ปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ เวลานี้คำว่า “Bitcoin – บิทคอยน์” เป็นหนึ่งในคำที่ได้ยินบ่อยที่สุดแล้วในตอนนี้ อาจจะยังไม่สายเกินไปที่บทความนี้จะนำพาทุกท่านเข้ามาทำความรู้จักกับคำว่า Bitcoin ในทุกแง่มุม เนื้อหาอาจแยกย่อยไปในหลายๆเรื่อง อาจแบ่งบทความเป็นตอนๆไปนะครับ (ในบทความเรื่องนี้ผมขอใช้คำภาษาอังกฤษว่า Bitcoin แทนคำทับศัพท์ว่า บิทคอยน์ ในภาษาไทยแทนนะครับ)
Bitcoin คืออะไร
ถ้าจะให้พูดถึงเรื่อง Bitcoin ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ จะเรียกได้ว่า Bitcoin ถือเป็นสกุลเงินดิจิทัล(Digital currency)ชนิดหนึ่งซึ่งอาศัยปัจจัยในการผลิต ควบคุมการทำงาน และการทำธุรกรรมต่างๆ โดยการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการทำงาน ซึ่งการดำเนินการธุรกรรมต่างๆของ Bitcoin เป็นการทำงานผ่านกระบวนการทางด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาการคอมพิวเตอร์ต่างๆทั้ง
- วิทยาการการเข้ารหัส(Cryptography – เป็นคำมาจากภาษากรีกว่า Kryptos หมายถึงการปิดบังซ่อนเร้น) วิทยาการการเข้ารหัสนี้นำมาใช้เพื่อทำรายการตรวจสอบความเป็นเจ้าของกระเป๋าเงิน(Wallet) หรือเรียกง่ายๆว่าเป็นเสมือนบัญชีธนาคารของเราว่าเรามีสิทธิในการใช้งานบัญชีของเราจริงๆ เราเป็นเจ้าของบัญชีนี้จริงๆ โดยการอาศัยวิทยาการการเข้ารหัสเพื่อทำการปกปิดข้อมูลกุญแจเข้าสู่บัญชีของเรา(Private key) เพราะในการตรวจสอบความเป็นเจ้าของบัญชีของเรานั้นจำเป็นต้องให้ส่วนอื่นๆทำการตรวจสอบต่อไปด้วย ดังนั้นการที่จะให้ผู้อื่นสามารถตรวจสอบความเป็นเจ้าของบัญชีเราได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้ข้อมูลกุญแจที่แท้จริงของเรา จึงต้องอาศัยเพียงข้อมูลกุญแจที่ผ่านการเข้ารหัสเพื่อใช้สำหรับตรวจสอบได้โดยสาธารณะ(Public key) ซึ่งตั้งแต่เริ่มแรกใช้การเข้ารหัสนี้ผ่านระบบที่เรียกว่า ECDSA(Elliptic Curve Digital Signature Algorithm) ต่อมามีการอัพเดตล่าสุดเป็น Schnorr signatures algorithm แล้ว ซึ่งส่งผลให้ธุรกรรมใหม่ๆมีขนาดที่เล็กลงและเพิ่มความเป็นส่วนตัวอีกขั้นหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ถูกนำมาใช้คือส่วนของการตรวจสอบการทำธุรกรรมโดยผ่านการทำงานส่วนของส่วนการกระจายศูนย์ต่างๆ มีทั้งการใช้แฮช(Hashing algorithm) เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของระบบบล็อกเชน หรือนำมาใช้ในการทำธุรกรรมที่ซับซ้อนโดยอาศัยการใช้สคริปต์โปรแกรม(Script hash) ที่ทำหน้าที่เหมือนเงื่อนไขการจ่ายเงิน หรือเงื่อนไขธุรกรรมการเงิน ซึ่งแต่เดิมใช้ P2SH(Pay-to-Script-Hash) ปัจจุบันมีการอัพเกรดมาใช้เป็น MAST(Merklized