Site icon A Good Many

เรื่องของดาวเทียม

satellite

EDRS-C

หนึ่งในเทคโนโลยีที่อยู่คู่การใช้ชีวิตของมนุษย์เรามานาน แต่เราไม่เคยสังเกต หรือตั้งข้อสงสัยอะไรกับมันมากพอเลยนั่นก็คือ ดาวเทียม เพราะอะไรนะหรอครับ นั่นอาจเป็นเพราะว่าเราไม่รู้ว่ามันทำงานอย่างไร อาจเป็นเพราะเราไม่เคยสังเกตเห็นมันบนท้องฟ้า หรือบางทีเราอาจกำลังใช้ประโยชน์บางอย่างจากมันอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้ วันนี้ A Good Many จึงจะมาพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับเทคโนโลยีดาวเทียมกันครับ

ดาวเทียมคืออะไร

satellite

ดาวเทียม ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง “วัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นเลียนแบบดาวบริวารของดาวเคราะห์ เพื่อให้โคจรรอบโลกหรือรอบเทห์ฟากฟ้าอื่น มีอุปกรณ์สําหรับเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอวกาศและถ่ายทอดข้อมูลนั้นมายังโลก” จะเห็นได้ว่าคำจำกัดความสั้นๆ ของดาวเทียมที่สำคัญคือ “วัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นเลียนแบบดาวบริวารของดาวเคราะห์เพื่อให้โคจรรอบโลกหรือรอบเทห์ฟากฟ้าอื่น” แปลง่ายๆไปอีก มันคือดาว(ทำ)เทียม นั่นเองครับ แล้วดาวเทียมนั้นมีที่มาอย่างไร ลองไปอ่านในย่อหน้าถัดไปเลยครับ

ประวัติการกำเนิดดาวเทียม

รูปภาพจำลองดาวเทียม Sputnik-1

ดาวเทียมดวงแรกของโลกถูกสร้างโดยชาติมหาอำนาจในสมัยนั้นนั่นคือ สหภาพโซเวียต ในชื่อ สปุตนิก-1 (Sputnik-1 : Спутник-1) ซึ่งถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจทางด้านการตรวจสอบการแผ่รังสีของชั้นบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟีย โดยถูกส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดอาร์-7 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2500 ที่สถานีปล่อยอวกาศยานไบโคนูร์คอสโมโดรม บริเวณประเทศคาซัคสถานในปัจจุบัน เชื่อหรือไม่ว่าขนาดของดาวเทียมสปุตนิก-1 นั้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 58 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเพียง 84 กิโลกรัมเท่านั้นเอง ครั้งแรกที่พูดถึงดาวเทียมนึกว่าจะใหญ่โตมโหฬารนะครับ เจ้าสปุตนิก-1 นี่ทำผิดคาดไปไกลเลย แต่จริงๆแล้วดาวเทียมก็มีหลากหลายขนาด และหลากหลายรูปทรงมาก แล้วแต่รูปแบบการทำงานหรือภารกิจในการทำงานของแต่ละดวงครับ

ประเภทดาวเทียม

อย่างที่เกริ่นไปในช่วงแรกว่าดาวเทียมนั้นมันมีหลากหลายขนาด / รูปทรง ก็แล้วแต่ภารกิจที่ถูกออกแบบมาให้มันทำงานนั่นเอง ดังนั้นหากดาวเทียมที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นต่างก็มีจุดประสงค์ในการสร้างและพัฒนามาแตกต่างกัน แล้วเราจะแบ่งประเภทมันอย่างไรกัน ถ้าไม่รู้จะแบ่งแบบไหน ก็แบ่งมันไปทุกประเภทเลยสิคะ 555 มาเริ่ม!!!

การแบ่งประเภทตามวงโคจรของดาวเทียม

รูปแนววงโคจรประเภทต่างๆ
วงโคจรระยะต่ำ (Low Earth Orbit : LEO)

จะมีความสูงจากพื้นโลกไม่เกิน 1,000 กิโลเมตร เหมาะสำหรับการถ่ายภาพรายละเอียดสูงเพราะอยู่ในระยะใกล้ แต่ด้วยความที่ใกล้โลกมาก ก็ย่อมมีอัตราความเร็วการหมุนรอบโลกที่เร็วมากเช่นกัน คือ มันจะมีความเร็วมากกว่าดาวเทียมประเภทอื่น และส่วนใหญ่มักจะใช้วงโคจรขั้วโลก (Polar Orbit) คือการที่ดาวเทียมโคจรในแนวเหนือ-ใต้ ในขณะที่โลกหมุนรอบตัวเอง ทำให้ดาวเทียมเคลื่อนที่ผ่านเกือบทุกส่วนของพื้นผิวโลกได้

