Nostr คืออะไร

อันดับแรกเลย Nostr นั้นอ่านว่า นอส-เต้อ ใช่ครับ มันจะออกเสียงเอ้อที่คำท้ายด้วย ส่วนจะเพราะอะไรนั้นเดี๋ยวเราค่อยเข้าไปติดตามในเนื้อหาด้านในกันดีกว่า หลายคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารด้านเทคโนโลยี เมื่อเปิดมาเจอบทความนี้อาจจะงงเป็นไก่ตาแตกว่า Nostr คืออะไร แบบไหน อย่างไร และมันเกี่ยวอะไรกับไอ้นกซิ่งตัวนั้นกัน ฮ่าๆๆ เดี๋ยวก่อนครับ อย่าเพิ่งปิดหน้านี้แล้วหนีไปไหน ขอผมบอกสั้นๆเกี่ยวกับประโยชน์ของมันก่อน ที่ผมจะพูดก็คือ

Nostr กำลังคืนอำนาจของคุณบนอินเตอร์เน็ตให้กลับมาอยู่ในมือคุณอย่างแท้จริง 
โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาความเชื่อใจจากเจ้าของบริษัทใหญ่ๆที่หวังเอาประโยชน์จากข้อมูลของคุณอีกต่อไป รวมไปถึงไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาปิดกั้นข้อมูลนั้นของคุณ หรือสามารถแบนคุณออกจากระบบของเค้าได้อีก พูดง่ายๆ มันคือสิ่งที่ควรเป็นของ Social platforms ต่างๆ แต่มันไม่เป็นอย่างนั้นในปัจจุบันนั่นแหละ

ฮั่นแน่ๆๆ เริ่มสนใจแล้วใช่ไหม ไอ้เจ้านกซิ่งมันก็มีดีเหมือนกันนะ ว่าแต่ อยากรู้ความเป็นมาของไอ้เจ้านกซิ่งนี่แล้วใช่ไหมครับ มาเรามาติดตามดูกันว่ามันมีต้นกำเนิดมาจากอะไร

Nostr คืออะไร

Nostr ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยผู้ใช้ที่ชื่อว่า fiatjaf ในปี ค.ศ. 2019 แน่นอนว่าจุดประสงค์ของการพัฒนามันขึ้นมาคือการต่อต้านการถูกเซ็นเซอร์นั่นเอง Nostr นั้นย่อมาจากคำว่า Notes and Other Stuff Transmitted by Relays แค่ชื่อก็สามารถระบุได้คร่าวๆแล้วว่ามันคือการส่งโน็ตบันทึก(ข้อความ) หรืออะไรอื่นๆผ่านการทำงานของรีเลย์นั่นเอง ขยายความให้เข้าใจง่ายๆก็คือ Nostr น้ันถูกออกแบบมาให้เป็น Protocol แบบเปิด(คือเป็น Opensource ที่ใครๆก็สามารถนำไปพัฒนาต่อได้)ของการทำงานในการส่งสิ่งต่างๆผ่านการทำงานของรีเลย์ รูปแบบง่ายของมันที่เราเห็นได้ชัดเจนเลยนั่นคือการทำงานของ Social Network ของค่ายต่างๆ เช่น Facebook, Twitter ฯลฯ ที่พอเราพิมพ์ข้อความส่งไป ข้อความนั้นจะถูกจัดเก็บบนฐานข้อมูลของเครือข่ายนั้นๆ แต่ Nostr จะแตกต่างกันตรงนี้ โดยที่การทำงานของมันนั้นเคลมการทำงานไว้ว่าเป็น protocol เครือข่ายโซเชียลระดับโลกที่มีความสามารถในการต่อต้านการเซนเซอร์ได้ทุกอย่าง แต่จะเพราะอะไรนั้นเดี๋ยวเราค่อยตามไปอ่านกันครับ