Alternative Script Trees) หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ Taproot เป็นการทำงานที่อาศัยกระบวนการคล้ายรากต้นไม้เพื่อสร้างเงื่อนไขในการทำงานให้หลากหลายขึ้น นอกจากนี้กระบวนการการเข้ารหัสยังถูกนำมาใช้สำหรับสร้างที่อยู่บัญชีกระเป๋าเงิน(Address) ซึ่งทำหน้าที่ในการบอกตำแหน่งให้ระบบทำรายการบันทึกบัญชีธุรกรรมใดๆก็ตามที่เป็นของเรามายังที่อยู่ที่กำหนดไว้ โดยที่มีเพียงผู้ถือกุญแจ(Private key) คนเดียวเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงรายการธุรกรรมดังกล่าวได้
- เทคโนโลยีบล็อกเชน(Blockchain) เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ Bitcoin นำมาใช้ในการบันทึกธุรกรรม หรือเปรียบเทียบง่ายๆคือเป็นระบบฐานข้อมูลชนิดหนึ่งที่ใช้เพื่อบันทึกบัญชีการทำธุรกรรม โดยการทำงานธุรกรรมต่างๆเป็นการทำงานโดยไร้ศูนย์กลางนั่นคือไม่มีใครคนใดคนหนึ่งที่จะชี้นำ ควบคุม หรือบงการระบบได้เรียกว่าระบบการทำงานแบบกระจายศูนย์(Decentralized) ซึ่งเป็นการทำงานแบบจุดต่อจุดจากต้นทางที่เริ่มทำธุรกรรม และกระจายไปถึงจุดต่างๆของเครือข่าย โดยที่มีการตรวจสอบธุรกรรมตลอดทางจนกว่าขั้นตอนธุรกรรมทั้งหมดจะเสร็จสิ้นและถูกปิดบันทึกลงบนบล็อกเชนนั้นๆ นั่นคือข้อดีของการทำธุรกรรมโดยที่ไม่เชื่อใจใคร ตรวจสอบได้เอง และแก้ไขยากจนแทบเป็นไปไม่ได้เลย (*หมายเหตุ* จะอธิบายรายละเอียดเรื่องนี้ในบทความตอนต่อไป เรื่อง – 51% Attack ของ Bitcoin)
- ส่วนผู้รักษากฎ หรือ จุดต่อเครือข่าย(Network node) เป็นส่วนของผู้ใช้ที่เป็นมนุษย์เป็นผู้ดูแล ซึ่งทำหน้าที่ในการเป็นทางเชื่อมต่อเครือข่ายของระบบ Bitcoin network ทำหน้าที่ในการรับข้อมูลธุรกรรมมาตรวจสอบ และกระจายต่อไปยังส่วนต่ออื่นๆ รวมทั้งทำการบันทึกบัญชีธุรกรรมที่ถูกปิดแล้ว คือธุรกรรมที่เสร็จสิ้นแล้วลงในฐานข้อมูลบล็อกเชนของตนเองเก็บไว้ ดังนั้นการที่เราเป็นจุดต่อเครือข่ายแบบนี้นอกจากจะหมายถึงการเป็นผู้รักษากฎธรรมนูญของ Bitcoin แล้ว ยังหมายถึงเป็นผู้ตรวจสอบและเป็นผู้กระจายข้อมูลธุรกรรมของเครือข่ายอีกด้วยนี่เป็นส่วนสำคัญมากในการมีส่วนร่วมในระบบที่เรียกว่าระบบการทำงานแบบกระจายศูนย์(Decentralized)
จากส่วนกระบวนการทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์เบื้องต้นนั้นจะเห็นได้ว่าการทำงานในรูปแบบของการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจใคร ไม่มีตัวกลาง การต้องตรวจสอบการทำธุรกรรมทุกขั้นตอน การปกปิดตัวตนผู้ใช้งาน การทำงานแบบกระจายศูนย์ หรือกระบวนการต่างๆเหล่านั้น มันเกิดจากกระบวนการศึกษาเรียนรู้ และพัฒนามาอย่างยาวนาน ประกอบกับมีการนำส่วนสำคัญต่างๆมาประติดประต่อกันจนเกิดเป็นระบบดังที่เห็นในปัจจุบัน จริงๆแล้วยังมีส่วนสำคัญในอีกหลายๆส่วนซึ่งเราจะพูดถึงในบทความต่อไปๆ เช่นระบบการขุดคืออะไร ระบบการทำงานแบบมัลติซิกคืออะไร รู้ได้อย่างไรว่า Bitcoin จะมีจำนวนเพียง 21 ล้าน BTC ซึ่งก่อนจะไปถึงตรงนั้น เราลองไปดูจุดกำเนิดของ Bitcoin ก่อนดีกว่าว่ามันมีที่มาอย่างไร แล้วค่อยไปลงรายละเอียดส่วนต่างๆในภายหลัง
