สวัสดีครับวันนี้ A Good Many มีเรื่องราวดีๆที่อยากจะนำมาบอกเล่าให้ฟัง ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ ณ เวลานี้ที่บริเวณแถวบ้านของผมเลยครับ นั่นคือเสียงดังสนั่นหวั่นไหวที่บริเวณหม้อแปลงขนาดใหญ่ของการไฟฟ้า ตู้ม!!! แล้วไฟฟ้าก็ดับลงกันหมดทั้งหมู่บ้านกันเลยทีเดียว ดังนั้นเสียงที่ดัง ตู้ม!!! ที่คนส่วนใหญ่มักจะพูดกันว่า “หม้อแปลงระเบิด” นั้น มันคืออะไรที่ระเบิดกันแน่ ทำไมบางครั้งมันดูเหมือนระเบิดบ่อยเสียจนคิดว่า หม้อแปลงมันสามารถระเบิดได้ง่ายขนาดนั้นเลยหรอ ลองไปดูข้อมูลส่วนนี้กันครับ 🔥💥
หม้อแปลงไฟฟ้าคืออะไร
ก่อนอื่นเราลองมาทำความเข้าใจเรื่องหม้อแปลงไฟฟ้ากันก่อนครับว่ามันคืออะไร ปกติกระแสไฟฟ้าที่ตามบ้านเรือนเราใช้อยู่กันในปัจจุบันก็พอจะบอกได้ว่ามีตัวเลขหนึ่งที่คุ้นปากกันนั่นคือ “220 โวลต์” นั่นหมายถึงค่าแรงดันไฟฟ้านั่นเอง ซึ่งแต่ละประเทศก็อาจจะมีแรงดันไฟฟ้าที่แตกต่างกันอย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ที่มีแรงดันไฟฟ้าเพียง 110 โวลต์ โดยแรงดันไฟฟ้านี้ก็จะเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่รองรับขนาดแรงดันที่เหมาะสมกับมันด้วยนั่นเอง แต่เอาเป็นว่าแรงดันไฟฟ้าในที่นี้ที่เราใช้กันตามบ้าน มันไม่ได้เป็นค่า 220 โวลต์ มาตลอดสายไฟฟ้าหรอกครับ เพราะการที่เราจะสามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปยังที่ไกลๆออกไป เราไม่สามารถที่จะส่งด้วยแรงดันต่ำอย่างที่เราใช้กันแบบนี้ได้ เพราะตามกฎของฟิสิกส์ที่บอกว่ายิ่งแรงดันไฟฟ้ามาก ยิ่งส่งได้ไกล ผมไม่เขียนสูตรฟิสิกส์ลงไปนะ เดี๋ยวจะปวดหัว แต่เอาเป็นว่าให้นึกถึงการปล่อยน้ำจากแทงค์น้ำสูงๆ ผ่านสายยาง ยิ่งแทงค์น้ำมีความสูงมากเท่าไร น้ำที่ปลายสายยางที่ความยาวเท่ากันก็ยิ่งแรงมากขึ้น นั่นหมายถึงหากเรานำสายยางที่ยาวกว่าเดิมมาต่อ ก็ย่อมส่งผลให้เราสามารถที่จะส่งน้ำออกไปได้ไกลกว่าเดิมนั่นเอง สาเหตุเป็นเพราะ การที่แทงค์น้ำสูงๆ มันมีแรงดันที่มากกว่านั่นเอง คราวนี้เราลองกลับมาเปรียบเทียบกับกระแสไฟฟ้า เราจะเห็นได้ว่า คำว่า “แรงดันของน้ำ” เมื่อเปลี่ยนมาเป็นกระแสไฟฟ้าเราก็จะเรียกว่า “แรงดันไฟฟ้า” ก็ย่อมหมายถึงว่า หากเรามีแรงดันไฟฟ้าที่สูงมาก เราก็ย่อมที่จะส่งกระแสไฟฟ้าออกไปได้ไกลยิ่งขึ้นนั่นเอง นั่นจึงเป็นที่มาของการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งผลิตที่จะมีการเพิ่มให้แรงดันไฟฟ้าที่สูงมากเพื่อทำการส่งกระแสไฟฟ้าผ่านไปยังที่ต่างๆได้ ดูจากแผนภาพด้านล่างนี้นะครับ
