ครั้งหนึ่งประเทศไทย : เบี้ยกุดชุม

เรื่องราวน่าสนใจนี้เป็นเรื่องของระบบการเงินที่มีรูปแบบแปลกใหม่ในประเทศไทย โดยน่าจะกล่าวได้ว่าเป็นระบบเงินตราชุมชนที่มีหลักฐานระบุอย่างเปิดเผยเป็นที่แรกในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วถ้าเราพูดถึงคำว่า “เงิน” มันจะหมายถึง เหรียญหรือธนบัตรที่เรามีใช้กันโดยทั่วไป หรือจะพูดให้ถูกต้องอีกคำหนึ่งคือ เป็นเงินตราที่ออกโดยหน่วยงานที่รัฐบาลรับรองในการผลิตเงินเหล่านั้นขึ้นมา และมีการกำหนดให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายนั่นเอง การชำระหนี้ได้ตามกฎหมายที่รัฐบาลรับรองจึงเป็นการที่รัฐบาลมีอำนาจในการควบคุมเงินเหล่านั้นได้ แต่สำหรับชุมชนหนึ่งที่ทำในสิ่งที่แปลกออกไป นั่นคือการกำหนด “เงิน” ด้วยตัวเอง ทำให้อำนาจในการควบคุมเงินเหล่านั้นเป็นของชุมชนเหล่านั้นเองไม่ขึ้นกับการควบคุมของรัฐบาล และนั่นเป็นเรื่องที่เราจะพูดถึงในวันนี้ครับ “เบี้ยกุดชุม”

ก่อนจะกล่าวถึงเบี้ยกุดชุม ต้องเข้าใจก่อนว่า ระบบเงินที่ใช้ในประเทศไทยอย่างที่เกริ่นมาขั้นต้นนั้นถูกกำหนด และควบคุมโดยรัฐบาลของประเทศเราเอง โดยมีการกำหนดสกุลเงินขึ้นมาเป็น บาท และมีหน่วยย่อยเป็น สตางค์ และมีการรับรองด้วยกฎหมายขึ้นมา ดังนั้นการจะทำ “เงิน” ที่นอกเหนือจากข้อกำหนดเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ในประเทศไทยเรา แต่ความเป็นมาของเบี้ยกุดชุมนี่แหละครับ ที่บางทีอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเล็กๆในระบบเงินตราของไทยก็เป็นได้

ปัญหาและสาเหตุ ที่ทำให้เกิดเบี้ยกุดชุม

แผนที่อำเภอกุดชุม

เดิมทีชาวบ้าน ตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ดำรงชีวิตในชุมชนตามปกติ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาเกิดปัญหาคล้ายๆกันกับชุมชนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ คือปัญหาในการประกอบอาชีพคือ ขาดเงินทุนในการลงทุนทำไร่ทำนา สินค้าเกษตรที่ขายมีราคาตกต่ำ เกิดความขาดแคลนสินค้าที่จำหน่ายในชุมชน นั่นเป็นผลมาจากการที่เงินที่ใช้จ่ายกันลงมาสู่ชุมชนเหล่านี้ได้น้อยเพราะด้วยจากปัจจุยต่างๆ ทั้งการถูกกำหนดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ผลผลิตที่ไม่เป็นไปตามคาดการณ์จากสถานการณ์ต่างๆ การกำหนดนโยบายการพัฒนาและการกระจายรายได้ในชุมชนไม่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตของคนในชุมชน พอเกิดปัญหาเหล่านี้ก็ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นของชุมชนก่อนมีเบี้ยกุดชุม

