Site icon A Good Many

“จะ ภะ กะ สะ” คาถาสั้นๆ ที่น่าฉงน

หากใครนิยมเรื่องราวลี้ลับ หรือเรื่องราวพวกคาถาอาคมต่างๆ ต้องเคยได้ยินบทคาถาสั้นๆ ที่ท่องว่า “จะ ภะ กะ สะ” ผ่านหูมาอย่างแน่นอน หากจะสืบย้อนกลับไปถึงที่มาของคาถาเหล่านี้ ก็ยังไม่รู้ประวัติความเป็นมาที่แน่นอน รู้เพียงแต่ว่าเรื่องราวต่างๆถูกถ่ายทอดบอกเล่าผ่านหลากหลายบุคคลด้วยกัน บางคนก็เรียกคาถาเหล่านี้ว่า หัวใจกาสลัก หรือบางคนก็เรียก หัวใจธาตุกรณีย์ หรือ หัวใจพระกรณีย์ก็มี ดังนั้นที่มาที่ไปย่อมต้องแตกต่างกันแน่นอน แต่ที่คล้ายๆกันจากการค้นคว้ามาพบว่า ตัวย่อคาถาทั้ง 4 คำนั้นมีที่มาร่วมกันอย่างน่าอัศจรรย์ คือ ย่อมาจากตัวคำแรกของคาถาหลักที่กล่าวว่า

จช ทุชฺชนสํสคฺคํ
ภช ปณฺฑิตเสวนํ
กร ปุญญมโหรตฺตํ
สร นิจฺจมนิจฺจตํ

ขอขยายความตรงส่วนนี้หน่อยครับ เพราะคำกล่าวคาถาหลักนั้นเป็นคำบาลี

บรรทัดแรก จะ มาจากคำบาลีว่า จช ทุชฺชนสํสคฺคํ ถอดเป็นคำอ่านบาลีแบบไทยได้ จะชะ ทุชชะนัสสัคคัง แปลว่า ให้พึงเว้นจากการคบคนชั่ว

บรรทัดต่อมา ภะ มาจากคำบาลีว่า ภช ปณฺฑิตเสวนํ ถอดเป็นคำอ่านบาลีแบบไทยได้ ภะชะ ปัณฑิตเสวะนัง แปลว่า ให้พึงคบหาสมาคมกับคนดี

บรรทัดต่อมา กะ มาจากคำบาลีว่า กร ปุญญมโหรตฺตํ ถอดเป็นคำอ่านบาลีแบบไทยได้ กะระ ปุญญะมะโหรัตตัง แปลว่า ให้พึงทำแต่ความดีทั้งกลางวันและกลางคืน

บรรทัดสุดท้าย สะ มาจากคำบาลีว่า สร นิจฺจมนิจฺจตํ ถอดเป็นคำอ่านบาลีแบบไทยได้ สะระ นิจจะมะนิจจะตัง แปลว่า ให้ระลึกถึงความไม่เที่ยงเป็นนิจ

เมื่อรวมกัน คำว่า “จะ ภะ กะ สะ” ก็จะมีความหมายว่า ให้เว้นจากการคบคนชั่ว คบหาแต่คนดี หมั่นทำบุญทำดีตลอดเวลา และระลีกถึงความไม่เที่ยงเป็นนิจ

ดังคำที่ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนในคอลัมน์ ซอยสวนพลู ที่ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ว่าคาถานี้สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ถ่ายทอดมาให้ตนเองท่องจำภาวนาตอนตื่นนอนและก่อนเข้านอน มีความตอนหนึ่งในคอลัมน์นั้นกล่าวว่า

ผมก็นั่งท่องอยู่หน้าเตียงไข้สมเด็จจนจำได้ แล้วก้ถามท่านว่า
“มีอะไรต่ออีกไหม ?”
“เท่านั้นแหละว่ะ” สมเด็จท่านว่า
“คาถาอะไรกัน มีแค่สี่พยางค์” ผมถาม
“ท่านเรียกว่า คาถากาสลักว่ะ กันได้มาจากหลวงตาบ้านนอกองค์หนึ่ง ท่านแก่พรรษากว่ากันมาก ป่านนี้ท่านคงตายไปแล้ว”
“คาถากาสลัก” ผมรำพึง “แปลว่าอะไร ?”
“กันก็ไม่รู้เหมือนกัน” สมเด็จตอบหน้าตาเฉย
“แล้วกัน !” ผมร้อง “แล้วดียังไง ?”
“ดีมาก” สมเด็จรับสั่ง
“ท่องให้จำได้ แล้วท่องเสมอ ๆ ทั้งเช้าเย็นกลางวันและก่อนนอน เพื่อเตือนใจตัวเองให้เป็นคนดี เป็นคนดีเสียอย่างแล้วจะไม่มีใครเขาคิดฆ่าคิดฟัน ไม่ต้องวิ่งหนี ไม่ต้องหลบหรอก คนที่ต้องหลบต้องหนีนั้นมีแต่คนชั่วเท่านั้น ถ้าเราดีแล้วสู้หน้าคนได้เสมอ”