กำเนิด Bitcoin
หากจะกล่าวถึงการเกิด Bitcoin อย่างเป็นทางการก็ย่อมต้องอ้างอิงถึงเอกสารอย่างเป็นทางการฉบับหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า White paper โดยที่ฉบับแรกเป็นเอกสารหัวข้อบทคัดย่อที่โพสต์ในอีเมล์ผ่าน the Cryptography Mailing List บนเว็บไซต์ metzdowd.com ซึ่งเป็นของกลุ่ม Cypherpunks พูดถึงในหัวข้อเรื่อง Bitcoin P2P e-cash paper และอ้างอิงไปถึงฉบับเต็มที่เว็บไซต์ https://bitcoin.org/ ซึ่ง Satoshi Nakamoto ได้จดทะเบียนเว็บไซต์ไว้เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2551 นั่นเป็นครั้งแรกที่มีชื่อว่า Bitcoin ระบุอย่างเป็นทางการ
แต่หากจะย้อนกลับไปสักช่วงเวลาหนึ่ง เราจะพบว่า Satoshi Nakamoto นั้นน่าจะมีความสนใจด้านนี้มานานพอสมควรแล้วเพราะโดยที่ก่อนหน้านี้ช่วงวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551 มีเมล์ตอบกลับกันระหว่าง Satoshi Nakamoto กับ Wei Dai ที่พูดถึงงานวิจัยของตัวเองเรื่อง “Electronic Cash Without a Trusted Third Party” ก่อนที่ถัดมาจะเป็นฉบับสมบูรณ์ ด้วยข้อความใหม่ว่า “Bitcoin : A Peer-to-Peer Electronic Cash System” ในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ดังที่กล่าว
ดังนั้นหากจะพูดถึงการกำเนิด Bitcoin แล้ว คงจะเลี่ยงความเป็นมาของระบบการเงิน หรือระบบการแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์ก่อนหน้าที่จะมี Bitcoin ไม่ได้เลย เพราะเราจะเห็นได้ว่าพัฒนาการของ Bitcoin คือระบบที่มันเติมเต็มและแก้ไขปัญหาของระบบเดิมที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็น eCash, b-money, Bit Gold, Hashcash และต่อจากนี้คือเรื่องราวคร่าวๆของระบบที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน Bitcoin ครับ
eCash
ปี พ.ศ. 2526 นาย David Chaum ตีพิมพ์งานวิจัยที่ชื่อ “Blind signatures for untraceable payments” ซึ่งเป็นรูปแบบการเข้ารหัสของการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดความเป็นส่วนตัวในการใช้จ่ายไม่ถูกสอดส่องติดตามหรือแสวงหาผลประโยชน์จากรายการการทำธุรกรรมของเราได้ โดยการใช้ Blind signature ซึ่งเป็นการใช้คีย์ดิจิทัล 2 คีย์ สร้างเป็น key ระหว่างผู้ใช้ นี่เป็นรูปแบบที่มีอิทธิพลอย่างมากในการกำเนิด Public key และ Private key เป็นการใช้งานส่วนเข้ารหัสข้อมูลที่สำคัญบนเทคโนโลยีของระบบ Bitcoin ในเวลาต่อมาที่มีทั้ง ECDSA ในยุคแรกๆ, Schnorr signatures ที่เพิ่มการอัพเดตมาล่าสุด
