สรุปเหตุการณ์การค้นพบหลักฐานที่อาจจะบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์

เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2563 ทางวารสาร Nature Astronomy ได้ตีพิมพ์งานวิจัยหนึ่งของทีมนักดาราศาสตร์ซึ่งนำโดย Jane S. Greaves จาก Cardiff University เรื่อง Phosphine gas in the cloud decks of Venus (แก๊สฟอสฟีนในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่ฮือฮามากเพราะอะไรนั้นเรามาเท้าความทำความเข้าใจกันก่อนครับ

ภาพแสดงดาวเคราะห์และดาวเคราะห์แคระในระบบสุริยะ
ภาพแสดงดาวเคราะห์และดาวเคราะห์แคระในระบบสุริยะ

ทำไมต้องดาวศุกร์?

หากจะบอกว่านี่เป็นหนึ่งในดาวเคราะห์ที่ชาวโลกเราหมายปองที่จะครอบครองก็คงจะไม่ผิดอะไรเท่าใดนัก เพราะด้วยความที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลก (0.815 เท่าของมวลโลก) และระยะทางใกล้โลกเราเพียง 45 ล้านกิโลเมตรเท่านั้นเอง จึงทำให้เราเฝ้ามอง ศึกษาสังเกตการณ์ใด้ง่าย แต่ทว่าด้วยสภาพความที่ดาวศุกร์เองอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากกว่าโลก (0.7 AU) ทำให้เกิดภาวะความร้อนที่พื้นผิวดาวสูงถึง 400 ํC ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเรือนกระจก ทำให้สภาพดาวทั้งหมดเป็นดาวแห้งแล้งที่สุด อีกทั้งชั้นบรรยากาศที่มีความหนาแน่นมากกว่าโลกถึง 90 เท่า บรรยากาศของดาวศุกร์ ประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 97% ไนโตรเจน 3.5% ซัลเฟอร์ไดออกไซด์และ อาร์กอน 0.5% มีชั้นเมฆคาร์บอนไดออกไซด์ที่หนาทึบมาก ยังส่งผลให้มนุษย์เราดำรงชีวิตไม่ได้อีกด้วย

ถ้าอยู่ไม่ได้แล้ว ทำไมยังต้องเป็นดาวศุกร์?

ภาพดาวศุกร์จาก ยานมาริเนอร์ 10

หากข้อมูลข้างต้นบ่งบอกแล้วว่ามันทำให้มนุษย์เราอยู่ไม่ได้เลย แล้วทำไมยังค้นคว้าหาอะไรกันอีก นั่นเป็นเพราะนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้หาคำตอบแค่เพียงมนุษย์อยู่ได้อย่างไรไงครับ แต่ทางทีมวิทยาศาสตร์กำลังหาว่าเคยมีสิ่งมีชีวิตอยู่หรือไม่ หรือ กำลังก่อเกิดสิ่งมีชีวิตอยู่หรือไม่ ไปด้วยนั่นเอง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ทีมนักวิจัยใช้กล้องโทรทรรศน์ James Clerk Maxwell Telescope (JCMT) บนยอดเขาโมนาเคอา ในหมู่เกาะฮาวาย ศึกษาสังเกตการณ์จนพบข้อมูลที่น่าสนใจครั้งแรก หลังจากนั้นจึงได้ศึกษาซ้ำโดยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ 45 ตัวของ Atacama Large Millimeter/submillimeter Array (ALMA) ในทะเลทรายของประเทศชิลีอีกครั้งจนยืนยันการพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าตรงกัน

แล้วพบอะไรที่ดาวศุกร์?

ตอบว่าไม่พบอะไรที่ดาวศุกร์ครับ แต่ว่าเราพบสิ่งที่น่าสนใจนั้นที่ชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ โดยทางทีมนักดาราศาสตร์ที่ค้นพบได้ระบุว่าค้นพบ แก๊สฟอสฟีนในชั้นบรรยากาศบนดาวศุกร์

อะไรคือฟอสฟีน?

ฟอสฟีน(Phosphine)

ฟอสฟีน(Phosphine) เป็นสารประกอบที่มีสูตรทางเคมีว่า PH3 ซึ่งเกิดจากสารประกอบระหว่างธาตุฟอสฟอรัสและไฮโดรเจน บนโลกเรานั้นฟอสฟีนอยู่ในสถานะแก๊ส ไม่มีสี ไวไฟ และเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต

ในโลกของเรานั้นฟอสฟีนเกิดมาได้จาก 2 วิธีด้วยกันคือ
1.ผลิตโดยมนุษย์โดยกรรมวิธีทางเคมี
2.เกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากออกซิเจน

ห่างจากโลกตั้งไกล พบฟอสฟีนได้อย่างไร?

