Site icon A Good Many

ทำไมกลางวันจึงไร้ดาว?

sky with cloudy

หลายคนมักชื่นชอบเวลากลางคืนเมื่อยามดวงดาวสุกสกาวอยู่เต็มท้องฟ้า มันสวยงามมากเวลาที่ดวงดาวเฉิดฉายให้เห็นระยิบระยับตัดกับท้องฟ้าสีดำอยู่เบื้องหลังใช่ไหมละครับ แล้วคุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมยามกลางวันจึงไร้ดาว มันขึ้นหรือตกแบบพระจันทร์แบบนั้นหรือเปล่า วันนี้ A Good Many จะพามาไขข้อข้องใจกันครับ

ก่อนอื่นเลยเรามาปรับพื้นฐานความรู้ และความเข้าใจกันก่อนด้วยเหตุการณ์ต่อจากนี้ไปครับ หากเราอยู่นอกโลกของเรา และมองมาจากนอกโลก ณ ที่เราอยู่นั้น เราจะพบว่าโลกเรานั้นกำลังลอยอยู่ท่ามกลางเอกภพอันกว้างใหญ่ เราจะมองเห็นดาวต่างๆมากมายล่องลอยอยู่ท่ามกลางความมืดมิดของเอกภพ และโลกเราก็มีลักษณะเหมือนดาวต่างๆที่เรามองเห็นในท้องฟ้ายามราตรีเช่นกัน

ภาพโดย Comfreak จาก Pixabay

แล้วทำไมเราจึงมองเห็นดวงดาวเหล่านั้นเมื่อเราอยู่นอกโลกกันหล่ะ?

คำตอบง่ายๆเพราะแสงสว่างจากดวงอาทิตย์มันตกกระทบกับพื้นผิวของดวงดาวเหล่านั้นและสะท้อนแสงออกมาอย่างไรหล่ะครับ นั่นมันก็หมายถึง ด้านที่ถูกแสงอาทิตย์ตกกระทบก็จะมีความสว่างออกมาให้เราได้มองเห็น ส่วนด้านที่อยู่หลังก็จะมืดมิดเฉกเช่นยามราตรีของโลกเรา

นั่นแสดงให้เห็นแล้วว่า หากเราอยู่บนดาวใดๆก็ตาม เมื่อเราอยู่ด้านที่หันเข้าสู่แสงอาทิตย์ก็จะเป็นยามกลางวัน และหากเราอยู่ด้านตรงกันข้ามกับที่ว่านั้นก็คือยามกลางคืน เหมือนกับเหตุการณ์การเกิดกลางวันกลางคืนของดาวเคราะห์ที่มีชื่อว่า โลก ของเรานั่นเอง

ซึ่งการที่เรามองมายังโลกนั้นภาพก็ไม่ต่างอะไรกันกับเรากำลังมองดูดวงดาวดวงอื่นๆบนท้องฟ้ายามกลางคืนนั่นหรอกครับ เพราะโลกเราก็จะถูกแสงอาทิตย์ตกกระทบและสะท้อนออกมาเหมือนดั่งดาวอื่นๆเช่นกัน

แสดงว่ากลางวันบนดาวนั้นเราจะเห็นฟ้าเป็นสีฟ้า และกลางคืนฟ้าจะเป็นสีดำเหมือนโลกของเราใช่ไหม?

คำตอบคือ “ไม่ใช่เสมอไปครับ”

แล้วอะไรที่ทำให้มันแตกต่างกัน?

สิ่งหนึ่งที่ทำให้โลกของเราแตกต่างจากดาวดวงอื่นๆ และเป็นสิ่งที่พิเศษมาก นั่นก็คือ ชั้นบรรยากาศ นั่นเองครับ ชั้นบรรยากาศเป็นส่วนที่สำคัญในการห่อหุ้มโลกของเราเอาไว้ ลองจินตนาการถึงผลส้มที่เราเอาไปจุ่มลงในถังผงซักฟอกที่เราตีเป็นฟองไว้สิครับ พอเรายกขึ้นมา ผิวส้มก็เปรียบเสมือนพื้นผิวดวงดาวที่เรายืนเหยียบกันอยู่ ส่วนฟองที่เกาะยึดอยู่กับผิวส้มนั่นก็คือชั้นบรรยากาศนั่นเอง และนั่นคือส่วนสำคัญที่ทำให้เรารับรู้การมีท้องฟ้าสีฟ้ายามกลางวันนั่นเอง

แล้วมันต่างจากดาวดวงอื่นๆอย่างไร?