แถมๆ David Chaum ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกัย Mix-Network ซึ่งเป็นโปรโตคอลที่ใช้กระบวนการสลับ ผสมเครือข่ายแบบสุ่มทำให้ติดตามต้นสายปลายสายได้ยาก นี่เป็นกระบวนการที่ถือเป็นต้นกำเนิดของ Tor เลยทีเดียวเชียวนะ
Hashcash
ปี พ.ศ. 2540 นาย Adam Back ได้คิดค้นกระบวนการพิสูจน์การทำงาน(Proof-of-work) เรียกว่า Hashcash ซึ่งนำมาใช้ในการกำจัด อีเมล์สแปม และการโจมตีแบบ DoS เพราะทั้งอีเมล์สแปมและ DoS ต่างก็เป็นการฟลัดเครือข่ายคือการสร้างข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อให้เกิดความผิดปกติของระบบส่งผลให้ระบบไม่เกิดเสถียรภาพ ระบบล่ม มีช่องโหว่ในการถูกแฝงตัวทำงานเพิ่มเติมได้ อันจะส่งผลร้ายแรงตามมาได้ Adam Back จึงต้องการหาทางรับมือการป้องกันข้อมูลอันตรายมหาศาลพวกนี้ ไอเดียที่นำมาใช้(Proof-of-work) มีหลักการง่ายๆ คือ เช่นก่อนทำการส่งอีเมล์ จะต้องมีการแปะ Hashcash stamp ในส่วนหัวของอีเมล์ก่อน โดยระบบจะต้องให้คอมพิวเตอร์ผู้ส่งคำนวณ Hashcash stamp นั้นก่อนและแปะลงไป จึงจะสามารถส่งได้ ดังนั้นจึงต้องใช้กำลัง CPU และเวลาส่วนหนึ่งก่อนเสมอ ระบบจึงมั่นใจได้ว่ามีการชะลอการส่งข้อมูลออกไปได้ จึงไม่ถือเป็นอีเมล์สแปม ง่ายๆแบบนี้เลย และในทางกลับกันฝ่ายผู้รับก็สามารถตรวจสอบได้ง่ายกว่าโดยไม่ต้องคำนวณใดๆ ทำแต่เพียงสุ่มหาข้อมูลมาเปรียบเทียบจนกว่าจะพบคำตอบ แม้การสุ่มข้อมูลมาจะง่าย ต้นทุนต่ำ แต่ด้วยคำตอบมหาศาลเช่นกัน จึงเป็นวิธีที่ยากในการตรวจสอบเช่นกัน ฟังมาคร่าวๆแบบนี้คุ้นๆไหมครับ ใช่เลยครับ มันคือระบบการขุด(Mining) ของระบบ Bitcoin นั่นเองและหลักการ Proof-of-Work นี่เองที่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการสร้างความแข็งแกร่งของระบบ Bitcoin ที่ทำให้ยากต่อการโจมตี ดั่งมีเกราะคุ้มภัยเป็นความโลภของมนุษย์ที่ต้องการรางวัล(Reward) มาเสริมการทำงานของระบบ ถือเป็นรูปแบบ Game theory ที่น่าสนใจเช่นกัน
แถมๆ ตา Adam Back เองแกเป็น CEO ของ Blockstream นะและมีการทำ Blockstream Satellite network เป็นการกระจาย ฺBitcoin blockchain ผ่านดาวเทียมเสริมความแข็งแกร่งของระบบ และทำให้พื้นที่ที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตสามารถใช้งาน Bitcoin ได้ อีกทั้งยังใช้งานได้ฟรีๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายในระบบอะไร(ยกเว้นค่าอุปกรณ์เสียตังเองนะ 555) ล่าสุดมีการอัพเกรดระบบทำให้มีความเร็วมากกว่าใช้อินเตอร์เน็ตถึง 5 เท่าเลยว่าซ่าน