จากภาพข้างต้นจะเห็นได้ว่า กระแสไฟฟ้าจะถูกส่งผ่านต่อมาเป็นช่วงๆ โดยมีการลดหลั่นค่าแรงดันไฟฟ้าลงมาเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงบ้านเรานั่นเองครับ และส่วนนี้เองที่เราจะมาพูดถึงกันต่อไปครับ
นั่นจึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราเห็นเสาไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ เพราะต้องรองรับสายไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ ตามขนาดที่รองรับแรงดันไฟฟ้าที่แตกต่างกันนั่นเอง ตามภาพด้านล่าง
หม้อแปลงไฟฟ้าทำงานอย่างไร
จากภาพในส่วนที่แล้วเราพอทำความเข้าใจถึงระบบการส่งกระแสไฟฟ้าจากแหล่งผลิตมาสู่บ้านเราได้บ้างแล้ว คราวนี้มันจะมีจุดหนึ่งที่อยากให้เราได้รู้คือ การปรับแรงดันไฟฟ้า ซึ่งจากภาพนั้นเราจะเห็นว่ามีการปรับแรงดับไฟฟ้าเป็นช่วงๆ ลดลงมาเรื่อยๆ จนถึงช่วงสุดท้ายที่จะเข้าบ้านเรือนเรานั้นก็เป็น แรงดันไฟฟ้า 220 โวลต์ นั่นเอง และการปรับแรงดันไฟฟ้าแบบนี้มันมีอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่ของมันนั่นคือ หม้อแปลงไฟฟ้า นั่นเองครับ
ดูจากรูปทรงของมันแล้วพอจะบอกคร่าวๆได้ว่า มันมีหลากหลายขนาด ตามการรองรับแรงดันไฟฟ้าที่มีขนาดที่แตกต่างกัน หลักการพื้นฐานของหม้อแปลงไฟฟ้ามันทำหน้าที่ในการรับไฟฟ้าเข้าทางหนึ่งด้วยแรงดันไฟฟ้าค่าหนึ่ง แล้วออกอีกทางหนึ่งด้วยแรงดันไฟฟ้าอีกค่าหนึ่ง โดยที่หลักการทำงานของมันอาศัยกฎทางฟิสิกส์อยู่ข้อหนึ่งนั่นคือ กฎของฟาราเดย์ (Faraday’s Law) ว่าด้วยหลักการของแม่เหล็กไฟฟ้า ก่อนจะไปดูการทำงานของมัน เรามาดูโครงสร้างภายในของมันกันก่อนครับ
ส่วนประกอบของหม้อแปลงไฟฟ้า
ภาพข้างต้นนี่คือ หม้อแปลงไฟฟ้าแบบน้ำมัน ซึ่งมันจะมีอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า หม้อแปลงไฟฟ้าแบบแห้ง แต่โดยภาพรวมหลักการทำงานของมันเหมือนกัน แตกต่างกันตรงระบบการระบายความร้อนเป็นหลัก
อธิบายคร่าวๆ เป็นภาษาอย่างง่ายคือ กระแสไฟฟ้าแรงดันค่าหนึ่งเมื่อไหลเข้ามาสู่ขดลวดที่รับกระแสไฟเข้า เรียกว่า ขดลวดตัวนำปฐมภูมิ ซึ่งจะเป็นขดลวดที่พันแกนเหล็กแผ่นบางๆ ที่ซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ จากนั้นจะมีขดลวดอีกชุดหนึ่งซึ่งจะมีจำนวนรอบที่พันแกนเหล็กด้านนี้ไม่เท่ากันกับด้านขดลวดปฐมภูมิ ด้านนี้จะเป็นขดลวดที่เป็นการส่งกระแสไฟฟ้าขาออก เรียกว่า