นั่นจึงเป็นคำตอบของย่อหน้าก่อนหน้านี่ที่บอกว่า ไม่ใช่เสมอไปที่ช่วงเวลากลางวันเราจะเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้า นั่นเอง เพราะด้วยความพิเศษของชั้นบรรยากาศนี่แหละครับ และชั้นบรรยากาศนี่เองที่ทำให้เรายังมีชีวิตอยู่บนดาวเคราะห์ที่มีชื่อว่า โลก หรือดาวดวงนี้ได้ เพราะชั้นบรรยากาศนั้นคือส่วนที่เก็บกักไอน้ำ ความร้อน อากาศ ประจุไฟฟ้าในอากาศ และแก๊สต่างๆเอาไว้ เช่น แก๊สไนโตรเจน แก๊สออกซิเจน แก๊สอาร์กอน แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น นั่นจึงเป็นส่วนสำคัญที่เป็นเสมือนทั้งเกราะป้องกันโลกเราจากรังสีต่างๆในอวกาศ จากพวกดาวตก อุกกาบาต หรือแม้กระทั่งทำหน้าที่ในการดำรงวัฏจักรของฟ้าฝน รวมไปถึงรักษาอุณหภูมิของโลกเราไว้ด้วย อีกอย่างที่สำคัญเช่นกันคือการที่ชั้นบรรยากาศมันกักเก็บสิ่งต่างๆไว้มากมายรวมถึงหนึ่งในนั้นคือ ประจุไฟฟ้านั่นจึงทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างดีโดยการประยุกต์ใช้ให้มันเกิดการสะท้อนคลื่นวิทยุบางช่วง ทำหน้าที่ในการรับ ส่ง สัญญาณวิทยุทำให้เกิดการติดต่อสื่อสารเป็นเครือข่ายวิทยุสื่อสารได้เป็นอย่างดี

แล้วมันทำให้เราไม่เห็นดวงดาวในเวลากลางวันได้อย่างไร?

จากคำตอบที่ว่าเป็นเพราะชั้นบรรยากาศ ในย่อหน้าที่แล้ว ผมจะอธิบายเพิ่มไปอีกว่า การที่เราจะเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้ายามกลางวันได้นั้น เพราะแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกนั้นเมื่อกระทบกับชั้นบรรยากาศก็จะเกิดการกระเจิงของแสง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางแสงที่เกิดจากการเปลี่ยนทิศทางการแผ่ของแสง เมื่อแสงเคลื่อนที่ผ่านตัวกลางที่เป็นสารไม่ใช่เอกพันธ์หรือไม่ใช่สารเนื้อเดียว จะทําให้สารนั้นเปล่งแสงออกมา โดยที่ชั้นบรรยากาศเราอย่างที่บอกไปแล้วครับมันมีทั้งไอน้ำ เมฆ ประจุไฟฟ้า ฝุ่น อะไรสารพัดที่มันถูกกักไว้ในชั้นบรรยากาศ มันก็เป็นเสมือนตัวกลางที่ไม่ใช่สารเนื้อเดียวกันนั่นเอง เมื่อแสงสีขาวจากดวงอาทิตย์ตกกระทบ จึงเกิดการหักเหแสงออกเป็นสีตามความยาวช่วงคลื่นของสีต่างๆโดยที่สายตามมนุษย์เรานั้นสามารถมองเห็นช่วงคลื่นสีของแสงสีขาวที่กระเจิงออกเป็นสีต่างๆอย่างที่เราเห็น รุ้งกินน้ำ นั่นแหละครับ ซึ่งประกอบไปด้วยสี ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง ที่เราเคยท่องกันสมัยเด็กๆนั่นแหละครับ เอาทำความเข้าใจแค่เบื้องต้นเท่านี้พอนะครับ