วงโคจรระยะปานกลาง (Medium Earth Orbit : MEO)

จะมีความสูงอยู่ที่ระยะความสูงตั้งแต่ 1,000 กิโลเมตร ไปจนถึง 35,000 กิโลเมตร ดาวเทียมที่มีวงโคจรระยะปานกลางส่วนมากเป็นดาวเทียมนำร่องเพราะครอบคลุมพื้นที่ได้ดีกว่าดาวเทียมในวงโคจรระยะต่ำ และความเร็วในการเคลื่อนที่ในระยะพอเหมาะ หากแต่ต้องใช้จำนวนหลายดวงขึ้นจึงจะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการ รับ-ส่ง ข้อมูลที่ดีขึ้น

วงโคจรประจำที่ (Geosynchronous Earth Orbit : GEO)

หรือที่เรียกกันว่า ดาวเทียมค้างฟ้า เพราะดาวเทียมจะถูกตั้งให้อยู่ในระนาบเส้นศูนย์สูตร หรือใกล้เคียงระนาบเส้นศูนย์สูตร < 1 หรือ > 1 องศา มองดูมันจะเป็นทรงแกว่งๆตามแนวแกนโลก โดยจะเรียกการโคจรแบบนี้ว่าวงโคจรศูนย์สูตร(Equatorial Orbit) และดาวเทียมชนิดนี้จะหมุนรอบโลกด้วยความเร็วเชิงมุมเท่ากับโลกหมุนรอบตัวเอง จึงทำให้ดูเหมือนว่าดาวเทียมลอยนิ่งอยู่เหนือพื้นผิวโลกในตำแหน่งเดิมอยู่ตลอดเวลา โดยดาวเทียมประเภทนี้จะมีความสูงจากพื้นโลกประมาณ 35,786 กิโลเมตร ด้วยความสูงที่วงโคจรอยู่ห่างไกลจากโลกมาก จึงนิยมนำมาเป็นดาวเทียมถ่ายภาพพื้นโลก เฝ้าสังเกตการณ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งทำดาวเทียมสื่อสารข้ามทวีป ซึ่งปัจจุบันนี้ถือว่ามีจำนวนหนาแน่นมากและกำลังเป็นปัญหาในการจัดการวงโคจรดาวเทียมดวงอื่นๆในอนาคตอีกด้วย

วงโคจรรูปวงรี (Highly Elliptical Orbit : HEO)

เป็นดาวเทียมที่มีความเร็วในวงโคจรไม่คงที่ เมื่ออยู่ใกล้โลกดาวเทียมก็จะเคลื่อนที่เร็วมาก และเคลื่อนที่ช้าลงเมื่อออกห่างจากโลก ส่วนมากเป็นดาวเทียมที่ปฏิบัติงานด้านวิทยาศาสตร์ หรือไม่ก็พวกดาวเทียมจารกรรม ที่สามารถปรับวงโคจรผิวโลกได้ ล้ำๆไปเลย

การแบ่งประเภทตามวัตถุประสงค์การใช้งาน

Weather satellite

โดยหลักๆ หากแบ่งตามประเภทของวัตถุประสงค์ในการใช้งานก็จะมีดังต่อไปนี้

ดาวเทียมสื่อสาร (Communication Satellite)

เป็นดาวเทียมที่ต้องทำงานตลอดเวลา เพราะการสื่อสารนั่นไม่มีวันหลับ มันใช้รองรับการสื่อสารโดยใช้คลื่นความถี่ย่านไมโครเวฟ และส่วนใหญ่เป็นดาวเทียมที่อยู่ในวงโคจรแบบประจำที่เพราะมีระยะการครอบคลุมพื้นโลกได้กว้างกว่า แต่ปัจจุบันก็เริ่มมีการใช้ดาวเทียมในวงโคจรระยะต่ำบ้างแล้วอย่างดาวเทียม Starlink ของบริษัท SpaceX ที่มีเจ้าของเป็นชายที่ชื่อ Elom musk มหาเศรษฐีที่ขยับตัวไปทางไหนก็เขย่าโลกทางนั้น โดยดาวเทียมแบบนี้จำเป็นต้องใช้จำนวนหลายดวงมากเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ให้กว้างขวางและเพื่อให้ระบบเครือข่ายมีความเสถียรมากขึ้นนั่นเอง โปรเจคอย่าง Starlink ตั้งเป้าว่าจะต้องส่งดาวเทียมประจำการถึง 12,000 ดวง!!! ถึงจะให้บริการได้ครอบคลุมทั่วโลก โดยที่ปัจจุบันขณะที่เขียนบทความนี้(26/2/2565) มีการส่งดาวเทียม Starlink ขึ้นประจำการแล้วกว่า 2,000 ดวง

ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร (Earth Observation Satellite)

ชื่อประเภทก็บอกเลยว่าสำรวจทรัพยากร แต่นอกจากนั้นมันยังต้องจัดทำแผนที่ได้อีกด้วย แน่นอนว่าดาวเทียมประเภทนี้จะต้องมีกล้อง และอุปกรณ์ไฮเทคจำนวนมากติดตัวไปด้วย ออฟชั่นครบครัน เพราะการทำงานเฉพาะทางแบบนี้ย่อมต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และแน่นอนว่าหากจะต้องใช้งานดาวเทียมประเภทนี้มันก็มักจะอยู่ในวงโคจรระยะต่ำเพราะต้องการความละเอียด แม่นยำที่สูงมากๆนั่นเอง

ดาวเทียมนำร่อง (Navigation Satellite)

หากเคยได้ยินชื่อ GPS แน่นอนว่ามันคือดาวเทียมนำร่องใช้ในการบอกตำแหน่งปัจจุบันของเรา และการบอกตำแหน่งที่ว่าต้องครอบคลุมพื้นที่ในระยะที่กว้างพอสมควรมันจึงอยู่ในระยะวงโคจรระดับกลาง ดาวเทียมนำร่องประเภทนี้นอกจากจะมีเทคโนโลยีชั้นสูงในการระบุตำแหน่งแล้ว บางชนิดมักจะมีเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนตัวเอง เพื่อปรับระนาบตัวเองในยามที่แม่เหล็กโลกมีการแกว่งตัวอีกด้วย

ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา (Meteorological Satellite)

ดาวเทียมที่มีประโยชน์ต่อการพยากรณ์อากาศชนิดนี้มักจะมีวงโคจรอยู่ในระยะต่ำ และอยู่ในวงโคจรคงที่ เพื่อใช้ข้อมูลจากทั้งสองส่วนมาวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งดาวเทียมชนิดนี้จะมีอุปกรณ์ในการรับสัญญาณเรดาห์ และอินฟาเรดโดยใช้หลักการวัดการแผ่รังสี (Emission) ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า พูดง่ายๆว่าดูข้อมูลจากเมฆนั่นแหละ จากนั้นจะนำข้อมูลส่งลงไปประมวลผลยังศูนย์ข้อมูลยังพื้นโลกเพื่อทำการคาดการณ์ พยากรณ์สภาพอากาศต่อไป ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาดวงแรกของโลกได้ถูกยิงขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2503 มีชื่อว่า TIROS – 1 (Television and Infrared Observational Satellite) ซึ่งเป็นของประเทศสหรัฐอเมริกานั่นเอง

ดาวเทียมเพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ (Scientific and Research Satellite)

เป็นดาวเทียมที่ใช้ในงานเฉพาะทางเลยโดยส่วนใหญ่ก็กระจายตามวงโคจรระยะต่างๆ เพื่อศึกษาสิ่งต่างๆตามการออกแบบมานั่นแหละครับ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงดาวเทียมที่เดินทางไปในอวกาศและดาวดวงอื่นเพื่อการสำรวจอีกด้วยนะ ดาวเทียมพวกนี้จำเป็นจะต้องมีเซนเซอร์ที่ออกแบบมาเฉพาะงาน และต้องมีระบบการส่ง-รับข้อมูลที่ดีมากๆอีกด้วย

จริงๆมันยังมีการแบ่งประเภทในอีกหลากหลายรูปแบบอีกนะ แต่เอาคร่าวๆเท่านี้ก็พอ เพราะส่วนใหญ่หากเราจะพูดถึงดาวเทียมเราจะระบุแค่ว่ามันอยู่ในวงโคจรระดับไหน และมันทำงานอะไรเท่านั้นเอง ดังนั้นข้อมูลประเภทดาวเทียมเท่านี้ก็เพียงพอแล้วหล่ะครับ

การประยุกต์ใช้ดาวเทียม

พอพูดถึงเรื่องดาวเทียมแล้วการใช้ประโยชน์จากมันนี่แหละครับ คือส่วนที่สำคัญที่เราได้ประโยชน์จากมันที่สุด หากแต่บางครั้งเราไม่รู้นี่สิว่าเรากำลังใช้มันจากดาวเทียมอยู่ แล้วมันมีอะไรบ้างที่เราคิดไม่ถึง ไปดูกัน