ขดลวดตัวนำทุติยภูมิ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความสามารถในการปรับค่าแรงดันไฟก็ขึ้นอยู่กับ ความสามารถในการรับแรงดันไฟเข้า และจำนวนรอบของขดลวดทั้งสองที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ค่าแรงดันไฟขาออกนั่นเอง ผมไม่ลงรายละเอียดสูตรฟิสิกส์นะครับ แต่จะอธิบายอย่างง่ายๆ คือ ตามกฎของฟาราเดย์ (Faraday’s Law) ว่าด้วยหลักการของแม่เหล็กไฟฟ้า เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านขดลวดปฐมภูมิที่พันเข้ากับแกนเหล็ก มันจะเกิดเป็นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเหนี่ยวนำ ผ่านไปสู่ขดลวดทุติยภูมิที่พันเข้ากับแกนเหล็กที่อีกฝั่งหนึ่งได้ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงแรงดันไฟฟ้า มันจึงเกิดเป็นความสัมพันธ์กันระหว่าง กระแสไฟฟ้าเข้า แรงดันไฟฟ้าเข้า จำนวนรอบของขดลวดที่พันแกนเหล็กของทั้งสองฝั่ง กระแสไฟฟ้าออก และแรงดันไฟฟ้าออก นั่นเอง เกิดเป็นกระบวนการเหมือนกับการถ่ายทอดพลังงานไฟฟ้า หากแต่อาศัยการเหนี่ยวนำในสนามแม่เหล็กไฟฟ้าแทนการส่งผ่านสายไฟ จึงเป็นข้อดีของการปรับค่าแรงดันไฟได้นั่นเอง
คราวนี้เราก็พอจะเข้าใจหลักการทำงานของมันแล้ว ดังนั้น มันจึงระเบิดไม่ได้อย่างแน่นอน!!! แล้วเสียงตู้ม!!! มันคืออะไร เพราะอะไรกัน เราไปตามกันในหัวข้อต่อไปกันเลยครับ
เสียงที่ดัง ตู้ม!!! คือเสียงของอะไรกันแน่
จากหลักการทำงานของหม้อแปลงไฟฟ้าข้างต้นเราจะเห็นได้ว่า มันไม่มีโอกาสที่จะเรียกได้ว่าระเบิดเลยใช่ไหมครับ เป็นได้มากที่สุดก็แค่ลุกไหม้ จากการที่เกิดกระแสไฟฟ้าเกินเข้าสู่ลวดตัวนำ ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ใช่ทั้งหมด หากย้อนกลับไปดูส่วนประกอบของมันเราจะเห็นได้ว่า มันจะสามารถระเบิดด้วยอะไรได้บ้างดังนี้
น้ำมันระบายความร้อน
หากย้อนกลับไปดูจากหลักการในการปรับค่าแรงดันไฟข้างต้นของมันนั้น การทำงานของมันจะส่งผลให้สภาพแวดล้อมรอบตัวมันในขณะนั้นเกิดความร้อนได้ อันเนื่องมาจากการทำงานโดยอาศัยการเหนี่ยวนำไฟฟ้าจากแม่เหล็กไฟฟ้านั่นเอง คือความร้อนจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการเหนี่ยวนำไฟฟ้าขณะเข้าสู่ขดลวดทุติยภูมินั่นเอง ดังนั้นมันจึงมีส่วนประกอบหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการระบายความร้อนขึ้นมา โดยที่นิยมกันคือ การระบายความร้อนด้วยน้ำมัน พร้อมครีบระบายความร้อนโดยอาศัยน้ำมันในการพาความร้อนออกมาสู่แผงเสื้อหม้อแปลงไฟฟ้าและใช้อากาศในการระบายความร้อนออกจากครีบแผงเสื้อหม้อแปลงนั่นเอง
