เรื่องของดาวเทียม

หนึ่งในเทคโนโลยีที่อยู่คู่การใช้ชีวิตของมนุษย์เรามานาน แต่เราไม่เคยสังเกต หรือตั้งข้อสงสัยอะไรกับมันมากพอเลยนั่นก็คือ ดาวเทียม เพราะอะไรนะหรอครับ นั่นอาจเป็นเพราะว่าเราไม่รู้ว่ามันทำงานอย่างไร อาจเป็นเพราะเราไม่เคยสังเกตเห็นมันบนท้องฟ้า หรือบางทีเราอาจกำลังใช้ประโยชน์บางอย่างจากมันอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้ วันนี้ A Good Many จึงจะมาพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับเทคโนโลยีดาวเทียมกันครับ

ดาวเทียมคืออะไร

satellite

ดาวเทียม ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง “วัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นเลียนแบบดาวบริวารของดาวเคราะห์ เพื่อให้โคจรรอบโลกหรือรอบเทห์ฟากฟ้าอื่น มีอุปกรณ์สําหรับเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอวกาศและถ่ายทอดข้อมูลนั้นมายังโลก” จะเห็นได้ว่าคำจำกัดความสั้นๆ ของดาวเทียมที่สำคัญคือ “วัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นเลียนแบบดาวบริวารของดาวเคราะห์เพื่อให้โคจรรอบโลกหรือรอบเทห์ฟากฟ้าอื่น” แปลง่ายๆไปอีก มันคือดาว(ทำ)เทียม นั่นเองครับ แล้วดาวเทียมนั้นมีที่มาอย่างไร ลองไปอ่านในย่อหน้าถัดไปเลยครับ

ประวัติการกำเนิดดาวเทียม

รูปภาพจำลองดาวเทียม Sputnik-1

ดาวเทียมดวงแรกของโลกถูกสร้างโดยชาติมหาอำนาจในสมัยนั้นนั่นคือ สหภาพโซเวียต ในชื่อ สปุตนิก-1 (Sputnik-1 : Спутник-1) ซึ่งถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจทางด้านการตรวจสอบการแผ่รังสีของชั้นบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟีย โดยถูกส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดอาร์-7 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2500 ที่สถานีปล่อยอวกาศยานไบโคนูร์คอสโมโดรม บริเวณประเทศคาซัคสถานในปัจจุบัน เชื่อหรือไม่ว่าขนาดของดาวเทียมสปุตนิก-1 นั้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 58 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเพียง 84 กิโลกรัมเท่านั้นเอง ครั้งแรกที่พูดถึงดาวเทียมนึกว่าจะใหญ่โตมโหฬารนะครับ เจ้าสปุตนิก-1 นี่ทำผิดคาดไปไกลเลย แต่จริงๆแล้วดาวเทียมก็มีหลากหลายขนาด และหลากหลายรูปทรงมาก แล้วแต่รูปแบบการทำงานหรือภารกิจในการทำงานของแต่ละดวงครับ

ประเภทดาวเทียม

อย่างที่เกริ่นไปในช่วงแรกว่าดาวเทียมนั้นมันมีหลากหลายขนาด / รูปทรง ก็แล้วแต่ภารกิจที่ถูกออกแบบมาให้มันทำงานนั่นเอง ดังนั้นหากดาวเทียมที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นต่างก็มีจุดประสงค์ในการสร้างและพัฒนามาแตกต่างกัน แล้วเราจะแบ่งประเภทมันอย่างไรกัน ถ้าไม่รู้จะแบ่งแบบไหน ก็แบ่งมันไปทุกประเภทเลยสิคะ 555 มาเริ่ม!!!