ภาพโดย jordygoovaerts0 จาก Pixabay

สำหรับการศึกษาสิ่งใดๆก็ตามที่เราเดินทางไปศึกษาที่หน้างานไม่ถึง ดังในกรณีของการศึกษานี้ที่เราต้องศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์แบบนี้ เราอาศัยการศึกษาองค์ประกอบของสิ่งที่เราพบโดยอาศัยการอ้างอิงจากสเปกตรัมที่วัตถุนั้นปลดปล่อยออกมา ซึ่งสเปกตรัมที่ว่านี้ก็เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าเหมือนกับดีเอ็นเอของวัตถุต่างๆ อันเกิดจากการดูด หรือ คลาย คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาตามช่วงของคลื่นที่สอดคล้องกันกับระดับพลังงานของวัตถุเหล่านั้น เราเรียกการแสดงผลของมันแบบนี้ว่า การเปล่งแสงสเปกตรัมของโมเลกุล เป็นอันแน่นอนว่าการศึกษาดาราศาสตร์แบบนี้ไม่ใช่การใช้กล้องดูดาวแบบออปติกเลนส์ธรรมดาๆแน่นอน เพราะนี่ไม่ใช่แค่การดูแสงที่สะท้อนจากดวงดาวกลับมาสู่กล้องโทรทรรศน์ให้เรามองเห็นได้ง่ายๆ แต่นี่คือ การใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ชื่อบอกอย่างเด็ดขาดเลยครับว่ามี วิทยุ ซึ่งเป็นการส่ง รับ คลื่นเฉพาะในการทำงาน ดังนั้นจึงต้องมีการรับข้อมูลมหาศาลมาแยกแยะข้อมูลเฉพาะที่เราสนใจ หรือ ข้อมูลที่เราต้องการทดสอบ แปลผลมันออกมา และวิเคราะห์ โดยการทำงานนี้ต้องใช้นักวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขาในการสร้างมันขึ้นมา และแน่นอนครับ การที่เราจะบ่งบอกได้ว่ามันคือสเปกตรัมของฟอสฟีน เราต้องรู้ว่า ฟอสฟีนมีสเปกตรัมอย่างไรก่อน และการที่จะรู้ได้นั้น เราจึงต้องอาศัยการอ้างอิงจากระดับสเปกตรัมของฟอสฟีนบนโลกเรานี่เอง

สรุปเราเจอร่องรอยของสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์ใช่ไหม?

จากสองหัวข้อด้านบน เราพบฟอสฟีนจริงๆที่ชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ และฟอสฟีนซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นสารประกอบของธาตุฟอสฟอรัสและไฮโดรเจน ซึ่งในโลกนั้นแหล่งกำเนิดหลักของฟอสฟีนจะเกิดขึ้นจากปฏิกิริยารีดักชันของสารประกอบพวกฟอสเฟต ดังนั้นมันจึงสามารถทำปฏิกิริยากับสารประกอบอื่นได้ง่าย การที่จะพบฟอสฟีนอยู่ในชั้นบรรยากาศได้จึงจำเป็นที่จะต้องมีแหล่งที่ผลิตฟอสฟีนได้เยอะ หรือมากเพียงพอต่อการที่มันจะดำรงอยู่บนชั้นบรรยากาศที่กว้างใหญ่ได้ และมากพอที่จะทำให้เราสามารถที่จะวัดสเปกตรัมของฟอสฟีนบนชั้นบรรยากาศได้อย่างต่อเนื่อง นั่นหมายถึง ต้องมีสิ่งมีชีวิตที่ผลิตฟอสฟีนอย่างแน่นอน? แต่นั้นคือสถานการณ์บนโลก เพราะอย่าลืมว่าแม้เราจะวัดสเปกตรัมของธาตุต่างๆได้อย่างแม่นยำเพียงใด นั่นมันคือการอ้างอิงจากสมมติฐานบนโลกเราเท่านั้นที่เราสามารถทำการทดลองวัดผลมันได้แน่นอน เราจึงอนุมาณสรุปกันว่าการกำเนิดฟอสฟีนบนโลกมีแค่ 2 วิธีดังที่กล่าวมาแล้ว แต่การจะอธิบายสิ่งที่ตาเราไม่เห็น ส่วนประกอบปัจจัยต่างๆ ตัวแปรต่างๆที่เราอาจจะยังไม่ทราบถึงกรรมวิธีบนดาวศุกร์ เราจึงยังสรุปไม่ได้อย่างแน่นอนว่ามันเกิดจากสิ่งมีชีวิตจริงๆหรือไม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทีมวิจัยก็ได้มีการประเมินด้วยกลวิธีตามสถานการณ์ต่างๆตามธรรมชาติแล้วทั้งแสงแดด ฟ้าผ่า ภูเขาไฟระเบิด แล้วก็ตามก็ไม่มีวิธีใดที่จะผลิตฟอสฟีนได้ต่อเนื่องแบบนี้ได้ พูดง่ายๆคือ ณ เวลานี้ที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนไปถึงความรู้ของมนุษยชาติเราไม่สามารถหาความเป็นไปได้จากการสร้างฟอสฟีนด้วยกระบวนการจากสิ่งไม่มีชีวิต นอกจากสมมติฐานว่าเกิดจากสิ่งมีชีวิตเท่านั้น