ข้อความตอนหนึ่งในคอลัมน์ ซอยสวนพลู ของ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)

จากข้างต้น นั่นคือความหมายของคาถาสั้นๆ 4 คำ แต่หากจะกล่าวว่าที่มาของคาถาแท้จริงแล้วเก่าแก่สุดเท่าที่มีการบันทึกก็น่าจะเป็นที่แหล่งโบราณคดีวัดส้มสุก อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ดังในวิดีโอที่แนบมานี้นะครับ

แหล่งจารึกมากที่สุดของไทย โบราณสถานใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ บนที่ราบฝาง I ประวัติศาสตร์นอกตำรา EP. 132 – YouTube

จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีล้านนาที่วัดส้มสุกนี้ มีการพบพระพิมพ์เนื้อชิน ที่มีอักษรธรรมล้านนาจารึกลงที่ฐานพระว่า “จะ ภะ กะ สะ”และนี่คือรูปถ่ายของพระแบบที่กล่าวมาครับ

พระเชียงแสนเดี่ยว จะ ภะ กะ สะ พระล้านนา.คอม เว็บ พระเครื่อง พระบูชา อันดับหนึ่ง ของภาคเหนือ (pralanna.com)

จากข้อมูลวิดีโอของทีมงานประวัติศาสตร์นอกตำรา นั่นหมายถึงมีการพบการจารึกอักษรธรรมล้านนาแบบย่อนี้เมื่อราวๆปี พ.ศ. 2038-2068 ช่วงสมัยกษัตริย์ล้านนาคือพระเมืองแก้ว หลังจากนั่นด้วยความรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาก็มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมรวมไปถึงการเผยแพร่คำคาถาต่างๆไปต่างแดนแว่นแคว้นและรับสืบต่อกันมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน

ที่น่าสนใจคือที่วัดส้มสุกแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีแห่งนี้ถือเป็นโบราณสถานที่พบจารึกมากที่สุดในประเทศไทย คือพบกว่า 2,000 จารึก ในแหล่งเดียวอีกทั้งยังพบอักษรไทยฝักขาม ที่เชื่อว่าพัฒนามาจากอักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช(ช่วงประมาณปี พ.ศ. 1826) เป็นอักษรที่นิยมใช้กันมากในวัฒนธรรมของล้านนาไปจนถึงเขตอีสานโบราณ และทางเชียงตุง สิบสองปันนาอีกด้วย อักษรฝักขามนี้คาดว่ามีขึ้นราวๆปี พ.ศ. 1943 จนถึงราวๆปี พ.ศ. 2124 จึงมีการเริ่มใช้อักษรธรรมล้านนาแทน นั่นหมายถึงแหล่งโบราณคดีนี้เก่าแก่กว่าที่พบพระพิมพ์เนื้อชิน เพราะอักษรฝักขามเป็นอักษรที่นิยมใช้ในหมู่พระภิกษุนิกายลังกาวงศ์เก่านั่นเอง นี่จึงเป็นปริศนาว่าวัดส้มสุกแห่งนี้เป็นวัดที่อยู่มานานและมีการสร้างเสริมจากเดิมจนรุ่งเรืองในสมัยพระเมืองแก้วนี่เอง รูปทรงหมู่อาคารโบราณสถานนั้น ต่างแสดงถึงความมั่งคั่งของผู้สร้าง รวมไปถึงจุดพิเศษต่างๆของพื้นที่ใช้งานที่ไม่เหมือนที่ไหน จนคาดว่าอาจเป็นวัดที่มีกษัตริย์ใช้งานหรือบวชจำพรรษาอยู่ อย่างไรก็ตามยังต้องทำการศึกษาค้นคว้าต่อไป

สุดท้าย ไม่ว่าคาถาดังกล่าวจะมีที่มาจากยุคสมัยไหนอย่างไร แต่ความแท้จริงคือ ความหมายของคาถาดังกล่าวที่แสดงให้เห็นถึงสัจธรรมที่แท้จริงของความดี การทำดี ที่จะทำให้ได้รับผลที่ดีๆตามมานั่นเองครับ

อ้างอิง

แหล่งจารึกมากที่สุดของไทย โบราณสถานใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ บนที่ราบฝาง I ประวัติศาสตร์นอกตำรา EP. 132 – YouTube

คาถาอวยพรปีใหม่ สยามรัฐ (siamrath.co.th)

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่

สามารถสนับสนุนเราได้ทางช่องทางต่อไปนี้

Lightning network (Tippin Me)

Lightning network (Alby)

Bitcoin

หรือสนับสนุนผ่านช่องทาง Verified creator เพียงแวะชม หรือให้ทริปเราผ่านเว็บบาวเซอร์ Brave


Exit mobile version