การแบ่งประเภทตามวงโคจรของดาวเทียม

รูปแนววงโคจรประเภทต่างๆ
วงโคจรระยะต่ำ (Low Earth Orbit : LEO)

จะมีความสูงจากพื้นโลกไม่เกิน 1,000 กิโลเมตร เหมาะสำหรับการถ่ายภาพรายละเอียดสูงเพราะอยู่ในระยะใกล้ แต่ด้วยความที่ใกล้โลกมาก ก็ย่อมมีอัตราความเร็วการหมุนรอบโลกที่เร็วมากเช่นกัน คือ มันจะมีความเร็วมากกว่าดาวเทียมประเภทอื่น และส่วนใหญ่มักจะใช้วงโคจรขั้วโลก (Polar Orbit) คือการที่ดาวเทียมโคจรในแนวเหนือ-ใต้ ในขณะที่โลกหมุนรอบตัวเอง ทำให้ดาวเทียมเคลื่อนที่ผ่านเกือบทุกส่วนของพื้นผิวโลกได้

วงโคจรระยะปานกลาง (Medium Earth Orbit : MEO)

จะมีความสูงอยู่ที่ระยะความสูงตั้งแต่ 1,000 กิโลเมตร ไปจนถึง 35,000 กิโลเมตร ดาวเทียมที่มีวงโคจรระยะปานกลางส่วนมากเป็นดาวเทียมนำร่องเพราะครอบคลุมพื้นที่ได้ดีกว่าดาวเทียมในวงโคจรระยะต่ำ และความเร็วในการเคลื่อนที่ในระยะพอเหมาะ หากแต่ต้องใช้จำนวนหลายดวงขึ้นจึงจะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการ รับ-ส่ง ข้อมูลที่ดีขึ้น

วงโคจรประจำที่ (Geosynchronous Earth Orbit : GEO)

หรือที่เรียกกันว่า ดาวเทียมค้างฟ้า เพราะดาวเทียมจะถูกตั้งให้อยู่ในระนาบเส้นศูนย์สูตร หรือใกล้เคียงระนาบเส้นศูนย์สูตร < 1 หรือ > 1 องศา มองดูมันจะเป็นทรงแกว่งๆตามแนวแกนโลก โดยจะเรียกการโคจรแบบนี้ว่าวงโคจรศูนย์สูตร(Equatorial Orbit) และดาวเทียมชนิดนี้จะหมุนรอบโลกด้วยความเร็วเชิงมุมเท่ากับโลกหมุนรอบตัวเอง จึงทำให้ดูเหมือนว่าดาวเทียมลอยนิ่งอยู่เหนือพื้นผิวโลกในตำแหน่งเดิมอยู่ตลอดเวลา โดยดาวเทียมประเภทนี้จะมีความสูงจากพื้นโลกประมาณ 35,786 กิโลเมตร ด้วยความสูงที่วงโคจรอยู่ห่างไกลจากโลกมาก จึงนิยมนำมาเป็นดาวเทียมถ่ายภาพพื้นโลก เฝ้าสังเกตการณ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งทำดาวเทียมสื่อสารข้ามทวีป ซึ่งปัจจุบันนี้ถือว่ามีจำนวนหนาแน่นมากและกำลังเป็นปัญหาในการจัดการวงโคจรดาวเทียมดวงอื่นๆในอนาคตอีกด้วย

วงโคจรรูปวงรี (Highly Elliptical Orbit : HEO)

เป็นดาวเทียมที่มีความเร็วในวงโคจรไม่คงที่ เมื่ออยู่ใกล้โลกดาวเทียมก็จะเคลื่อนที่เร็วมาก และเคลื่อนที่ช้าลงเมื่อออกห่างจากโลก ส่วนมากเป็นดาวเทียมที่ปฏิบัติงานด้านวิทยาศาสตร์ หรือไม่ก็พวกดาวเทียมจารกรรม ที่สามารถปรับวงโคจรผิวโลกได้ ล้ำๆไปเลย

การแบ่งประเภทตามวัตถุประสงค์การใช้งาน

Weather satellite

โดยหลักๆ หากแบ่งตามประเภทของวัตถุประสงค์ในการใช้งานก็จะมีดังต่อไปนี้

ดาวเทียมสื่อสาร (Communication Satellite)