และส่วนนี้แหละครับที่อาจทำให้มันเกิดการระเบิดได้ อาจจะด้วยสาเหตุบางอย่างเช่น เกิดการลัดวงจร (short-circuit) ภายในหม้อแปลงไฟฟ้า แล้วทำให้น้ำมันระบายความร้อนในหม้อแปลงเกิดความร้อนสูงจนเป็นไอแก๊ส และด้วยโครงสร้างที่เป็นระบบปิดของมัน เมื่อเลยถึงจุดที่เกิดแรงดันไอมากขึ้น ดันน้ำมันส่วนเกินไหลออกไปสู่ถังเก็บน้ำมันสำรองจนเต็มแล้ว มันก็จะสร้างความดันสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ที่เรียกว่า Dynamic Pressure Peak เมื่อเกิดแรงดันที่สูงขึ้นก็ส่งผลให้มันเกิดระเบิดออกมาอย่างรุนแรงได้เช่นกัน
นอกจากนี้ก็ยังเกิดจากตัวน้ำมันเสื่อมสภาพจนความสามารถในการระบายความร้อนลดลง ส่งผลให้เกิดความร้อนสะสมในตัวหม้อแปลงไฟ ก็อาจนำไปสู่การระเบิดของหม้อแปลงได้เช่นกัน
ซึ่งการระเบิดเพราะสาเหตุเหล่านี้นั้นมักจะรุนแรงมากจนเกิดไฟไหม้ที่ตัวหม้อแปลงอย่างรุนแรง เพราะแรงดันที่มากอยู่แล้ว ประกอบกับน้ำมันระบายความร้อนที่ร้อนสูง ทันทีที่ระเบิดออกมาและสัมผัสกับอากาศที่มีออกซิเจนมากที่ด้านนอกมันก็พร้อมที่จะลุกไหม้ได้อย่างรวดเร็วนั่นเองครับ
กระแสไฟเกิน
หากลองสังเกตุตามหม้อแปลงทุกที่ มันจะมีเจ้าตัวที่ยื่นเป็นแขนรับสายไฟเข้ามาสู่ตัวหม้อแปลง ซึ่งเจ้าแขนที่ว่ามันเชื่อมอยู่กับตัวฟิวส์นั่นเองครับ ซึ่งเจ้าฟิวส์นี้ทำหน้าที่ในการป้องกันกระแสไฟฟ้าเกินไหลเข้าสู่หม้อแปลงเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่หม้อแปลง พูดง่ายๆว่า กันหม้อแปลงระเบิดนั่นแหละครับ โดยฟิวส์ที่ว่านี้มีขนาดตามแต่ละโหลดที่ต้องการใช้งาน แล้วแต่ว่าเราจะควบคุมกระแสไฟฟ้าไม่ไห้ไหลเกินเท่าไร การขาดของฟิวส์โดยส่วนใหญ่ฟิวส์ทั่วไปเรามักจะเห็นว่ามันแค่ไหม้ไปเฉยๆใช่ไหมครับ แต่สำหรับฟิวส์ของการไฟฟ้าที่รองรับกระแสไฟฟ้าแรงดันสูงแบบนี้ มันจะแค่ไหม้ไปเฉยๆได้อย่างไรครับ มันต้องดังด้วยถึงจะเหมาะสมกับภาระงานที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ ฮ่าๆๆๆ ตัวเล็กๆ แต่เวลามันขาด มันดังมากครับ ดังจนคนส่วนใหญ่มักจะบอกว่ามันคือ หม้อแปลงระเบิด นั่นเอง การระเบิดของฟิวส์นี้มันจะแค่มีเสียงแต่มันจะไม่ลุกไหม้แต่อย่างใด และการเปลี่ยนทดแทนก็ง่าย ใช้เวลาไม่นาน ดังนั้นส่วนใหญ่เรามักจะเจอกับปัญหาฟิวส์ระเบิดเสียมากกว่า