แล้วสรุปคือเจอสิ่งมีชีวิตจริงๆใช่ไหม? อ่านในย่อหน้าต่อไปครับ

ภาพโดย OpenClipart-Vectors จาก Pixabay

สรุปอีกครั้งต้องทำอย่างไรต่อ?

If no known chemical process can explain PH3 within the upper atmosphere of Venus, then it must be produced by a process not previously considered plausible for Venusian conditions. This could be unknown photochemistry or geochemistry, or possibly life. Information is lacking—as an example, the photochemistry of Venusian cloud droplets is almost completely unknown.

– Discussion / Phosphine gas in the cloud decks of Venus

จากย่อหน้าคำกล่าวอ้างในบทความ แน่นอนครับ พูดง่ายๆคือ มันเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น เพราะ ความที่เราได้มีการค้นพบฟอสฟีนในปริมาณที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยกลไกตามธรรมชาติ ทำให้เราต้องพิจารณาทฤษฎีการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์อีกครั้งหนึ่ง อย่าลืมนะครับ ถึงแม้จะระบุว่ามันมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนชั้นบรรยากาศบนดาวศุกร์ได้แต่การที่จะต้องเผชิญกับอากาศที่มีพิษอย่างกรดกำมะถันนั้น เราพบว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆบนโลกเราที่สามารถมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นได้เลย นั่นหมายถึง มันอาจเป็นสิ่งมีชีวิตจริงๆที่มีความแตกต่างจากที่โลกเรารู้จัก หรือไม่เช่นนั้น อาจเกิดกลไกอะไรบางอย่าง หรือกระบวนการทางเคมีบางอย่างที่เรายังไม่สามารถระบุได้ ที่ทำให้เกิดฟอสฟีนในปริมาณที่ต่อเนื่องเช่นนั้น ซึ่งเราต้องคอยติดตามทีมนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ในการค้นหาคำตอบต่อไป สรุป ใน สรุปอีกครั้ง

  1. การค้นพบนี้ยังยืนยันถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตในชั้นบรรยากาศบนดาวศุกร์ไม่ได้ 100%
  2. ยังไม่สามารถอธิบายของแหล่งที่เกิดฟอสฟีนบนชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ได้
  3. ต้องหาวิธีในการหาฟอสฟีนในแหล่งอื่นๆของดาวศุกร์อีกเพื่อยืนยันว่าแหล่งกำเนิดมาจากบริเวณดาวศุกร์เอง
  4. หากว่าเกิดจากสิ่งมีชีวิตในชั้นบรรยากาศจริง มันจะต่างจากที่โลกเราเคยรู้จักอย่างแน่นอน

ครับสำหรับบทความนี้ก็จบลงด้วยความสงสัยที่ยังรอคำตอบเพื่อหาคำตอบที่แท้จริงอยู่ อย่างไรก็ตามต้องคอยติดตามความคืบหน้าของการหาสิ่งที่สงสัยของเหล่านักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์กลุ่มนี้ต่อไป เพราะนี่ไม่เป็นเพียงเรื่องที่น่าตื่นเต้นเท่านั้น แต่มันหมายถึงความก้าวหน้าในการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีของมนุษย์จะต้องยิ่งพัฒนายิ่งๆขึ้นไปเพื่อตอบสนองความต้องการการอยากรู้อยากเห็นของเราต่อไป ลองคิดดูสิครับ งมเข็มในมหาสมุทรว่ายากแล้ว นี่หาโมเลกุลในอวกาศเวิ้งว้างอันไกลโพ้นกันเลยทีเดียว มันต้องเป็นอะไรที่เกินจะบรรยายอย่างแน่นอน

ภาพโดย Pete Linforth จาก Pixabay

อ้างอิง

https://www.nature.com/articles/s41550-020-1174-4
https://en.wikipedia.org/wiki/Phosphine
ระบบสุริยะ Wikipedia
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่

สามารถสนับสนุนเราได้ทางช่องทางต่อไปนี้

Lightning network (Tippin Me)

LN-tippin-me

Lightning network (Alby)

Bitcoin

BitcoinQR

หรือสนับสนุนผ่านช่องทาง Verified creator เพียงแวะชม หรือให้ทริปเราผ่านเว็บบาวเซอร์ Brave


Scroll to Top