เป็นดาวเทียมที่ต้องทำงานตลอดเวลา เพราะการสื่อสารนั่นไม่มีวันหลับ มันใช้รองรับการสื่อสารโดยใช้คลื่นความถี่ย่านไมโครเวฟ และส่วนใหญ่เป็นดาวเทียมที่อยู่ในวงโคจรแบบประจำที่เพราะมีระยะการครอบคลุมพื้นโลกได้กว้างกว่า แต่ปัจจุบันก็เริ่มมีการใช้ดาวเทียมในวงโคจรระยะต่ำบ้างแล้วอย่างดาวเทียม Starlink ของบริษัท SpaceX ที่มีเจ้าของเป็นชายที่ชื่อ Elom musk มหาเศรษฐีที่ขยับตัวไปทางไหนก็เขย่าโลกทางนั้น โดยดาวเทียมแบบนี้จำเป็นต้องใช้จำนวนหลายดวงมากเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ให้กว้างขวางและเพื่อให้ระบบเครือข่ายมีความเสถียรมากขึ้นนั่นเอง โปรเจคอย่าง Starlink ตั้งเป้าว่าจะต้องส่งดาวเทียมประจำการถึง 12,000 ดวง!!! ถึงจะให้บริการได้ครอบคลุมทั่วโลก โดยที่ปัจจุบันขณะที่เขียนบทความนี้(26/2/2565) มีการส่งดาวเทียม Starlink ขึ้นประจำการแล้วกว่า 2,000 ดวง

ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร (Earth Observation Satellite)

ชื่อประเภทก็บอกเลยว่าสำรวจทรัพยากร แต่นอกจากนั้นมันยังต้องจัดทำแผนที่ได้อีกด้วย แน่นอนว่าดาวเทียมประเภทนี้จะต้องมีกล้อง และอุปกรณ์ไฮเทคจำนวนมากติดตัวไปด้วย ออฟชั่นครบครัน เพราะการทำงานเฉพาะทางแบบนี้ย่อมต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และแน่นอนว่าหากจะต้องใช้งานดาวเทียมประเภทนี้มันก็มักจะอยู่ในวงโคจรระยะต่ำเพราะต้องการความละเอียด แม่นยำที่สูงมากๆนั่นเอง

ดาวเทียมนำร่อง (Navigation Satellite)

หากเคยได้ยินชื่อ GPS แน่นอนว่ามันคือดาวเทียมนำร่องใช้ในการบอกตำแหน่งปัจจุบันของเรา และการบอกตำแหน่งที่ว่าต้องครอบคลุมพื้นที่ในระยะที่กว้างพอสมควรมันจึงอยู่ในระยะวงโคจรระดับกลาง ดาวเทียมนำร่องประเภทนี้นอกจากจะมีเทคโนโลยีชั้นสูงในการระบุตำแหน่งแล้ว บางชนิดมักจะมีเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนตัวเอง เพื่อปรับระนาบตัวเองในยามที่แม่เหล็กโลกมีการแกว่งตัวอีกด้วย

ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา (Meteorological Satellite)

ดาวเทียมที่มีประโยชน์ต่อการพยากรณ์อากาศชนิดนี้มักจะมีวงโคจรอยู่ในระยะต่ำ และอยู่ในวงโคจรคงที่ เพื่อใช้ข้อมูลจากทั้งสองส่วนมาวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งดาวเทียมชนิดนี้จะมีอุปกรณ์ในการรับสัญญาณเรดาห์ และอินฟาเรดโดยใช้หลักการวัดการแผ่รังสี (Emission) ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า พูดง่ายๆว่าดูข้อมูลจากเมฆนั่นแหละ จากนั้นจะนำข้อมูลส่งลงไปประมวลผลยังศูนย์ข้อมูลยังพื้นโลกเพื่อทำการคาดการณ์ พยากรณ์สภาพอากาศต่อไป ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาดวงแรกของโลกได้ถูกยิงขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2503 มีชื่อว่า TIROS – 1 (Television and Infrared Observational Satellite) ซึ่งเป็นของประเทศสหรัฐอเมริกานั่นเอง

ดาวเทียมเพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ (Scientific and Research Satellite)

เป็นดาวเทียมที่ใช้ในงานเฉพาะทางเลยโดยส่วนใหญ่ก็กระจายตามวงโคจรระยะต่างๆ เพื่อศึกษาสิ่งต่างๆตามการออกแบบมานั่นแหละครับ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงดาวเทียมที่เดินทางไปในอวกาศและดาวดวงอื่นเพื่อการสำรวจอีกด้วยนะ ดาวเทียมพวกนี้จำเป็นจะต้องมีเซนเซอร์ที่ออกแบบมาเฉพาะงาน และต้องมีระบบการส่ง-รับข้อมูลที่ดีมากๆอีกด้วย

