าวโพดบด(Corn Cob) ซึ่งนำมาทำเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ ทำธูปหอม นำมาทำเป็นวัสดุเพาะเชื้อเห็ด และ ทำเชื้อเพลงอัดแท่ง

แล้วอะไรที่จะทำให้มันทะยานจนไปเป็นรัฐมนตรี

อย่างที่ข้างต้นได้อธิบายไปหลายส่วนไปแล้ว ทั้งการเป็นอาหารคน อาหารสัตว์ รวมไปถึงการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ถูกแปรรูปให้ใช้งานอย่างกว้างขวางทั้งในงานอุตสาหกรรม อาหาร เคมี เป็นพืชที่เรียกได้ว่า ผลผลิตถูกนำไปต่อยอดเป็นสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นหลายเท่าตัว เพียงแค่ตัวอย่างข้างต้นก็เรียกได้ว่า ข้าวโพด ถือเป็นพืชหลักที่ขาดไม่ได้เลยในโลกนี้ และเมื่อมันถูกผลิต แปรรูปออกไปจนเกิดเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มันก็สามารถที่จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างดี ซึ่งวัสดุเพาะเชื้อเห็ด และ ทำเชื้อเพลงอัดแท่ง นี่แหละครับ ที่จะเป็นอีกเหตุผลที่จะนำพาข้าวโพดธรรมดาไปสู่จุดนั้น อย่าลืมนะครับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรก็ไม่ต่างอะไรกับขยะ แต่นี่คือสิ่งที่สามารถทำให้มันต่อยอดออกไปจนเรียกได้ว่า มันไม่ใช่ขยะ อีกต่อไป และบัดนี้ผมจะพาคุณไปรับรู้ข้อมูลที่เป็นจิ๊กซอว์ของส่วนที่เหลือสองส่วนด้วยกัน ฟิ้ววววววว …

วัสดุเพาะเชื้อเห็ด

ทำไมต้องเป็นเห็ด? เพราะปัจจุบันการบริโภคอาหารของเรานั้นเน้นไปที่การบริโภคเพื่อสุขภาพเป็นสำคัญ และเห็ดคือหนึ่งในอาหารสุขภาพที่ดี มีคุณค่า คุณประโยชน์ หาซื้อง่าย มีหลากหลายชนิด สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายแบบ รวมทั้งมีราคาที่เข้าถึงได้ อีกทั้งข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเป็นผู้เพาะเห็ดอยู่ทั้งสิ้น 78 ราย ทั้งนี้ทั้งนั้นมีผู้ประกอบการที่มีทุนจดทะเบียนมากกว่า 1,000,000 บาทถึง 70 รายด้วยกัน ข้อมูลนี้ไม่รวมเกษตรกรรายย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก◘แหล่งเดียวกัน◘ที่ระบุว่า ปี พ.ศ.2562 ประเทศไทยเราเฉพาะภาคการส่งออกผลิตภัณฑ์จากเห็ด มีปริมาณสูงถึงกว่า 7,000 ตัน รวมเป็นมูลค่ากว่า 700,000,000 บาท และมีแนวโน้มคาดการณ์เติบโตสูงขึ้นทุกปี นี่จะเห็นได้ว่า การเติบโตของเห็ดส่งผลให้การผลิตเชื้อเห็ดต้องมีความต้องการในตลาดที่เติบโตตามเช่นเดียวกัน และซังข้าวโพดคือวัสดุที่นิยมนำมาใช้ทำก้อนเชื้อเห็ดหลากหลายชนิดมาก ซึ่งปัจจุบันนิยมนำมาใช้แทนขี้เลื่อยจากไม้ยางพาราที่มีราคาแพงขึ้นมาก นอกจากนี้งานวิจัยจากหลายๆแหล่งยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยเรื่องการผลิตเห็ดนางฟ้าในถุงพลาสติกโดยใช้ซังข้าวโพด โดย เยาวพล ชุมพล ของ สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ในงานโครงการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ “ราชภัฏวิจัยครั้งที่ 4” ได้ทำการทดลองพบว่าให้ผลผลิตที่ไม่ต่างจากการใช้วัสดุเพาะเป็นขี้เลื่อยไม้ยางพารา และให้ผลผลิตที่ดีกว่าในเดือนที่ 2 รวมทั้งมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเพาะเห็ดมากกว่าขี้เลื่อยยางพาราอย่างมีนัยยะสำคัญ นั่นจึงถือว่าท่านว่าที่รัฐมนตรีของเราสอบผ่านการเลื่อนฐานะจากกรรมกรเข้ามาสู่ตำแหน่งในสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้วตอนนี้อาจจะยังเป็นแค่ ส.ส. หน้าใหม่ในสภา แต่ในย่อหน้าถัดไปเค้าจะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้ากระทรวงแล้วครับ

