Site icon A Good Many

กำเนิดหน้ากากอนามัย

เคยสงสัยไหมครับว่า หน้ากากอนามัย มีต้นกำเนิดจากที่ไหน ใครเป็นผู้คิดค้นคนแรก และ หน้าตาแรกเริ่มเลยมันเป็นแบบไหน A Good Many จะพาย้อนอดีตไปพบกับ หน้ากากอนามัยชิ้นแรกของโลกกัน แต่ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจถึงที่มาของหน้ากากอนามัยกันก่อน

ปฐมบทหน้ากากอนามัย

หน้ากากอนามัยในสมัยก่อนถูกพัฒนามาหลากหลายรูปแบบแล้วครับก่อนจะมาเป็นรูปแบบดังในปัจจุบันที่เราคุ้นเคยกัน ซึ่งต้นกำเนิดของหน้ากากอนามัยที่เก่าแก่ที่สุด เชื่อว่าเกิดมาจากเหตุการณ์โรคระบาดในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งถือเป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งตั้งแต่มีการบันทึกมา โดยโรคระบาดดังกล่าวนั้นเป็นการระบาดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 ยาวนานมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เลยทีเดียวกว่าจะควบคุมสถานการณ์ต่างๆให้เป็นปกติได้ โดยที่เรารู้จักโรคระบาดนี้กันในชื่อ ความตายสีดำ(Black Death) หรือไทยๆเราเรียกว่า กาฬโรค (Plague) นั่นเองครับ

การระบาดของกาฬโรคนี้แบ่งเป็น 3 ช่วงครับ ได้แก่

ช่วงที่ 1 อยู่ในยุคกลางตอนต้น ในสมัยจักรวรรดิโรมันตะวันออก คริสตวรรษที่ 6 ในระหว่างปี ค.ศ. 541 – 542 เป็นที่รู้จักกันในชื่อ กาฬโรคแห่งจัสติเนียน (Plague of Justinian)

ช่วงที่ 2 คริสตวรรษที่ 14 – 19 เป็นช่วงที่เกิดการระบาดยาวนานมาก เรียกว่า โรคระบาดครั้งใหญ่ (Great Pestilence) หรือ กาฬโรคครั้งใหญ่ (Great Plague)

ช่วงที่ 3 คริสตวรรษที่ 19 – 20 เป็นการระบาดรุนแรงครั้งสุดท้าย

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 นั้นเองเป็นช่วงการระบาดหนักที่สุดช่วงหนึ่ง โดยที่จะมีอาการต่างๆกันอันเกิดจากเชื้อที่เข้ามาทำลายหรือแสดงอาการในต่างอวัยวะเช่น ปอด(peneumonic) ต่อมระบบน้ำเหลือง(bubonic) ระบบเลือด(septicemic) ซึ่งในช่วงนี้แหละครับที่เราได้มีการป้องกันโดยการสวมใส่หน้ากากกันเกิดขึ้น แต่ทว่าจะมีเฉพาะหน่วยแพทย์เฉพาะเท่านั้นที่สวมใส่ประจำเพราะต้องปฏิบัติงานโดยการเผชิญหน้ากับโรคร้ายเป็นปราการด่านแรกเลยนั่นเอง และนี่คือหน้ากากแบบที่ว่ามาครับ

ที่มา Pinterest

หน้ากากแบบนี้มีใช้กันในหมู่แพทย์ที่เรียกว่าแพทย์เฉพาะโรคระบาด หรือ Plague doctor ซึ่งเป็นกลุ่มแพทย์รับจ้างมากกว่าเป็นแพทย์ที่เป็นประจำตามโรงพยาบาล โดยส่วนของหน้ากากนั้นทำมาจากผ้าลินินหนาๆ โดยเย็บเป็นโพรงเพื่อใช้คลุมครอบทั้งศรีษะ และมีส่วนที่ติดกับจมูกนั้นจำทำมาจากหนังสัตว์โดยมีการออกแบบให้ยื่นยาวออกมาก ด้านในบรรจุสำลีอัดจนเต็มกระบอก หรือไม่ก็สารให้ความหอมต่างๆ ส่วนของดวงตาทำมาจากกระจกใส เพื่อให้มองเห็นได้ และในสมัยนั้นมันไม่ได้มาแค่หน้ากากแต่มันมาในรูปแบบของชุดป้องกันที่ครบเครื่อง ทั้งหมวก+หน้ากาก ชุดคลุมทั้งตัว ถุงมือ รองเท้า รวมถึงบางรายมีหมวกปีกสวมเพิ่มอีกต่างหาก สภาพหมอจึงเป็นแบบนี้ครับ

ที่มา Pinterest

หากคุณรู้สึกคุ้นๆ ใช่แล้วครับ ส่วนใหญ่เราจะพบเจ้าชุดพวกนี้ในโลกภาพยนต์ซึ่งมักจะเป็นหนังแนวสยองขวัญ ผีห่าซาตาน อะไรแบบนั้นและภาพด้านล่างนี่คือรูปแบบของชุดที่นิยมดัดแปลงนำมาใช้ในภาพยนต์แนวนี้ ดูแล้วมันน่ากลัวจริงๆนั่นแหละ บรึ๊ยส์!!!!