จริงๆมันยังมีการแบ่งประเภทในอีกหลากหลายรูปแบบอีกนะ แต่เอาคร่าวๆเท่านี้ก็พอ เพราะส่วนใหญ่หากเราจะพูดถึงดาวเทียมเราจะระบุแค่ว่ามันอยู่ในวงโคจรระดับไหน และมันทำงานอะไรเท่านั้นเอง ดังนั้นข้อมูลประเภทดาวเทียมเท่านี้ก็เพียงพอแล้วหล่ะครับ

การประยุกต์ใช้ดาวเทียม

พอพูดถึงเรื่องดาวเทียมแล้วการใช้ประโยชน์จากมันนี่แหละครับ คือส่วนที่สำคัญที่เราได้ประโยชน์จากมันที่สุด หากแต่บางครั้งเราไม่รู้นี่สิว่าเรากำลังใช้มันจากดาวเทียมอยู่ แล้วมันมีอะไรบ้างที่เราคิดไม่ถึง ไปดูกัน

การหาตำแหน่งบนพื้นโลก

หากใครเคยใช้โปรแกรมนำทางในโทรศัพท์มือถือ หรือในรถยนต์ บอกตำแหน่งร้านค้า ส่งโลเคชั่นในไลน์ เฟสบุ๊ค คุณอาจกำลังใช้ดาวเทียมอยู่ก็เป็นได้ โดยการใช้ดาวเทียมนำร่องชื่อดังอย่าง GPS (USA) มี 31 ดวง | GLONASS(Russia) มี 24 ดวง | GALILEO(Europe) มี 30 ดวง | BEIDOU(China) มี 35 ดวง | QZSS (Japan) มี 5 ดวง ซึ่งการใช้งานมันก็คือการหาระยะห่างระหว่างจุดที่เราอยู่กับดาวเทียมดวงอื่นๆที่อยู่ต่างระยะกัน เมื่อนำมาคำนวณหาจุดตัดก็จะได้ระยะที่เราอยู่อย่างแม่นยำเลยทีเดียว

GPS satellite position calculations

การสื่อสาร

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสื่อสารนั้นจำเป็นต้องพึ่งพาเจ้าดาวเทียมอยู่บ่อยครั้ง เพราะการติดต่อสื่อสารคือกิจกรรมหนึ่งที่ไม่มีวันหลับไหลของโลกเรานั่นเอง ดูทีวีผ่านการรับสัญญาณจากจานดาวเทียมก็ใช่ โทรศัพท์มือถือบางจุดอุปกรณ์การรับ-ส่งก็ใช้ผ่านเครือข่ายดาวเทียม หรือจะเป็นโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมเลยที่เป็นการส่งตรงถึงกันจากเครื่องสู่เครื่องเลยโดยไม่ต้องผ่านเสาสัญญาณภาคพื้นดิน รวมไปถึงระบบอินเตอร์เน็ตบางชนิดอีกด้วยนะ

หน่วยงานสำคัญเกี่ยวกับดาวเทียม

หน่วยงานที่กำกับดูแลเกี่ยวกับดาวเทียมนี่หลากหลายมากเลยครับ เพราะเรื่องเกี่ยวกับดาวเทียมนี่มันเกี่ยวพันไปกับเรื่องต่างๆยุบยับไปหมด แต่หลักๆที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องโครงข่ายดาวเทียมของโลกนี่ก็จะเป็น International Frequency Registration Board : IFRB แต่ดาวเทียมมันต้องมีการสื่อสารระหว่างตัวดาวเทียมกับดาวเทียมด้วยกัน หรือระหว่างดาวเทียมกับสถานีบนพื้นโลกด้วยใช่ไหม ดังนั้นหน่วยงานที่กำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องการสื่อสารโทรคมนาคมโลกก็คือ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) หรือที่รู้จักกันเยอะๆคือ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administrator: NASA) หน่วยงานนี้ก็มีการวิจัยและพัฒนาโครงการเกี่ยวกับอวกาศมาอย่างยาวนาน และนอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายหน่วยงานซึ่งเยอะมากเลยครับ คร่าวๆก็พอให้รู้จักเท่านี้ก่อน