ก่อนจะไปทำความรู้จัก Nostr เราพบกับอะไรมาก่อน

แน่นอนว่าหากจะพูดถึงการรับส่งข้อความต่างๆในปัจจุบันนั้นเรียกได้ว่ามีหลากหลายผู้เล่นเหลือเกินในตลาดนี้ หากแต่จะระบุให้เข้าใจตามสมัยนิยมเราจะเรียกตลาดนี้ว่า Social platforms ซึ่งก็จะมีผู้เล่นใหญ่ๆที่พยายามเข็ญงานของตัวเองออกมาเพื่อดึงดูดผู้ใช้ให้มากที่สุด ทั้งออกฟีเจอร์ใหม่ๆมาสู้กัน พัฒนาระบบต่างๆมาใช้ร่วมกัน ส่งข้อความได้ แต่งภาพได้ ถ่ายวิดีโอได้ ส่งตำแหน่ง ส่งภาพได้ มีระบบซื้อ-ขายของออนไลน์ได้ อะไรต่อมิอะไรมากมายไปหมด สารพัดชนิดที่แอพหนึ่งจะทำได้นั่นเอง ที่เรารู้จักกันดีก็พวก Facebook Twitter Line Instagram Tiktok Youtube อะไรเหล่านี้ แน่นอนว่ามันก็จะมีผู้เล่นรายใหม่ๆเข้ามาเสมอแต่เจ้าตลาดที่มีผู้ใช้เยอะๆอยู่ก่อนแล้วก็ย่อมได้เปรียบไปโดยปริยาย เอาเป็นว่าให้เข้าใจว่าเราได้เล่นตัวไหน ใช้แอพไหนไปแล้วบ้างก็พอ

แต่ว่าเราเคยสังเกตไหมครับว่า ผู้ใช้ต่างๆเหล่านั้นที่เป็นผู้ใช้ปกติ ไม่ได้เสียเงินใช้ social platforms เหล่านั้นเลยนะ เราใช้กันฟรีๆมาโดยตลอด อย่างผมที่อัพโหลดรูปภาพไปแล้วในอินสตาแกรมเป็นพันๆรูปก็ยังไม่ถูกเก็บเงินแม้แต่สตางค์แดงเดียว หรือพิมพ์ข้อความบ่นนู่นนี่นั่นในทวิตเตอร์เป็นหมื่นๆข้อความก็ไม่ได้เสียเงิน ทักทายกับเพื่อนๆในเฟสบุ๊คก็ไม่ได้จ่ายตังค์ แล้วเค้าเอารายได้จากไหนมาให้เราใช้ได้ฟรีๆหล่ะ

หนึ่งในแหล่งรายได้ของเค้าคืออะไร แน่นอนว่ามันคือทุกๆอย่างที่เรามีและยอมให้เค้าไปแบบไม่ได้คิดอะไรนั่นคือ ข้อมูลของเรานั่นเอง ข้อมูลในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ภาพถ่าย หรือ ข้อความอะไรของเราที่โพสต์ไปนะครับ แต่มันหมายความรวมไปถึงพฤติกรรมต่างๆของเราบนโลก social นั่นเองไม่ว่าจะเป็น การค้นหาข้อมูลต่างๆ การกระทำซ้ำในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง การติดต่อสื่อสาร การเดินทางท่องเที่ยว รูปแบบการใช้จ่าย การกิน การใช้ ที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังมีข้อมูลที่อยู่ในรูปของความเป็นส่วนตัวของเราต่างอีกมากมาย เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่เค้าสามารถเอาไปใช้ได้อยู่แล้วตามความยินยอมที่เราตกลงในการใช้แพลตฟอร์มของเค้านั่นเอง

แล้วทำไมเราถึงต้องกลัวการใช้ข้อมูลเหล่านี้ ภาพด้านล่างนี้จะบ่งบอกทุกสิ่งที่คุณต้องกังวล

หรือถ้ายังไม่สะใจเอาภาพนี้ไป แอพใหม่ล่าสุดของ Meta เจ้าของ Facebook Instagram นั่นคือ Threads แต่ภาพนี้เค้าเทียบกับ Mastodon นะ

ภาพจาก twitter

ทำไมต้องต่อต้านการถูกเซนเซอร์? ใครจะมาเซนเซอร์เรา?