b-money
Wei Dai ถือว่ามีบทบาทสำคัญเช่นกัน จากข้อความส่วนหนึ่งที่ Satoshi Nakamoto กล่าวอ้างถึงในเอกสาร White paper ของเขา โดยกล่าวถึงรูปแบบการตรวจสอบธุรกรรมโดยที่ไม่ต้องอาศัยตัวกลางที่มีความน่าเชื่อถือ แต่ให้ทำการกระจายข้อมูลออกไปทั้งหมด นั่นคือการทำให้ข้อมูลการทำธุรกรรมทั้งหมดต้องถูกประกาศแก่สาธารณะ และร่วมกันตรวจสอบธุรกรรมเหล่านั้น ถือเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อการเป็นระบบการกระจายศูนย์(Decentralized)
อันที่จริง Wei Dai เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Cryptography มาก่อน โดยเข้าเป็นผู้สร้าง library ของภาษา C++ ที่ชื่อว่า Crpto++ ซึ่งภายหลังนำมาใช้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างการเข้ารหัสข้อมูลของการเงินในระบบของ b-money ซึ่งตีพิมพ์งานวิจัยที่ชื่อ b-money, an anonymous, distributed electronic cash system โดยกล่าวถึงระบบเงินที่ไม่ระบุตัวตน และกระจายระบบ และมีเนื้อหาบางส่วนในนั้นที่กล่าวถึงระบบเงินดิจิทัลสมัยใหม่ซึ่งค่อนข้างตรงกับสิ่งที่ Bitcoin เป็น นั่นคือ “รูปแบบระบบของนามแฝงดิจิทัลที่ไม่สามารถติดตามได้สามารถทำธุรกรรมด้วยกันได้โดยมีเงื่อนไขสัญญาบังคับต่อกันและไม่ต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากภายนอก” บ๊ะ!!! นี่มัน Bitcoin ชัดๆ 555 เดี๋ยวไว้ว่างๆจะมาเล่าเนื้อหาของ bmoney.txt ครับ น่าสนุกดี
Bit Gold
มาถึงคราวของเจ้าตำนานอย่าง Nick Szabo ผู้ที่ถือว่าเป็นคนแรกที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Smart contract อันเป็นแนวคิดสมัยใหม่ของการออกแบบโปรโตคอลที่ใช้สำหรับการสร้างสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างคนที่ไม่รู้จักกันบนอินเตอร์เน็ต แต่เรื่องที่เราจะพูดถึงคือ Bit Gold ครับ Bit Gold ถูกสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นระบบที่เรียกได้ว่าเป็น กลไกสำหรับสกุลเงินดิจิทัลแบบกระจายศูนย์ ที่มีการทำการควบคุมอัตราการเฟ้อของเงินในระบบด้วยการรักษาความมั่นคงของมูลค่า ด้วยความขาดแคลน(Scarcity) โดย Nick Szabo มีแนวคิดเกี่ยวกับการช่วยรักษาเครือข่ายควบคุมการเฟ้อของระบบด้วยการให้รางวัลแก่ผู้ที่แก้ไขสมการบางอย่าง และการแก้ไขปัญหาในทุกๆครั้งจะสร้างสมการใหม่ที่ทำให้เกิดความยากง่ายแปรผันกับการแก้ไขที่ส่งผลให้ถูกรางวัลนั้นๆ ยิ่งถูกง่าย คำถามต่อไปจะยาก ยิ่งถูกยาก คำถามต่อไปจะง่าย แบบนั้นเลย รางวัลที่ว่าคือการสร้างเหรียญใหม่ขึ้นมา นี่คือกลไกการต่อต้านเงินเฟ้อนั่นเอง จีเนียสสุดๆ ใช้คณิตศาสตร์ในการต่อต้านเงินเฟ้อโดยไม่ได้ใช้กระทรวงใดๆควบคุม ป๊าดดด!!!