Satellite

การติดตั้งดาวเทียม

การปล่อยดาวเทียม

ดาวเทียมนั้นจะถูกส่งขึ้นไปจากโลกโดยยานขนส่งอวกาศ เช่น จรวดอวกาศ โดยจรวดขนส่งอวกาศต้องมีแรงขับที่ต้องสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลก เพื่อที่จะอยู่ในระยะที่จะปล่อยดาวเทียมเข้าสู่ระนาบวงโคจรที่กำหนดได้ ดังนั้นจรวดขนส่งอวกาศต้องเคลื่อนที่อย่างน้อยด้วยความเร็วสูงมากกว่า 7.91 กิโลเมตรต่อวินาที จึงจะสามารถปล่อยดาวเทียมให้เข้าสู่วงโคจรรอบโลกในระดับต่ำที่สุดได้ และหากอยากเพิ่มความสูงของวงโคจรก็ต้องเพิ่มความเร็วของจรวดขนส่งอวกาศเพิ่มเข้าไปอีก แต่หากความเร็วของจรวดขนส่งอวกาศมีมากกว่า 11.2 กิโลเมตรต่อวินาที นั่นก็จะทำให้หลุดจากวงโคจรรอบโลก ทำให้ทั้งจรวดอวกาศและดาวเทียมออกสู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้นไปเลย เพราะความเร็วที่มากกว่า 11.2 กิโลเมตรต่อวินาทีนั้นจะทำให้ไม่ถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดกลับ เราเรียกว่า ความเร็วหลุดพ้น(Escape velocity) เหมือนเราหมุนเหวี่ยงตัวเป็นวงกลมและเอามือจับลูกบอลไว้ แล้วพอเราหมุนตัวแรงกว่าเดิม ลูกบอลจะหลุดออกจากมือแบบนั้นแล สู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น!!!