การหาตำแหน่งบนพื้นโลก

หากใครเคยใช้โปรแกรมนำทางในโทรศัพท์มือถือ หรือในรถยนต์ บอกตำแหน่งร้านค้า ส่งโลเคชั่นในไลน์ เฟสบุ๊ค คุณอาจกำลังใช้ดาวเทียมอยู่ก็เป็นได้ โดยการใช้ดาวเทียมนำร่องชื่อดังอย่าง GPS (USA) มี 31 ดวง | GLONASS(Russia) มี 24 ดวง | GALILEO(Europe) มี 30 ดวง | BEIDOU(China) มี 35 ดวง | QZSS (Japan) มี 5 ดวง ซึ่งการใช้งานมันก็คือการหาระยะห่างระหว่างจุดที่เราอยู่กับดาวเทียมดวงอื่นๆที่อยู่ต่างระยะกัน เมื่อนำมาคำนวณหาจุดตัดก็จะได้ระยะที่เราอยู่อย่างแม่นยำเลยทีเดียว

GPS satellite position calculations

การสื่อสาร

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสื่อสารนั้นจำเป็นต้องพึ่งพาเจ้าดาวเทียมอยู่บ่อยครั้ง เพราะการติดต่อสื่อสารคือกิจกรรมหนึ่งที่ไม่มีวันหลับไหลของโลกเรานั่นเอง ดูทีวีผ่านการรับสัญญาณจากจานดาวเทียมก็ใช่ โทรศัพท์มือถือบางจุดอุปกรณ์การรับ-ส่งก็ใช้ผ่านเครือข่ายดาวเทียม หรือจะเป็นโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมเลยที่เป็นการส่งตรงถึงกันจากเครื่องสู่เครื่องเลยโดยไม่ต้องผ่านเสาสัญญาณภาคพื้นดิน รวมไปถึงระบบอินเตอร์เน็ตบางชนิดอีกด้วยนะ

หน่วยงานสำคัญเกี่ยวกับดาวเทียม

หน่วยงานที่กำกับดูแลเกี่ยวกับดาวเทียมนี่หลากหลายมากเลยครับ เพราะเรื่องเกี่ยวกับดาวเทียมนี่มันเกี่ยวพันไปกับเรื่องต่างๆยุบยับไปหมด แต่หลักๆที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องโครงข่ายดาวเทียมของโลกนี่ก็จะเป็น International Frequency Registration Board : IFRB แต่ดาวเทียมมันต้องมีการสื่อสารระหว่างตัวดาวเทียมกับดาวเทียมด้วยกัน หรือระหว่างดาวเทียมกับสถานีบนพื้นโลกด้วยใช่ไหม ดังนั้นหน่วยงานที่กำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องการสื่อสารโทรคมนาคมโลกก็คือ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) หรือที่รู้จักกันเยอะๆคือ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administrator: NASA) หน่วยงานนี้ก็มีการวิจัยและพัฒนาโครงการเกี่ยวกับอวกาศมาอย่างยาวนาน และนอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายหน่วยงานซึ่งเยอะมากเลยครับ คร่าวๆก็พอให้รู้จักเท่านี้ก่อน

Satellite

การติดตั้งดาวเทียม

การปล่อยดาวเทียม

ดาวเทียมนั้นจะถูกส่งขึ้นไปจากโลกโดยยานขนส่งอวกาศ เช่น จรวดอวกาศ โดยจรวดขนส่งอวกาศต้องมีแรงขับที่ต้องสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลก เพื่อที่จะอยู่ในระยะที่จะปล่อยดาวเทียมเข้าสู่ระนาบวงโคจรที่กำหนดได้ ดังนั้นจรวดขนส่งอวกาศต้องเคลื่อนที่อย่างน้อยด้วยความเร็วสูงมากกว่า 7.91 กิโลเมตรต่อวินาที จึงจะสามารถปล่อยดาวเทียมให้เข้าสู่วงโคจรรอบโลกในระดับต่ำที่สุดได้ และหากอยากเพิ่มความสูงของวงโคจรก็ต้องเพิ่มความเร็วของจรวดขนส่งอวกาศเพิ่มเข้าไปอีก แต่หากความเร็วของจรวดขนส่งอวกาศมีมากกว่า 11.2 กิโลเมตรต่อวินาที นั่นก็จะทำให้หลุดจากวงโคจรรอบโลก ทำให้ทั้งจรวดอวกาศและดาวเทียมออกสู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้นไปเลย เพราะความเร็วที่มากกว่า 11.2 กิโลเมตรต่อวินาทีนั้นจะทำให้ไม่ถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดกลับ เราเรียกว่า ความเร็วหลุดพ้น(Escape velocity) เหมือนเราหมุนเหวี่ยงตัวเป็นวงกลมและเอามือจับลูกบอลไว้ แล้วพอเราหมุนตัวแรงกว่าเดิม ลูกบอลจะหลุดออกจากมือแบบนั้นแล สู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น!!!