แล้วทำไมมันถึงต้องระเบิดเสียงดัง เป็นเพราะว่ามันเป็นฟิวส์แรงสูงแบบ K (Type K Fuse Link) หรือเป็นแบบขาดเร็ว นั่นเองครับ อย่าลืมว่ากระแสไฟฟ้าที่เข้ามามันมีแรงดันไฟฟ้าที่สูงมากถึง 12,000 โวลต์ ดังนั้นเมื่อเกิดกระแสไฟเกินก็หมายความว่าแรงดันไฟฟ้ามันมากกว่านั้นไปอีก มันก็ทำให้ตัวฟิวส์ร้อนอย่างรวดเร็วจนของแข็งกลายเป็นไอแก๊ส ดันปะทุปอกกระบอกฟิวส์ออกมาเป็นเสียง ตู้ม!!! เลยนั่นเองครับ
ฟ้าผ่า
ส่วนนี้ถือเป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ จากการเกิดขึ้นของธรรมชาติ เพราะการที่เกิดฟ้าผ่า นั่นหมายถึงเกิดกระแสไฟฟ้าที่มีแรงดันสูงมากๆ มาตกใกล้กับหม้อแปลงจะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้ากระโดดข้ามลูกถ้วย(insulation) ที่ทำหน้าที่เป็นฉนวนกั้นฟิวส์ กั้นกระแสไฟฟ้ากระโดดตามปกติ ลงสู่หม้อแปลงโดยตรงทำให้เกิดกระแสไฟเกินอย่างรวดเร็ว และรุนแรง อย่าลืมว่าฟ้าผ่านั้นสามารถสร้างแรงดันไฟฟ้าได้สูงมากๆ โดยหากเป็นฟ้าผ่าแบบปกติ (ฟ้าผ่าแบบลบ) แรงดันไฟฟ้าก็จะสูงถึงประมาณ 300 ล้าน โวลต์ได้เลยครับ หรือหากเป็นฟ้าผ่าแบบบวก อันนี้จะเกิดแรงดันไฟฟ้าที่สามารถสูงได้ถึง 1,000 ล้าน โวลต์ เลยทีเดียวครับ นั่นจะไม่แปลกใจเลยที่มันสามารถเกิดกระแสไฟฟ้ากระโดดเข้าสู่หม้อแปลง ทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดได้อย่างรุนแรง กรณีการระเบิดแบบนี้ก็มักจะมีไฟไหม้ที่หม้อแปลงตามมาด้วยครับ แต่ส่วนใหญ่ทางการไฟฟ้าก็มีการติดตั้งสายดิน เพื่อป้องกันไฟเกินให้ไหลลงตามสายดินอยู่แล้วครับ กรณีนี้จะเกิดน้อยครั้งจริงๆ ที่มันไม่ทัชกราวด์ลงขั้วหม้อแปลงเลยแบบนี้
ดังนั้นหากวันนี้เราได้ยินเสียงเหมือนระเบิดดังที่บริเวณหม้อแปลงไฟฟ้า เราคงต้องลองสังเกตดูแล้วหล่ะว่ามันเกิดจากสาเหตุอะไร และอะไรที่มันระเบิดกันแน่
สรุป
มีเสียงระเบิดไม่เกิดไฟไหม้ = ฟิวส์ระเบิด (หม้อแปลงทำงานปกติ ใช้เวลาแก้ไขเปลี่ยนฟิวส์ไม่นาน)
มีเสียงระเบิดและมีไฟไหม้ = หม้อแปลงระเบิด (หม้อแปลงเสียหาย ใช้เวลาเปลี่ยนหม้อแปลงนาน)
อ้างอิง
https://workpointtoday.com/หม้อแปลงไฟ-ระเบิดเกิดไฟ
https://salmecpower.com/th/สาระน่ารู้/สาเหตุที่ทำให้หม้อแปลง/
https://www.pdcable.com/transmission-system/
ติดตามเพิ่มเติมได้ที่
สามารถสนับสนุนเราได้ทางช่องทางต่อไปนี้
Lightning network (Tippin Me)
Lightning network (Alby)
Bitcoin
หรือสนับสนุนผ่านช่องทาง Verified creator เพียงแวะชม หรือให้ทริปเราผ่านเว็บบาวเซอร์ Brave