ความเร็วหลุดพ้น

ดาวเทียมกับประเทศไทย

  • ประเทศไทยเริ่มใช้การสื่อสารโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยใช้การเช่าสัญญาณจากดาวเทียมอินเทลแซท (Intelsat) เพื่อใช้ในการสื่อสารของประเทศไทย มีบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานดูแล และมีสถานีรับสัญญาณอยู่ที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และต่อมาประเทศไทยได้ใช้เช่าสัญญาณจากดาวเทียมต่างประเทศอีกหลายดวงร่วมกัน
  • สำหรับการใช้งานดาวเทียมการสำรวจในประเทศไทย เริ่มแรกนั้นเกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2514 โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการ NASA ERTS-1 ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของโลก ของ NASA ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้การดำเนินงานของโครงการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พูดง่ายๆคือเป็นการร่วมมือกับเค้า แต่เรารับสัญญาณของเขามาแปลผลและตีความด้านการสำรวจเอง ไม่ใช่เป็นดาวเทียมของตัวเองนั่นแหละ
  • ปี พ.ศ. 2522 หลังการร่วมมือกับ NASA ได้มีการตั้ง กองสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติที่ขึ้นมาดูแลโครงการ
  • ต่อมา ปี พ.ศ. 2525 ประเทศไทยได้สร้างสถานีรับสัญญาณดาวเทียมขึ้นที่ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นสถานีรับสัญญาณดาวเทียมแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสถานีรับสัญญาณดาวเทียม LANDSAT ดาวเทียมสำรวจโลกในโครงการตอนนั้นนั่นเอง
  • ต่อมา ปี พ.ศ. 2534 กระทรวงคมนาคมในขณะนั้นได้ให้สัมปทานกิจการเป็นระยะเวลา 30 ปี แก่บริษัทที่ชนะประมูลคือ บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์แอนด์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) และปัจจุบันคือ บริษัท อินทัช จำกัด (มหาชน)) ในการดำเนินงานกิจการดาวเทียมในประเทศไทย ซึ่งต่อมาได้จัดตั้ง บริษัท ชินวัตร แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) และสุดท้ายเปลี่ยนเป็น บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีการสร้างดาวเทียมสื่อสารของไทยดวงแรก คือ ดาวเทียมไทยคม 1 ผลิตโดย บริษัท Hughes Space Aircraft และจัดส่งขึ้นสู่วงโคจรโดย บริษัท Arianespace เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2536
  • // “ไทยคม” (Thaicom) เป็นชื่อพระราชทาน ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน โดยย่อมาจาก Thai Communications ในภาษาอังกฤษ
  • พ.ศ. 2537 ดาวเทียมไทยคม 2 ผลิตโดย บริษัท Hughes Space Aircraft ขึ้นสู่อวกาศโดย บริษัท Arianespace
  • พ.ศ. 2540 ดาวเทียมไทยคม 3 ผลิตโดย บริษัท Thales Alenia Space ขึ้นสู่อวกาศโดย บริษัท Arianespace
  • พ.ศ. 2541 มีการพัฒนา ดาวเทียมไทยพัฒ-1 (Thaipat-1 หรือ TMSAT) ขึ้นมา โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และหน่วยงาน Surrey Satellite Technology Ltd. (SSTL) ของมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ (University of Surrey) ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นโครงการทดสองศึกษาดาวเทียมขนาดเล็กในระยะวงโคจรต่ำ
  • ถัดมารัฐบาลมีนโยบายปฏิรูประบบราชการเพื่อให้การทำงานคล่องตัวขึ้น จึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์การมหาชน ในปี พ.ศ. 2542 และในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 จึงได้มีการรวม กองสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ ฝ่ายประสานงานและส่งเสริมการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ศูนย์ข้อมูลข้อสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โดยควบรวมรวมกันใหม่ในชื่อ “สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)” มีตัวย่อว่า “สทอภ.” และมีชื่อภาษาอังกฤษ “Geo-Informatics and Space Technology Development Agency (Public Organization) – GISTDA
  • พ.ศ. 2546 พัฒนา ดาวเทียมไทยพัฒ-2 (Thaipat-2) เป็นดาวเทียมสื่อสาร และสำรวจพื้นผิวโลกโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครเช่นเดิม
  • พ.ศ. 2547 มีการพัฒนา ดาวเทียมไทยโชต (Thaichote) หรือ ดาวเทียมธีออส (THEOS: Thailand Earth Observation Satellite) เพื่อใช้เป็นดาวเทียมสำรวจข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) สำหรับสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและฝรั่งเศส ด้วยการพัฒนาและกำกับดูแลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กับ บริษัท EADS Astrium ประเทศฝรั่งเศส นับเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสถานีรับสัญญาณดาวเทียมอยู่ที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และสถานีควบคุมดาวเทียม อยู่ที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นดาวเทียมขนาดเล็กในระยะวงโคจรต่ำ
  • พ.ศ. 2548 ดาวเทียมไทยคม 4 ผลิตโดย บริษัท Space Systems/Loral ขึ้นสู่อวกาศโดย บริษัท Arianespace
  • พ.ศ. 2549 ดาวเทียมไทยคม 5 ผลิตโดย บริษัท Alcatel Alenia Space ขึ้นสู่อวกาศโดย บริษัท Arianespace
  • พ.ศ. 2554 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียม ภายใต้ความร่วมมือไทย-จีน ในโครงการดาวเทียม SMMS (Small Multi-Mission Satellite) โดยรับสัญญาณจากดาวเทียม HJ-1A และ HJ-1B เพื่อการวิจัย และการใช้ด้านการเกษตรและการติดตามภัยพิบัติ
  • พ.ศ. 2557 ดาวเทียมไทยคม 6 ผลิตโดย บริษัท Orbital Sciences Corporation, ดาวเทียมไทยคม 7 ผลิตโดย บริษัท Space Systems/Loral ทั้งคู่ขึ้นสู่อวกาศโดย บริษัท SpaceX
  • พ.ศ. 2559 ดาวเทียมไทยคม 8 ผลิตโดย บริษัท Orbital Sciences Corporation ขึ้นสู่อวกาศโดย บริษัท SpaceX
  • พ.ศ. 2560 มีการจัดทำโครงการ THEOS-2 ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศส เช่นเดิมเพื่อทดแทนดาวเทียมไทยโชต ที่กำลังจะหมดอายุลง