นอกจากนี้เรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างเดี๋ยวจะเอาไว้เล่าในบทความต่อไปคือเรื่องของ Byzantine fault ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความผิดพลาดบางอย่างในระบบที่เกิดขึ้นไม่ตรงกัน และอาจส่งผลให้ระบบทั้งหมดผิดพลาดไปเลย อันนี้ก็น่าสนใจ
และนั่นคือเรื่องราวทั้งหมดก่อนที่มันจะถูกหล่อหลอมมาเป็น White paper ฉบับนี้ อาจกล่าวได้ว่าสิ่งต่างๆที่เกิดก่อน Bitcoin เหล่านั้น นั่นคือชิ้นส่วนสำคัญที่นำมาสร้าง Bitcoin ให้เป็นไปอย่างทุกวันนี้ ซึ่งเอกสาร White paper นี้นี่เองที่ทำให้แต่ละคนจะได้รู้จักกับพัฒนาการที่สมบูรณ์ของ Bitcoin โดยต่อมามันเหมือนเป็นสิ่งที่ต้องทำก่อนจะมีการสร้างเหรียญใดใดขึ้นมา เป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปเลยทีเดียวหล่ะครับ ซึ่ง White paper ของ Bitcoin นั้นมักจะรู้จักผ่านเว็บไซต์อย่างเป็นทางการอย่าง bitcoin.org ดังที่กล่าวมาเสียมากกว่า และนี่คือเอกสาร White paper ฉบับดังกล่าวครับ
ซึ่งเอกสารดังกล่าวจำนวน 9 หน้านั้นอนุมานง่ายๆว่าถูกโพสต์ในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2551 จากผู้สร้างที่ใช้ชื่อว่า Satoshi Nakamoto และเป็นครั้งแรกที่เราได้รู้จักชื่อ Bitcoin โดยข้อความบางส่วนระบุถึงเรื่องราวสำคัญบางอย่างเกี่ยวกับระบบเงินในปัจจุบัน และเป็นจุดเริ่มต้นแรกในการเริ่มพัฒนาระบบ Bitcoin ขึ้นมาอย่างจริงจัง
หรืออยากอ่าน White paper ฉบับแบบแปลภาษาไทยก็มีนะ bitcoin_th.pdf
แต่ . . . มันจะไม่สมบูรณ์เลยหาก Satoshi Nakamoto เป็นคนเขียนโค้ดเองหมดดังนั้นผู้ที่มีส่วนสำคัญที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยนั่นก็คือ Hal Finney ผู้ซึ่งเป็นคนออกแบบระบบที่เรียกว่า Reusable Proof of work ในปี พ.ศ. 2542 ที่ทำหน้าที่ในการพิสูจน์การทำงานโดยสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ส่งผลให้เกิดระบบที่ประหยัดทรัพยากรที่จำเป็นในการสร้างการพิสูจน์การทำงาน ซึ่งใน Bitcoin นี้ก็มีหลักการทำงานการพิสูจน์ที่ใช้ซ้ำแบบนี้เช่นกัน แต่ไม่ได้ใช้ฮาร์ดแวร์ที่น่าเชื่อถืออย่าง TPM แบบที่ Hal Fenny ใช้ แต่ใช้เป็นการทำงานแบบที่ Adam Back ใช้กับ Hashcash รวมถึงตา Hal Finney นี่คือผู้รัน Bitcoin node รุ่นบุกเบิกอีกด้วย หลังจากเค้าเสียชีวิตไปแล้ว ปัจจุบันศพของเค้าก็ได้ถูกเก็บรักษาโดยการแช่แข็งโดย Alcor Life Extension Foundation
การใช้งาน Bitcoin ในยุคแรก
Block 0