เชื้อเพลิงอัดแท่ง

ทำไมต้องเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง? หากจะบอกว่าพลังงานคือสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศก็คงไม่ผิดเท่าใดนัก และการที่เราจะมีแหล่งพลังงานมาป้อนเข้าสู่ระบบที่พร้อมใช้ทั้งประเทศต้องอาศัยความร่วมมือจากทีมพลังงานอย่างภาคการผลิตไฟฟ้าที่เข้มแข็ง นั่นหมายถึงเราต้องมีแหล่งในการผลิตพลังงานอยู่ในขนาดใหญ่เพื่อรองรับการใช้งานทั้งประเทศได้ เนื่องด้วยคำว่า พลังงาน มันอาจจะดูกว้างไปสักนิด ผมขอตัดภาพมาที่เฉพาะ พลังงานไฟฟ้า เพื่อให้เราสามารถเข้าถึงมันได้ง่าย ในทุกๆวันประเทศไทยเราใช้พลังงานไฟฟ้าเยอะมากเลยครับ ข้อมูลเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 เราใช้ไฟฟ้าไป 13,641 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยหากแยกเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ขึ้นไป ก็ใช้ไฟฟ้าปาเข้าไป 5,793 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง แล้วหล่ะครับ หรือข้อมูลรวมทั้งปี 2561 นั้นเราใช้พลังงานไฟฟ้าไปทั้งสิ้น 187,388.54  ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง เข้าไปแล้ว นั่นหมายถึงเราต้องผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการใช้งานดังกล่าว แล้วเราผลิตมาจากแหล่งใดบ้าง ข้อมูลจากที่เดียวกันระบุว่าทั้งปี พ.ศ.2561 เรามีกำลังผลิตติดตั้ง 43,372.50 เมกกะวัตต์ และผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าออกมาดังตาราง

ข้อมูลการผลิตพลังงานไฟฟ้า ปี พ.ศ.2561 (หน่วย : ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง)

ซึ่งหากดูจากตารางขั้นต้นแล้วจะพบว่าประเทศไทยเราเองนั้นไม่ได้พึ่งพาแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังต้องจัดหาเพิ่มเติมโดยการซื้อมามากถึง 129,862 กิโลวัตต์-ชั่วโมง แสดงว่าความต้องการการใช้กระแสไฟฟ้าภายในประเทศมีมากเกินกว่าที่จะผลิตไหว

แม้เราจะพยายามหาทางออกในการเสริมกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังต้องค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีกสักระยะจนกว่าจะมีมาตรการที่แน่นอนในการรับมือกับสถานการณ์ขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในประเทศแบบทุกวันนี้ หากแต่อย่างใดก็ตามแนวโน้มการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานทดแทนก็เพิ่มขึ้นมาพอสมควร คือจากปี พ.ศ.2558 ที่มีกำลังการผลิตรวม 4.55 เมกะวัตต์ และขยับขึ้นมาเป็น 57.78 เมกะวัตต์ในปี พ.ศ.2561 แม้จะยังไม่สามารถมาตอบโจทย์การผลิตที่สู้กำลังการผลิตจากฝั่งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและพลังน้ำที่มีกำลังการผลิตรวมกันกว่า 7,000 เมกะวัตต์ไม่ได้ก็ตามที แต่อย่างน้อยเหนือสิ่งอื่นใด การใช้พลังงานทดแทนก็ตอบสนองการผลิตโดยอาศัยการผลิตที่อ้างอิงจากแหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้เป็นอย่างดี

เอาหล่ะครับกลับมาที่ว่าที่รัฐมนตรีของเรา แล้วข้าวโพดมีส่วนในเรื่องพลังงานอย่างไร แน่นอนว่าอย่างที่เกริ่นนำไป เราใช้ซังข้าวโพดที่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่พูดง่ายๆว่าคือขยะ นำไปเข้าสู่กระบวนการการผลิตเป็น เชื้อเพลิงอัดแท่ง เพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโรงงานประเภทพลังงานความร้อน และการใช้ซังข้าวโพดนั้นจะตอบโจทย์การผลิตได้ดีแค่ไหน ลองมาดูงานวิจัยชิ้นนี้ครับ