เมื่อเกิดปัญหาตั้งแต่ที่มีการบันทึกการทำงานแก้ไขปัญหากันมาราวๆ พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา ทางชุมชนจึงมีการประชุมร่วมกันและมีการแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องๆไปตลอดเวลา ทั้งการกำหนดราคาสินค้าภายในชุมชนเอง การพัฒนาสินค้าเกษตรแบบปลอดสารพิษ การลดใช้สารเคมีในการเกษตร การก่อตั้งร้านค้าสหกรณ์ การพัฒนาปุ๋ยธรรมชาติด้วยตนเองในชุมชน การผลิตข้าวกล้อง ข้าวปลอดสารพิษ การสร้างโรงสีชุมชน สร้างธนาคารชุมชนโดยลงขันเงินส่วนกลางร่วมกันเพื่อนำไปใช้ในการหมุนเวียนการทำเกษตรให้สมาชิกในกลุ่มยืมเงินไปใช้ และการแก้ไขทางด้านต่างๆตามมาเยอะแยะ จะเห็นได้ว่าชุมชนนี้เป็นชุมชนที่ร่วมมือกันเป็นอย่างดี และนี่จึงเป็นสิ่งที่ดีที่เป็นจุดเริ่มต้นของการมีส่วนร่วมในชุมชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่มีร่วมกันอย่างยั่งยืน

กำเนิดเบี้ยกุดชุม

ที่มา https://www.csdi.or.th

เมื่อเงินที่ต้องใช้มีหมุนเวียนมีน้อย ประกอบกับราคาผลผลิตตกต่ำ การแก้ไขของคนในชุมชนจึงเริ่มต้นจากการ พึ่งพาตนเอง แต่การจะพึ่งพาตนเองได้นั้นจำเป็นต้องมีเงินทุนในการมาพัฒนาด้านต่างๆ รวมไปถึงการจัดการและการควบคุมดูแลระบบเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง พูดง่ายๆคือ เอาเงินใส่เข้าไปในระบบแล้วให้สร้างโปรดักส์ขึ้นมาหมุนเวียนใช้ในชุมชน แต่ปัญหาคือ “เงิน” ที่มันไม่มีนี่แหละ จะเอาจากไหนมาหมุนเวียนหรือมาเป็นทุนในการใช้จ่ายได้เพียงพอ ดังนั้นเหล่าชาวบ้านจึงรวมกันคิดแก้ปัญหาการไม่มีเงินโดยการ “สร้างเงินขึ้นมาเอง” แต่การจะสร้างเงินมาใช้ต้องมีการกำหนดข้อกำหนดต่างๆขึ้นมาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาอีกในอนาคต และการสร้างเงินนี้จะต้องมีรูปแบบที่ชาวบ้านคุ้นเคย พูดง่ายๆคือ เลียนแบบเงินตราของรัฐบาลมันนี่แหละ

จุดเริ่มต้นจากการสร้างเงินคือได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มองค์กรต่างๆในประเทศและระหว่างประเทศมากมายรวมทั้งกลุ่ม NGO ต่างๆอีกด้วย หลักๆที่มีข้อมูลคืออาสาสมัครฝรั่งตาน้ำข้าวสองคนชื่อ Mr.Menno Salverda ชาวเนเธอร์แลนด์ และMr. Jeff Power ชาวแคนาดา ที่ได้เสนอแนวคิดการสร้างระบบแลกเปลี่ยนในชุมชน ภายใต้โครงการ The Thai Community Currency System Project(TCCS) ร่วมกันพัฒนารูปแบบ ระบบบริหารจัดการ และกฎระเบียบกับทางชุมชนอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเริ่มมีการพิมพ์เบี้ยกุดชุมขึ้นมาและเริ่มใช้งานในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Japan Foundation Asia Center มีธนาคารเบี้ยกุดชุมเป็นหน่วยจัดการกลาง และมีสมาชิกเข้าร่วมกับธนาคารเบี้ยกุดชุมแรกเริ่มจำนวน 120 ราย เป็นชาวชุมชน 5 หมู่บ้านในอำเภอกุดชุมและอำเภอทรายมูลของจังหวัดยโสธรนั่นเอง

การใช้งานเบี้ยกุดชุม

เนื่องจากการออกแบบเบี้ยกุดชุมต้องการให้ผู้คนคุ้นชินกับการใช้งานเหมือนการใช้เงินบาทจึงมีการกำหนดราคาให้ 1 เบี้ยกุดชุม = 1 บาท ทำให้ง่ายต่อการแลกเปลี่ยนไปมาเมื่อต้องการใช้เงินบาทในการติดต่อซื้อขายต่างชุมชน และสินค้าภายในชุมชนมีการกำหนดให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนในอัตราเบี้ยกุดชุม เพื่อให้ใช้เงินเบี้ยกุดชุมอย่างเดียวในชุมชน ส่งเสริมการกู้ยืมเงินเป็นเบี้ยกุดชุม รวมไปถึงการพัฒนาในรูปแบบธนาคารที่มีการฝาก ถอน ปล่อยกู้ให้กับสมาชิกที่เข้าร่วมกันในชุมชนที่รับเบี้ยกุดชุม