ต่อมาระบบ Bitcoin ถูกพัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์ตามเจตนารมย์ดังใน white paper โดยมีการเริ่มระบบในเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2552 ซึ่งการทำธุรกรรมแรกที่เริ่มบันทึกลง Blockchain คือในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2552 เราเรียกว่าบล็อกนั้นว่า Genesis block ซึ่งเป็นบล็อกหมายเลข 0 โดยที่เป็น Satoshi Nakamoto เองที่เป็นคนขุดคนแรกของระบบ (เพราะการทำธุรกรรมครั้งแรก ไม่มีการสร้างยอดเงินขึ้นมาทำรายการก่อน จึงต้องใช้วิธีการขุดหาในระบบแทน) ซึ่งยืนยันว่าได้ทำธุรกรรมและขุดจริงๆในวันนั้น โดยปรากฎเป็นข้อความหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นตอนที่ทำธุรกรรมคือ ข้อความว่า
04ffff001d0104455468652054696d65732030332f4a616e2f32303039204368616e63656c6c6f72206f6e206272696e6b206f66207365636f6e64206261696c6f757420666f722062616e6b73
ซึ่งเป็น Hex code และถอดออกมาเป็นข้อความตัวอักษรได้ว่า
ÿÿEThe Times 03/Jan/2009 Chancellor on brink of second bailout for banks
และข้อความดังกล่าวนี้เองที่เป็นข้อความที่ยืนยันได้ว่า Satoshi Nakamoto ทำการขุดวันนั้นจริงๆ เพราะเป็นข้อความที่ได้มาจากหนังสือพิมพ์ The Times ในวันนั้นจริงๆดังเอกสารหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ด้านล่างนี้
และแน่นอนว่าเขาได้รับ Bitcoin เป็นรางวัลในการขุดครั้งแรกเป็นจำนวน 50 BTC(แต่ใช้ไม่ได้ซะงั้น เดี๋ยวมาเล่าให้ฟังว่าทำไม 555)
Peer-to-Peer Bitcoin network
ต่อมาวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2552 มีการเปิดไคลเอนต์ Bitcoin node ครั้งแรกโดย SourceForce.com ถือเป็นการเริ่มระบบ Bitcoin อย่างเป็นวงกว้างในครั้งแรกเลย เพราะแต่เดิมมีแต่เพียงทีมงานดั้งเดิมเท่านั้นที่รัน Bitcoin node นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ถูกรันโดยคนนอกที่ไม่เกี่ยวกับกลุ่มผู้พัฒนาเริ่มแรก
First Bitcoin recipient
และวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2552 Block ที่ 170 ได้ถือว่าเป็นธุรกรรมการใช้จ่าย Bitcoin ครั้งแรกโดยที่ Satoshi Nakamoto ส่ง Bitcoin จำนวน 10 BTC ให้กับ Hal Finney ผู้ซึ่งเป็นเหมือนผู้สนับสนุนวงการ Bitcoin คนแรกๆเพราะเขาเป็นคนที่ช่วยออกแบบ Bitcoin ในช่วงแรกๆเลยก็ว่าได้ ดังนั้นตา Hal Finney เลยกลายเป็นตำนานผู้รับ Bitcoin เป็นคนแรกในโลกเลยหลังจากนั้น แถมยังมีคนเชื่อว่าเค้านี่แหละคือ Satoshi Nakamoto อีกด้วย เพราะหลังจากที่ตาคนนี้แกเสียชีวิตไป Satoshi Nakamoto ก็เงียบหายไปจากบอร์ดที่พูดคุย Bitcoin Forum รวมถึงหายไปจากทุกช่องทางติดต่อเลย และไม่มีใครรู้ความเคลื่อนไหวอีกเลยหลังจากนั้น เอ๊ะ!! น่าสงสัยๆ อิอิ
The first retail transaction a.k.a the Bitcoin Pizza Day