แสง Wikipedia

โดยที่เมื่อช่วงกลางวันเป็นการกระเจิงของแสงเนื่องจากอนุภาคต่างๆที่มีขนาดเล็กกว่าความยาวคลื่นแสงดังนั้น ท้องฟ้าที่เราเห็นจริงๆแสงมันจะกระเจิงออกมาเป็นสีรุ้งอย่างที่บอกไปข้างต้น แต่ด้วยความที่ว่าแสงสีม่วงที่มีความยาวคลื่นสั้นที่สุดกระเจิงได้ดีที่สุด และสีน้ำเงินจะกระเจิงได้ดีรองลงมา ท้องฟ้าส่วนใหญ่จึงปกคลุมไปด้วยแสงสีม่วงและฟ้า แต่ที่เราเห็นเฉพาะสีฟ้า ไม่เป็นสีม่วง นั่นเป็นเพราะ มันถูกแสดงผลออกมาด้วยเหตุผลที่ว่า สายตาของมนุษย์เรานั้นมีประสาทตาที่รับแสงสีน้ำเงินได้ดีกว่าแสงสีม่วง นั่นเอง และด้วยการที่ท้องฟ้าใสๆ ถูกการกระเจิงของแสงเบี่ยงเบนจนกระจายทั่วชั้นบรรยากาศไปด้วยแสงสีฟ้าที่ตาเรามองเห็นแล้วนั้น จึงปิดโอกาสในการเห็นดาวไปเลยอย่างไรหล่ะครับ ดังนั้นเวลากลางคืนเมื่อเราอยู่อีกฝั่งของดวงอาทิตย์ ท้องฟ้าเราจึงไม่ถูกการกระเจิงของแสงมารบกวน ทำให้เราเห็นทะลุชั้นบรรยากาศใสๆของเราไปจนถึงดวงดาวต่างๆตามที่กำลังแสงของมันส่งมาถึงเรานั่นเอง และแถมอีกอย่างการที่เราเห็นท้องฟ้าเป็นสีส้ม สีแดง เมื่อยามเช้า กับยามเย็นนั้น เป็นเพราะว่าขณะที่ดวงอาทิตย์ กําลังจะขึ้นหรือกําลังตกนั้น เราจะเห็นว่าดวงอาทิตย์เป็นสีแดง ทั้งนี้เนื่องจากขณะนั้น แสงอาทิตย์ต้องเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศเป็นระยะทางไกลจึงจะถึงตาเรา แสงที่มีความยาวคลื่นสั้นได้แก่ สีน้ำเงินและม่วง ซึ่งกระเจิงได้ดีอย่างที่บอกไปข้างต้นจึงกระเจิงไปหมด ทําให้มีเหลือเฉพาะแต่แสงที่มีความยาวคลื่นยาวกว่าได้แก่ แสงสีแดง สีส้ม สีเหลืองเท่านั้น ที่มาถึงตาเรา และเมื่อแสงดังกล่าวตกกระทบก้อนเมฆจะสะท้อนกลับมาสู่ตาเราทําให้ตาเห็นท้องฟ้าเป็นสีโทนแดงแบบนั้นแหละครับ

ความหมายของแสง

สรุป

การที่เรามองไม่เห็นดวงดาวในเวลากลางวันไม่ใช่ว่ามันไม่มี แต่เป็นเพราะว่าเราถูกแสงอาทิตย์ที่กระทบกับชั้นบรรยากาศกระเจิงแสงสีฟ้าเข้ามาสู่ตาเราทำให้เรามองเห็นสีท้องฟ้าเป็นสีฟ้าแทน ซึ่งหากสมมติว่าไม่มีชั้นบรรยากาศและเรายังอยู่ได้ ช่วงกลางวันเราก็จะเห็นว่ามีดาวเต็มท้องฟ้าไปหมด พร้อมๆกับมีแสงจากดวงอาทิตย์เป็นจุดแสงใหญ่ไปด้วย หากอยากเห็นง่ายๆครับ เปิดหนังที่มีเรื่องเกี่ยวกับท่องอวกาศ ฟีลที่เรามองดูท้องฟ้าจะเป็นแบบนั้นเลยครับ

อ้างอิง
Astro N’ Science
ทรูปลูกปัญญา
ความหมายของแสง

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่

สามารถสนับสนุนเราได้ทางช่องทางต่อไปนี้

Lightning network (Tippin Me)

Lightning network (Alby)

Bitcoin

หรือสนับสนุนผ่านช่องทาง Verified creator เพียงแวะชม หรือให้ทริปเราผ่านเว็บบาวเซอร์ Brave


Exit mobile version