การบริหารจัดการเบี้ยกุดชุม

การบริหารจัดการเบี้ยกุดชุมถูกจัดการผ่านธนาคารเบี้ยกุดชุม โดยหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงหนึ่งเดียวที่มีคือความเชื่อใจซึ่งกันและกันของคนในชุมชน เพราะการจัดการการฝาก ถอน ปล่อยกู้ ในรูปแบบเบี้ยกุดชุมนี้ ทำกันเป็นภายในเฉพาะหมู่บ้านที่เข้าร่วมเท่านั้น ดังนั้นการจัดการต่างๆ จึงต้องเป็นเรื่องของสมาชิกในกลุ่มที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

https://www.researchgate.net/figure/The-Bia-Kut-Chum-Community-Currency-Notes_fig2_228351469

แนวคิดการใช้งานต่อยอดเบี้ยกุดชุม

เมื่อแนวคิดการใช้งานเบี้ยกุดชุมมีการใช้จริงได้ในชุมชน ส่งผลให้เกิดเป็นการพึ่งพาตนเองของคนในชุมชนได้ จึงเกิดเป็นการขยายการใช้งานในรูปแบบเดียวกันในพื้นที่ต่างๆตามมาแต่ปรากฎว่าทางการธนาคารแห่งประเทศไทยรับรู้ถึงปัญหาต่อเสถียรภาพเงินบาทในวงกว้าง หากนำแนวคิดนี้ไปต่อยอดในหมู่บ้านอื่นๆ จึงเกิดเป็นความขัดแย้งต่อรัฐบาลทันที คราวนี้ความขัดแย้งจึงเข้าไปสู่กระบวนการทางกฎหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ระหว่างกระทรวงการคลังกับชาวบ้านที่ใช้เงินเบี้ยกุดชุม

ปัญหากับกฎหมายของประเทศไทย

“ห้ามมิให้ผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้ หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใด ๆ แทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี

มาตรา 9 ของพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501

ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินตราคือ พระราชบัญญัติเงินตรา ปีพ.ศ. 2501 ที่มีเจตนารมณ์ให้ระบบเงินตราของรัฐมีสกุลเงินบาทเป็นระบบหลักเพียงระบบเดียวในประเทศไทย ดังนั้น เบี้ยกุดชุม จึงถือเป็นข้อขัดแย้งทางกฎหมายโดยตรง ผิดกฎหมายเต็มๆ แล้วคราวนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจึงเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ใช้เบี้ยกุดชุม ที่จะกลับไปมีปัญหาเพราะเงินทุนไม่พอแบบเดิมอีกแน่แท้ เพราะการเข้าถึงแหล่งเงินสำหรับชาวบ้านนั้นถือว่าทำได้ยาก และคู่ขัดแย้งคราวนี้ก็เป็นรัฐที่ถือกฎหมายอยู่ในมือ และเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังต้องมาจัดการกับปัญหาเหล่านี้โดยตรงเลยทีเดียว สำหรับในมุมมองของชาวบ้านกับรัฐตอนนี้มันมากกว่าเรื่องเงินตรา แต่มันคืออำนาจในการบริหารจัดการด้วยตนเองโดยลดการพึ่งพาจากภายนอก อาศัยการจัดการภายในซึ่งรัฐพยายามส่งเสริมการขยายอำนาจกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยผ่านองค์กรต่างๆที่เป็นส่วนงานบริหารงานภาครัฐ แต่กับ “เงิน” ที่เป็นปัญหาของชาวบ้านกลับไม่ถูกรัฐกระจายอำนาจมาให้ท้องถิ่นจัดการเอง นี่จึงเป็นเรื่องราวใหญ่โตของความขัดแย้งและประเด็นปัญหานี้ที่ทางกระทรวงการคลังต้องมีหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความทางกฎหมายเลยทีเดียว

แนวทางหรือการแก้ไขปัญหาในระบบกฎหมายประเทศไทย

หากดูจาก บันทึกสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การใช้เบี้ยกุดชุมแทนเงินตรา ที่กระทรวงการคลังได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค ๑๐๐๔/๑๖๑๓๙ ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2549 ถึงสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พอจะสรุปความแบบรวบรัดได้ว่า

  • เบี้ยกุดชุมถือเป็นเงินตรา ทำให้เข้าข่ายผิดต่อกฎหมายตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501
  • แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาจอนุญาตให้ใช้เบี้ยกุดชุมแทนเงินตราได้อย่างมีเงื่อนไข โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมายว่าด้วยเงินตราและกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์

นั่นต่อมาจึงมีคำสั่งทางปกครองที่อนุญาตให้ใช้เบี้ยกุดชุมได้โดยจำกัดเงื่อนไขให้ใช้ได้ภายในชุมชนที่กำหนด มีการควบคุมดูแลประสานการทำงานร่วมกันกับส่วนกลาง รวมทั้งมีข้อกำหนดห้ามแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทอีกด้วย

ความสำคัญของแนวคิดการจัดการตนเอง พึ่งตนเองของชุมชน

การพึ่งพาตนเองโดยการใช้เงินแบบเบี้ยกุดชุมนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด ในต่างประเทศมักเรียกวิธีการใช้เงินแบบนี้ว่าสกุลเงินเสริม (Complementary Currency) เช่น เงินปอนด์บริกซ์ตัน ของชุมชนบริกซ์ตัน ในประเทศอังกฤษ หรือ เงินเบิร์กแชส ของชุมชนรัฐแมสซาชูเซตส์ ในประเทศอเมริกา ถือเป็นรูปแบบในการรักษาผลประโยชน์และการจัดการของชุมชนร่วมกันที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกในชุมชนนั้นๆ ชุมชนที่พึ่งพาตนเองได้นั้น หมายความว่า ชุมชนนั้นมีศักยภาพมากพอในการพัฒนา แก้ไข ควบคุม และจัดการกับสิ่งต่างๆได้ มันหมายถึงความสามารถในการร่วมมือกันจนเกิดเป็นผลสำเร็จในการจัดการกับสิ่งต่างๆได้ ดังนั้นการที่เบี้ยกุดชุมสามารถเป็นหนึ่งในกลไกในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ ก็ถือว่าความสามารถและการตระหนักรู้ของคนในชุมชนนั้นมีสูงมาก น่ายกย่องและยอมรับมากๆทีเดียวเลยครับ

ภาพโดย Anemone123 จาก Pixabay

การเสื่อมความนิยมของเบี้ยกุดชุม

เป็นธรรมชาติของสิ่งต่างๆ มีเกิดก็ย่อมมีดับ เบี้ยกุดชุมก็เช่นกัน ก่อนหน้านี้เบี้ยกุดชุมถือเป็นกลไกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาของชุมชนในสภาวะที่เงินหมุนเวียนมีน้อย จึงใช้เบี้ยกุดชุมแทนเงินบาทกัน หมุนเวียนแลกเปลี่ยนในชุมชนแทน แต่พอหลังๆมาความเจริญเข้ามาสู่ชุมชนมากขึ้นประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น สามารถขอกู้ ขอผ่อนอะไรได้มากขึ้น ความนิยมในเบี้ยกุดชุมก็ลดน้อยลง นอกจากนี้การแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนอื่นๆที่ไม่ได้ใช้เบี้ยกุดชุมก็ต้องใช้เงินบาทตามปกติ และมีข้อกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้มีการแลกเปลี่ยนเบี้ยกุดชุมเป็นเงินบาทด้วย นี่เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ความนิยมลดลงอย่างมาก พอตลาดมันขยายใหญ่ คนอื่นๆใช้เงินบาทซื้อขายกัน เบี้ยกุดชุมก็ลดความสำคัญลงเรื่อยๆ จนปัจจุบัน เบี้ยกุดชุมเหลือไว้เพียงตำนานในการพึ่งพาตนเองของชุมชนที่ไม่ต้องร้องขอการช่วยเหลือเงินทุนจากทางภาครัฐ อาศัยเพียงความเชื่อใจกันในสมาชิกกลุ่ม แม้จะมีใช้กันแต่ก็หลงเหลือน้อยมากเพียงเฉพาะผู้สูงอายุในหมู่บ้าน รวมถึงบางที่จัดทำเป็นเพียงของที่ระลึกเท่านั้น แต่ความพยายามในการพึ่งพาตนเองของชุมชนต่างๆยังไม่หมดไป และในปัจจุบันมันมาใหม่ในชุมชนที่ใหญ่ขึ้นอย่างชุมชนโลกในฐานะ Cryptocurrency นั่นเอง และอันนี้แหละที่จะทำให้รัฐปวดหัวยิ่งกว่าเดิม