งานวิจัย การผลิตเชื้อเพลิงแข็งอัดแท่งจากซังข้าวโพดด้วยเทคนิคเอ็กซ์ทรูชันฯ เป็นงานวิจัยที่นำเสนอในงานประชุมสัมมนาเชิงวิชาการรูปแบบพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทยครั้งที่ 1 โดย อดิศร ถมยา และ วราคม วงศ์ชัย ของสาขาเทคโนโลยีพลังงานคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ซึ่งในงานวิจัยนี้ได้ผลสรุปออกมาว่า เชื้อเพลิงอัดแท่งจากถ่านซังข้าวโพดโดยใช้แป้งมันเป็นตัวประสานจะให้ค่าพลังงานความร้อนสูงถึง 6,142 cal/g. ซึ่งมีค่าความร้อนสูงกว่ามาตรฐานที่ 5,000 cal/g. ซึ่งเป็นค่าที่ประกาศโดยสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) นั่นเอง

และนั่นเองจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ซังข้าวโพดเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากคุณเดินทางผ่านจังหวัดที่ปลูกข้าวโพดกันอย่างเป็นหน้าเป็นตาเช่น จังหวัดน่าน แพร่ ลำปาง กำแพงเพชร หรือจังหวัดอื่นๆ คุณจะต้องเห็นป้าย จุดรับซื้อซังข้าวโพด เรียงรายกันอย่างมากแน่นอน แม้ปริมาณในการนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าจะไม่ได้เยอะมากอย่างมีนัยยะสำคัญใดใด หากแต่นี่คือจุดที่เรียกได้ว่า ใช้งานข้าวโพดได้ทั้งต้นอย่างแท้จริง ไม่มีส่วนไหนเหลือทิ้งจนเป็นขยะจริงๆได้เลยแน่นอน มันมีคุณค่าและตอบโจทย์กับโลกเราแบบนี้แหละครับ ท่านรัฐมนตรีข้าวโพด

สรุป อีกครั้ง!!

ด้วยสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน จนถึงการคาดการณ์ในอนาคต ข้าวโพด ยังคงเป็นพืชที่มีความต้องการสูงเกินกว่ากำลังการผลิตในปัจจุบันอย่างแน่นอน ความต้องการข้าวโพดทั้งการบริโภค การแปรรูป รวมไปถึงการเป็นอาหารสัตว์ที่แนวโน้มการบริโภคเนื้อสัตว์จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการอาหารสัตว์สูงขึ้นตามมา รวมทั้งการวิจัยพัฒนาต่อยอดการใช้ผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดยังมีอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มการบริโภคผลผลิตทั้งทางตรง ทางอ้อมของข้าวโพดจึงสูงขึ้นตาม ท่ามกลางความต้องการข้าวโพดในตลาดที่ยังคงอยู่ในระดับสูง การจัดการปัญหาต่างๆก็ย่อมต้องถูกบริหารจัดการให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนา ส่งเสริมการเพาะปลูก การแปรรูปต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องของนโยบายการจัดการในแต่ละประเทศนั่นเอง แต่ถึงจุดนี้แล้ว จากข้อมูลต่างๆที่ประจักษ์มานี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยครับ จากกรรมกรข้าวโพด ในวันนั้น บัดนี้ เค้ากลายเป็น ท่านรัฐมนตรีข้าวโพด ไปเสียแล้วละครับ

corn
ภาพโดย vikvarga จาก Pixabay

อ้างอิง
World of corn
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
Bloggang
การผลิตข้าวโพดในประเทศไทยเพื่อการส่งออก
คลังความรู้ดิจิตัล มก.
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่

สามารถสนับสนุนเราได้ทางช่องทางต่อไปนี้

Lightning network (Tippin Me)

LN-tippin-me

Lightning network (Alby)

Bitcoin

BitcoinQR

หรือสนับสนุนผ่านช่องทาง Verified creator เพียงแวะชม หรือให้ทริปเราผ่านเว็บบาวเซอร์ Brave


Scroll to Top