ที่มา Etsy

ซึ่งรูปแบบของชุดดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการป้องกันในระดับสูงสุดเลยก็ว่าได้ในสมัยนั้น เพราะนอกจากจะเป็นการปกป้องทั้งตัวแล้ว ยังมีการใส่รูปแบบการป้องกันทุกส่วนที่เรียกได้ว่า แม้แต่คนปกติหากใส่ชุดนี้ก็พร้อมจะขาดอากาศหายใจตายได้เลยทันที แต่ชุดแบบนี้มันไม่ได้ป้องกันโรคระบาดที่ว่าเลยหน่ะสิครับ นั่นเป็นเพราะเหตุผลหลักๆสองอย่างนั่นก็คือ

อย่างแรกเลย นั่นเป็นเพราะกาฬโรคนั้น ภายหลังในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้นได้มีแพทย์ชื่อ Alexandre Emile Jean Yersin แพทย์ชาวฝรั่งเศส ได้ค้นพบว่าสาเหตุในการติดเชื้อนั้นเกิดมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เยอร์ซิเนีย เปสติส (Yersinia pestis) โดยมีสัตว์ฟันแทะและหมัดเป็นพาหะนำโรค ซึ่งการระบาดนั้นสามารถแพร่ในอากาศได้ ผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรง หรือปนเปื้อนในอาหารหรือวัสดุอุปกรณ์ต่างๆได้ ดังนั้นการที่มีชุดป้องกันครบเครื่องเพียงใด หากเพียงแต่ป้องกันด้านอื่นจนไม่ได้ป้องกันด้านที่เหลือก็อาจจะก่อให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มเติมได้นั่นเอง

อย่างที่สอง หมอโรคระบาดหรือ Plague doctor นี้ส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นแพทย์จริงๆ มักเป็นคนรับจ้างเพื่อทำหน้าที่เผชิญหน้ากับโรคระบาดโดยการจ่ายยาแทนแพทย์ ดูแลรักษาแทนแพทย์จริงๆ ซึ่งบางรายอาจไม่มีความรู้เกี่ยวกับการรักษา หรือเชื้อโรคที่เผชิญหน้าอยู่เลยด้วยซ้ำ นั่นจึงทำให้การควบคุม รักษาไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยประมาณการตั้งแต่เกิดโรคระบาดนี้ (กาฬโรค : Black Death) มีประชากรทั่วโลกราว 200 ล้านคนที่เสียชีวิต หรือนับเป็นประชากรทั้งโลกราว 1 ใน 3 เลยทีเดียวที่ต้องเสียชีวิตไป หากเป็นที่ประเทศไทย ในพงศาวดารอยุธยา ฉบับวันวลิต ก็ระบุว่าตรงกับช่วงก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.1893 หรือช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ที่มีการระบาดรุนแรงและยาวนานทั่วโลก ในช่วงที่ 2 ที่เรียกว่า โรคระบาดครั้งใหญ่ (Great Pestilence) หรือ กาฬโรคครั้งใหญ่ (Great Plague) โดยประเทศไทยสมัยอยุธยานั้นก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า โรคห่า นั่นเองครับ

การพัฒนาการป้องกันทางการแพทย์

ต่อมาหลังจากนั้นโลกของเราก็เผชิญกับโรคระบาดมากมายที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย แต่ที่ถือเป็นการพัฒนารูปแบบการป้องกันทางการแพทย์ โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยที่เรากำลังกล่าวถึงนั้นต้องเป็นเหตุการณ์ โรคระบาดแมนจูเรีย (Manchurian Plague) โดยกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ.1910 แถบบริเวณรอยต่อของประเทศจีน รัสเซีย ญี่ปุ่น

ที่มา Manchurian plague

ซึ่งโรคระบาดดังกล่าวนั้นช่วงแรกคาดว่าเป็นการติดเชื้อของโรคปอดอักเสบอย่างรุนแรง โดยมีลักษณะอาการ เป็นไข้ ไอ เหนื่อยหอบ โดยคาดการณ์ว่าอาจเกิดจากการแพร่เชื้อโรคระบาดจากสัตว์พาหะมาสู่คนได้แก่ตัว มาร์มอต(Tarbagan marmot) ซึ่งแถบบริเวณนั้นมีการนิยมนำขนมาร์มอตมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ต่อมาเกิดโรคระบาดหนักกระจายเป็นวงกว้างโดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 100% หมายความว่าเป็นแล้วไม่หาย ตายอย่างเดียวนั่นเอง