นอกจากข้อมูลต่างๆของเราที่ถูกเค้าใช้ไปหากินอย่างที่บอกข้างต้นแล้ว คำถามนี้คงเจ็บจี๊ดแน่นอนสำหรับ โดนัล ทรัมป์ ที่มีปัญหาจากความปากจ๋อยของตัวเองในปี ค.ศ. 2021 จากกรณีถูกแบนจากสื่อโซเชียลอย่าง Facebook Instagram ถึง 2 ปี และถูกแบนจาก Twitter อย่างถาวร จนเจ้าของใหม่อย่าง อีลอน มัสก์ เพิ่งจะปลดแบนให้ในปี ค.ศ. 2023 นี่เอง จากการถูกแบนดังกล่าว จนสร้างความขุ่นเคืองใจให้เจ้าตัวเพราะถูกแบนในขณะที่ยังเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วยหน่ะสิ เหตุนี้เองเจ้าตัวถึงกับต้องลงทุนสร้างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตนเองขึ้นมาเลยชื่อว่า Truth Social แบบว่านะ คนมันเจ็บใจ

หรือมองไปที่กรณีต่างๆอย่างการถูกปิดกั้นการสื่อสาร หรือข้อความต่างๆในสื่อ social media ต่างๆในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ถูกระบบตรวจจับอัตโนมัติแบนข้อความ หรือข้อมูลที่สุ่มเสี่ยงจะบิดเบือน แม้บางครั้งจะเป็นการแค่แสดงความคิดเห็นต่างๆก็ตาม

หากจะมองถึงในกรณีต่างๆที่เราถูกปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น เราจะเห็นได้ว่า เสรีภาพทางความคิด หรือการส่งต่อข้อมูลของเรานั้นสามารถที่จะถูกปิดกั้น ถูกแบน ถูกเซนเซอร์ได้นั่นเอง แม้สิ่งเหล่านั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม หรือ ไม่น่าเชื่อถืออะไรต่างๆ แต่เราจะตัดสินข้อมูลเหล่านั้นจากอะไร ใครเป็นคนกำหนดในข้อมูลเหล่านั้นว่าสมควรให้เผยแพร่ หรือ เซนเซอร์มัน นี่จึงเป็นสิ่งที่ คนอยากพูด อยากแชร์ข้อมูลต่างๆ โหยหามาโดยตลอดนั่นเอง

หลักการทำงานของนกซิ่ง

หัวใจสำคัญของการทำงานของ nostr เป็นการทำงานในรูปแบบที่ข้อมูลต่างๆถูกทำให้กระจายศูนย์ ดังนั้นส่วนสำคัญที่ต้องพิจารณามีอยู่ด้วยกันสองส่วนนั่นก็คือ

ไคลเอนต์ ที่เป็นระบบการเข้ารหัสข้อมูลและการยืนยันตัวตนผ่านลายเซ็นดิจิทัล รวมทั้งเป็นส่วนที่ผู้ใช้ใช้งาน เรียกง่ายๆให้เข้าใจรวมๆคือ แอพ นั่นแหละครับ แม้มันจะไม่ถูกต้องนักแต่เอาให้เข้าใจคร่าวๆว่าประมาณนี้แล้วกันครับ ส่วนนี้จะทำหน้าที่ในการติดต่อสื่อสารกับทางรีเลย์โดยที่ไคลเอนต์แต่ละตัวก็จะถูกพัฒนามาต่างรูปแบบกันแล้วแต่ทางฝั่งผู้พัฒนาจะมีแนวโน้มพัฒนาไปทางไหน รูปแบบใดนั่นเอง ส่วนนี้นอกจากจะทำการเขียน/อ่าน ข้อมูลต่างๆแล้ว ยังทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อมูลที่รับมาจากรีเลย์ว่ามีลายเซนต์ถูกต้องไหม เชื่อถือได้ไหม และแต่ละไคลเอนต์ก็จะมี public key ของตัวเองเพื่อใช้ในการเผยแพร่ออกสู่สาธารณะได้ หรือให้คนมาติดตามได้ง่าย ไม่ถูกแบนหรือปิดกั้นจากที่ใดๆ