สรุปในปัจจุบันคือ ดาวเทียมการสื่อสาร กลุ่มดาวเทียมไทยคม(ไทยคม 4,6,7,8 ที่ยังเหลือทำงานได้อยู่ในปัจจุบัน) มี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ดูแล และ ดาวเทียมการสำรวจ มีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้ดูแลภายใต้การจัดการของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และนี่ก็เป็นพัฒนาการทางด้านดาวเทียมคร่าวๆของประเทศไทยเราครับ

เราจะเห็นได้ว่าการวิจัยและพัฒนาดาวเทียมของไทยในหลายๆรูปแบบนั้นมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศชาติเป็นอย่างมาก เพราะการท่เราจะมีดาวเทียมใช้สักดวงนั้นถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทั้งงบประมาณมหาศาล รวมไปถึงความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย แถมยังต้องใช้องค์ความรู้เทคโนโลยีต่างๆมากมายเพื่อพัฒนาดาวเทียมสักดวงหนึ่งมาใช้เอง แต่หากดาวเทียมต่างๆที่เราทำใช้ได้เองนั้นก็ส่งผลให้ประเทศไทยเรามีความพัฒนาต่อยอดออกไปได้อีกหลากหลายมิติทั้งความรู้ในการวิจัยและพัฒนา ทั้งเรื่องของข้อมูลที่ได้จากการใช้ประโยชน์จากดาวเทียม รวมไปถึงความมั่นคงของยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติด้วย

สุดท้ายนี้ผมก็หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ที่ทำให้หลายๆคนได้เห็นถึงความสำคัญ และรู้จัก ดาวเทียมเพิ่มมากขึ้น นั่นเพราะในอนาคตอันใกล้นี้ดาวเทียมน่าจะมีบทบาทสำคัญอีกมากในด้านต่างๆ ทั้งช่วยในเรื่องการติดต่อสื่อสารให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อลดข้อจำกัดในการสื่อสาร เพื่อการสำรวจค้นคว้าวิจัยในรูปแบบต่างๆ ดาวเทียมนี้ไม่เคยส่งผลเทียมกลับมาให้มนุษย์เลย กลับส่งประโยชน์มากมายมหาศาลมาให้เรา เพียงแต่ . . . มีสิ่งหนึ่งที่เราต้องตระหนักถึงปัญหาในอนาคต นั่นก็คืออ้างอิงข้อมูลจาก Union of Concerned Scientists (UCS) จะพบว่า ณ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 มีดาวเทียมโคจรรอบโลก 6,542 ดวง ซึ่งแบ่งเป็นดาวเทียมที่อยู่ในสถานะใช้งานได้ปกติ 3,372 ดวง และอีก 3,170 ดวง เป็นดาวเทียมที่ปลดระวางกลายเป็นขยะอวกาศ!!!ดาวเทียมกว่า 3,000 ดวงที่ปลดระวางและกำลังเป็นขยะอวกาศอยู่ในขณะนี้นั้น เราจะร่วมมือกันจัดการกับพวกมันอย่างไรกัน? เพราะแม้มันจะใช้ไม่ได้ แต่ตำแหน่งที่มันถูกจองไว้ก็ยังเป็นของมันอยู่เสมอ มันกำลังล่องลอยในอวกาศในที่ๆควรนำตำแหน่งของมันกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ด้วยดาวเทียมดวงใหม่ที่พร้อมจะทดแทนมันได้อย่างไร?? นึกถึงหนังเรื่องหนึ่งเลย Space Sweepers

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) – GISTDA

อ้างอิง

ESA – Second space data highway satellite set to beam

Physics – Stand Up for Satellite Regulation (aps.org)

Sputnik (vibrationdata.com)

ดาวเทียม – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)

บทความ (senate.go.th)

ประเภทของดาวเทียม (catsatcom.com)

วงโคจรของดาวเทียม – LESA: ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่

สามารถสนับสนุนเราได้ทางช่องทางต่อไปนี้

Lightning network (Tippin Me)

LN-tippin-me

Lightning network (Alby)

Bitcoin

BitcoinQR

หรือสนับสนุนผ่านช่องทาง Verified creator เพียงแวะชม หรือให้ทริปเราผ่านเว็บบาวเซอร์ Brave


Scroll to Top