เบี้ยกุดชุมสู่ Cryptocurrency

หลายๆครั้งที่เรามักจะบอกไม่ได้ว่าอะไรมันเกิดมาก่อนกัน เพียงแต่ว่าเราสามารถบอกได้ทันทีว่าอะไรที่มันเหมือนกัน เฉกเช่นเบี้ยกุดชุมที่อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันในชุมชน สร้าง ใช้ ควบคุม และดำเนินกิจการกันภายในชุมชน นี่เป็นคอนเซ็ปที่เรียกได้ว่าเป็นเหมือนๆกันกับชุมชนผู้ใช้เงิน Cryptocurrency อย่างยิ่ง ชุมชนจะให้ค่าสิ่งที่มีฉันทามติร่วมกัน จะตัดสิน ยืนยัน พร้อมใจกันด้วยการยอมรับภายในชุมชนตนเอง มันก็ไม่ต่างอะไรกัน ยิ่งการที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของรัฐ หรือใครคนใดคนหนึ่งยิ่งเป็นเรื่องที่เหมือนกันเสียโดยบังเอิญ จะต่างกันก็เพียงแต่รูปแบบการใช้งานที่อย่างหลังมันออกจะเป็นดิจิตอลเสียมากกว่านั่นเอง ดังนั้นพักหลังๆเราจะเห็นคนนิยมการใช้เงินที่ตอบสนองต่อความต้องการของตนเองมากขึ้น จึงไม่แปลกที่เราอาจจะเห็นมาตรการต่างๆของทางภาครัฐที่จะพยายามต่อต้าน ขัดขวางการใช้งาน “เงิน” ที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของรัฐ เพราะอำนาจในการควบคุมเงินนี่แหละครับ ที่มันเป็นที่ต้องการของใครหลายๆคน

สุดท้ายถึงแม้เรื่องของเบี้ยกุดชุมที่ตอนนี้เหลือเป็นเพียงตำนานไปแล้วแต่อย่างน้อยเราก็ยังได้เห็นถึงความร่วมมือกันในระดับชุมชนที่ต้องการแก้ไขปัญหาต่างๆด้วยการเน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก นี่เป็นสิ่งที่น่ายกย่องมาก ไม่ว่าต่อมามันจะเกิดความขัดแย้งใดๆต่อกฎหมายของรัฐ แต่สุดท้ายแล้วคนที่ร่วมกันพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันนั่นแหละที่จะเป็นผู้อยู่รอดต่อไป การพึ่งพาตนเองได้ ถือเป็นความสำเร็จอย่างสูงที่สุดในการดำรงชีวิตเลยทีเดียวนะจะบอกให้

อ้างอิง

เบี้ยกุดชุม เงินตราชุมชนสู่การพึ่งตนเอง – มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (ldi.or.th)

บันทึกสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การใช้เบี้ยกุดชุมแทนเงินตรา

https://www.researchgate.net/publication/228351469_The_power_to_change_Rebuilding_sustainable_livelihoods_in_North-East_Thailand#figures

https://www.csdi.or.th/

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่

สามารถสนับสนุนเราได้ทางช่องทางต่อไปนี้

Lightning network (Tippin Me)

LN-tippin-me

Lightning network (Alby)

Bitcoin

BitcoinQR

หรือสนับสนุนผ่านช่องทาง Verified creator เพียงแวะชม หรือให้ทริปเราผ่านเว็บบาวเซอร์ Brave


Scroll to Top