10,000 BTC คือค่าใช้จ่ายในการซื้อพิซซ่าปาปาจอห์นขนาดใหญ่ 2 ถาดของโปรแกรมเมอร์ที่ชื่อ Laszlo Hanyecz ซึ่งจ่ายให้กับ นาย Jeremy Sturdivant ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งมูลค่า ณ ขณะนั้นคือ $40 หรือประมาณ 1,300 บาทเลขกลมๆ แต่หากเป็นมูลค่าปัจจุบัน ณ ขณะที่เขียน(วันที่ 24/2/2565 ซึ่งราคากำลังดิ่งลงหนักมาก) ก็จะมีมูลค่าประมาณ 11,797,179,600 บาท (หนึ่งหมื่นสองพันล้านบาทตีเลขกลมๆไป ป๊าดดดดดดดดด) และเรื่องตลกกว่าคือ ถัดมาอีก 8 ปี คราวนี้นาย Laszlo Hanyecz ซื้อพิซซ่าแบบเดิมและจ่ายด้วย Bitcoin เช่นเดิมแต่ว่า จ่ายเพียง 0.00649 BTC มูลค่าขณะนั้นคือ $62 หรือประมาณ 2,000 บาท (เสียดาย 10,000 BTC เมื่อ 8 ปีที่แล้วเลยไหมหล่ะ 555)
A major vulnerability
วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553 มีการตรวจพบช่องโหว่สำคัญในโปรโตคอลของ Bitcoin คือการเกิด Overflow ของค่าผลรวมระหว่าง Input และ Output เกินกว่าค่า 264 ทำให้ธุรกรรม Output สามารถใส่จำนวน Bitcoin ได้ไม่จำกัด เพราะโดยปกติระบบจะมีการตรวจสอบ UTXO อยู่แล้วว่า Output จะต้องไม่เกิน Input แต่ค่าที่นำมาใช้ประโยชน์นั้นมันเกินช่วงเมมโมรี่ของระบบอันเกิดจากการตั้งค่าตัวแปรบางส่วนผิดพลาดตั้งแต่แรก ซึ่งภายหลังถูกนำไปใช้ประโยชน์ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553 โดยมีธุรกรรมหนึ่งที่ทำขึ้นด้วยการโอน 0.5 BTC ไปยังกระเป๋าเงิน 2 Address รายการละ 92,000,000,000 BTC รวมเป็นจำนวน 184,000,000,000 BTC ซึ่งเกินกว่าที่พึงมีคือ 21,000,000 BTC แต่ทำไมถึงทำสำเร็จ? เดี๋ยวจะอธิบายบอกในบทความตอนต่อไปครับ อิอิ แต่เอาเป็นว่าไม่นานหลังจากเกิดเหตการณ์นั้นธุรกรรมดังกล่าวก็ถูกตรวจพบว่าเกิดความผิดปกติและได้ถูกแก้ไขในเวลาต่อมาโดยการอัพเดต Bitcoin เวอร์ชั่นใหม่ พออัพเดตระบบใหม่ มีการขุดด้วยนักขุดที่ใช้โปรโตคอล Bitcoin ตัวใหม่ สายเดิมที่ตัวบล็อกนั้นเกาะอยู่ก็หลุดไปเพราะมีการตรวจสอบธุรกรรมใหม่และเกิดการสร้างสายใหม่เกิดขึ้นเป็นสายธุรกรรมบล็กเชนที่ถูกต้องนั่นเอง นี่คือ บล็อกเชน มันเป็นแบบนี้ 555
เอาหล่ะครับ พอหอมปากหอมคอไปกันบ้าง เกี่ยวกับการกำเนิด Bitcoin และลำดับเหตุการณ์คร่าวๆหลังจากนั้นบางส่วน ซึ่งบทความนี้ใช้เวลาเขียนตั้ง 6 วัน 555 เพราะว่าข้อมูลเยอะมาก รวบรวมแต่ละที่ๆมาเรียบเรียงอีกทีหนึ่ง รวมถึงต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกเยอะเลย ว่าจะเขียนนิดๆหน่อยๆกับกลายเป็นออกมายาวกว่าที่ตั้งใจไว้อีก เขียนไปยิ่งสนุก ยิ่งมันส์เลยแหละ นี่หักห้ามใจไว้เยอะจริงๆยังมีเรื่องที่อยากจะสอดแทรกไปอีกหลายเรื่องราวเลย แต่เอาเป็นว่าคอยติดตามบทความต่อไปเรื่อยๆ พยายามจะเอาสิ่งที่ขาดๆหายๆในบทความนี้มาแยกย่อยเจาะไปเป็นเรื่องๆไปก็น่าสนุกเหมือนกันครับ
บทความต่อไปที่เราจะพูดถึงคือ การทำงานของระบบ Bitcoin รอติดตามได้เลยครับ
อ้างอิง
Bitcoin – Open source P2P money
Hal Finney (computer scientist) – Wikipedia
ติดตามเพิ่มเติมได้ที่
สามารถสนับสนุนเราได้ทางช่องทางต่อไปนี้
Lightning network (Tippin Me)
Lightning network (Alby)
Bitcoin
หรือสนับสนุนผ่านช่องทาง Verified creator เพียงแวะชม หรือให้ทริปเราผ่านเว็บบาวเซอร์ Brave