นายแพทย์ Wu Lien-teh

ต่อมานายแพทย์ Wu Lien-teh แพทย์ผู้เชี่ยวชาญชาวมาเลเซีย เชื้อสายจีน (ซึ่งเป็นคนจีนคนแรกที่ได้ศึกษาในมหาวิทยาลับเคมบริดจ์ อังกฤษ) ได้ทำการศึกษาและระบุว่าเกิดจากเชื้อกาฬโรคปอด(Pneumonic plague) และเกิดการแพร่กระจายจากคนสู่คนโดยการแพร่กระจายเป็นละอองฝอยในวงกว้างทางอากาศ(Airborne transmission) ทำให้เกิดกระแสความตื่นตัวทางการแพทย์ที่ใหม่มากในการแพร่ระบาดในรูปแบบนี้ นั่นจึงเป็นที่มาของการคิดค้นการป้องกันแบบใหม่ขึ้นมานั่นก็คือ อุปกรณ์การป้องกันการติดเชื้อที่แพร่กระจายทางอากาศ เป็นหน้ากากอนามัยป้องกันโรคระบาด(Anti-plaque mask)

หน้ากากอนามัยป้องกันโรคระบาด ที่มา www.researchgate.net

หน้ากากอนามัยป้องกันโรคระบาดในสมัยนั้นใช้ผ้าฝ้ายทับซ้อนกันให้มีขนาดพอเหมาะที่จะปิดปากและจมูกได้ และใช้ผ้ากอซพันส่วนหน้าพาดทับมาทางด้านหลังอ้อมรูปหู คล้ายเป็นส่วนยึดหน้ากากไว้กับใบหน้า หน้ากากลักษณะนี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในหมู่แพทย์ที่ต้องใกล้ชิดผู้ป่วย นอกจากนี้ยังถูกแนะนำให้ใช้กับผู้ป่วย ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย และผู้ที่ต้องการป้องกันตนเองด้วย จึงทำให้เกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาในระยะหลังๆ

นอกจากหน้ากากอนามัยดังกล่าวแล้ว วิกฤติโรคระบาดในครั้งนั้นยังทำให้เกิดการใช้งานชุดป้องกันส่วนบุคคลหรือที่เรียกว่าชุด PPE (PPE : Personal Protective Equipment) เป็นครั้งแรกอีกด้วยเป็นการป้องกันสำหรับผู้ที่ต้องใกล้ชิดผู้ป่วยให้มีความปลอดภัยต่อการติดเชื้อ ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ป้องกันการสัมผัสชุดสวมใส่และติดออกมาจากส่วนที่มีเชื้อโรค อีกทั้งยังเกิดมาตรการการกักกันโรคแบบใหม่ ที่จำกัดการเดินทาง การควบคุมเขตการกักันโรคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงถือได้ว่ามนุษย์เราเรียนรู้ และตอบสนองที่จะพัฒนาการใช้ชีวิต และปรับตัวไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเพียงใด แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ส่งผลให้มีประชาชน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ต้องล้มตายไปมากกว่า 60,000 คนด้วยกัน ถือเป็นโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตที่เยอะเป็นอันดับต้นๆของรายการเลยทีเดียว

เอาหล่ะครับเดี๋ยวบทความหน้าเรามาตามกันต่อเกี่ยวกับเรื่องราวของหน้ากากอนามัยก่อนจะมีรูปแบบอย่างในปัจจุบันนี้จะเป็นอย่างไรโปรดรอติดตามในบทความต่อไป หน้ากากอนามัยมีแบบไหนบ้าง 

อ้างอิง
ชมรมมัคคุเทศก์อาชีพภาษาอังกฤษ
แนวหน้า
WikiPedia – Plague Doctor
WHO – คําแนะนําการสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์
กาฬโรคปอดในจีน
กำเนิดหน้ากากป้องกันโรคระบาดฯ-ศิลปวัฒนธรรม
Manchurian plague

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่

สามารถสนับสนุนเราได้ทางช่องทางต่อไปนี้

Lightning network (Tippin Me)

Lightning network (Alby)

Bitcoin

หรือสนับสนุนผ่านช่องทาง Verified creator เพียงแวะชม หรือให้ทริปเราผ่านเว็บบาวเซอร์ Brave


Exit mobile version