ความเร็วหลุดพ้น

ดาวเทียมกับประเทศไทย

สรุปในปัจจุบันคือ ดาวเทียมการสื่อสาร กลุ่มดาวเทียมไทยคม(ไทยคม 4,6,7,8 ที่ยังเหลือทำงานได้อยู่ในปัจจุบัน) มี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ดูแล และ ดาวเทียมการสำรวจ มีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้ดูแลภายใต้การจัดการของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และนี่ก็เป็นพัฒนาการทางด้านดาวเทียมคร่าวๆของประเทศไทยเราครับ

เราจะเห็นได้ว่าการวิจัยและพัฒนาดาวเทียมของไทยในหลายๆรูปแบบนั้นมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศชาติเป็นอย่างมาก เพราะการท่เราจะมีดาวเทียมใช้สักดวงนั้นถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทั้งงบประมาณมหาศาล รวมไปถึงความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย แถมยังต้องใช้องค์ความรู้เทคโนโลยีต่างๆมากมายเพื่อพัฒนาดาวเทียมสักดวงหนึ่งมาใช้เอง แต่หากดาวเทียมต่างๆที่เราทำใช้ได้เองนั้นก็ส่งผลให้ประเทศไทยเรามีความพัฒนาต่อยอดออกไปได้อีกหลากหลายมิติทั้งความรู้ในการวิจัยและพัฒนา ทั้งเรื่องของข้อมูลที่ได้จากการใช้ประโยชน์จากดาวเทียม รวมไปถึงความมั่นคงของยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติด้วย

สุดท้ายนี้ผมก็หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ที่ทำให้หลายๆคนได้เห็นถึงความสำคัญ และรู้จัก ดาวเทียมเพิ่มมากขึ้น นั่นเพราะในอนาคตอันใกล้นี้ดาวเทียมน่าจะมีบทบาทสำคัญอีกมากในด้านต่างๆ ทั้งช่วยในเรื่องการติดต่อสื่อสารให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อลดข้อจำกัดในการสื่อสาร เพื่อการสำรวจค้นคว้าวิจัยในรูปแบบต่างๆ ดาวเทียมนี้ไม่เคยส่งผลเทียมกลับมาให้มนุษย์เลย กลับส่งประโยชน์มากมายมหาศาลมาให้เรา เพียงแต่ . . . มีสิ่งหนึ่งที่เราต้องตระหนักถึงปัญหาในอนาคต นั่นก็คืออ้างอิงข้อมูลจาก Union of Concerned Scientists (UCS) จะพบว่า ณ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 มีดาวเทียมโคจรรอบโลก 6,542 ดวง ซึ่งแบ่งเป็นดาวเทียมที่อยู่ในสถานะใช้งานได้ปกติ 3,372 ดวง และอีก 3,170 ดวง เป็นดาวเทียมที่ปลดระวางกลายเป็นขยะอวกาศ!!!ดาวเทียมกว่า 3,000 ดวงที่ปลดระวางและกำลังเป็นขยะอวกาศอยู่ในขณะนี้นั้น เราจะร่วมมือกันจัดการกับพวกมันอย่างไรกัน? เพราะแม้มันจะใช้ไม่ได้ แต่ตำแหน่งที่มันถูกจองไว้ก็ยังเป็นของมันอยู่เสมอ มันกำลังล่องลอยในอวกาศในที่ๆควรนำตำแหน่งของมันกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ด้วยดาวเทียมดวงใหม่ที่พร้อมจะทดแทนมันได้อย่างไร?? นึกถึงหนังเรื่องหนึ่งเลย Space Sweepers

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) – GISTDA

อ้างอิง

ESA – Second space data highway satellite set to beam

Physics – Stand Up for Satellite Regulation (aps.org)

Sputnik (vibrationdata.com)

ดาวเทียม – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)

บทความ (senate.go.th)

ประเภทของดาวเทียม (catsatcom.com)

วงโคจรของดาวเทียม – LESA: ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่

สามารถสนับสนุนเราได้ทางช่องทางต่อไปนี้

Lightning network (Tippin Me)

Lightning network (Alby)

Bitcoin

หรือสนับสนุนผ่านช่องทาง Verified creator เพียงแวะชม หรือให้ทริปเราผ่านเว็บบาวเซอร์ Brave


Exit mobile version