กับอีกส่วนที่สำคัญคือส่วนของ รีเลย์ ที่ทำหน้าที่ในการรับ-ส่งข้อมูลจากไคลเอนต์เท่านั้น อารมณ์ประมาณเซิร์ฟเวอร์ฐานข้อมูลของระบบนั่นเอง ดังนั้นใครที่จะใช้ก็แค่ทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อเข้ามาที่รีเลย์ที่เราต้องการใช้งาน โดยที่รีเลย์แต่ละตัวจะไม่ส่งข้อมูลหากันแต่อย่างใด แต่จะเชื่อมต่อกับไคลเอนต์เพียงอย่างเดียว โดยที่แต่ละรีเลย์ก็จะมีกฎของตัวเองบังคับไว้อีกทอดหนึ่ง การจัดเก็บข้อมูลก็จะถูกประมวลผลและจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบ และไม่เกิดข้อมูลซับซ้อนกันจากการตรวจสอบแบบ Merkle tree

หากจะขยายความแบบละเอียดเกรงว่าจะไม่เข้าใจหนักไปอีกเพราะบทความนี้อยากให้คนที่ไม่รู้เรื่องราวเทคนิคต่างๆก็สามารถอ่านได้ดังนั้นจึงอ้างอิงจากแผนภาพที่คนอื่นเค้าทำมาแล้ว เอามาให้ดูเพื่อให้เข้าใจคร่าวๆดังนี้

ภาพจาก mirror.xyz

หากดูจากแผนภาพดังกล่าวจะพบว่า ราฟาเอล(Raphael) นั้นเชื่อมต่ออยู่กับรีเลย์ 3 ตัวคือ A B และ D หากราฟาเอลทำการส่งข้อความว่า “สวัสดี A Good Many” ออกมา จะทำให้ข้อมูลดังกล่าวส่งต่อมาที่รีเลย์ที่เชื่อมต่ออยู่ทั้งสามตัวพร้อมๆกัน คราวนี้เรามาดูที่ผู้ใช้อื่นในฝั่งด้านขวามือ

User A นั้นทำการเชื่อมต่ออยู่กับรีเลย์ A และ C แน่นอนว่ามีการเชื่อมต่อกับรีเลย์ตัวเดียวกันกับราฟาเอลด้วย ดังนั้น User A จึงสามารถที่จะติดต่อกับราฟาเอลได้ จึงเห็นข้อความ “สวัสดี A Good Many” ได้เช่นกัน

สำหรับ User B นั้นทำการเชื่อมต่ออยู่กับรีเลย์ C และ E ซึ่งราฟาเอลไม่ได้เชื่อมต่อที่รีเลย์นี้ดังนั้นจึงไม่มีทางที่จะเห็นข้อความของราฟาเอลได้แน่นอน แต่ในทางกลับกันการที่ User B เชื่อมต่อกับรีเลย์ C จะทำให้สามารถติดต่อกันกับ User A ที่อยู่รีเลย์ตัวเดียวกันได้

รูปแบบการทำงานคร่าวๆก็ประมาณแบบนี้ครับ โดยที่มันมีรายละเอียดการทำงานอีกมากมาย ยังไม่ขอพูดในบทความวันนี้แล้วกันครับ เอาไว้ติดตามในบทความหลังๆ อิอิ

ดังนั้นหากจะสรุปสั้นๆให้เข้าใจง่ายๆคือ เรามีข้อมูลบางอย่างและเราจะเผยแพร่ข้อมูลนี้ออกไปดังนั้นวิธีการมันก็คือ เราเอาข้อมูลของเราใส่จดหมายที่ถูกผนึกด้วยกาวสูตรเฉพาะของเราผ่านการทำงานบนไคลเอนต์ของเราเองเพื่อยืนยันในความเป็นเจ้าของข้อมูลฉบับนั้น จากนั้นก็ส่งไปยังรีเลย์ที่ทำหน้าที่คล้ายคลังสินค้า เพื่อจัดเก็บข้อมูลเหล่านั้นลงไป คราวนี้รีเลย์เหล่านี้ก็ทำหน้าที่ของมันคือรับ และส่งจดหมายฉบับนี้ไปมาระหว่างไคลเอนต์ต่างๆด้วยกัน วนเวียนไปเรื่อยๆแบบนี้ตลอด และส่วนของคนที่รับข้อมูลเหล่านั้นก็ทำหน้าที่ในการขอข้อมูลโดยการผูกเชื่อมต่อกับรีเลย์ตัวที่เราสนใจจะรับข้อมูลแค่นั้นเอง

ปักหมุดตัวโตๆ

จะเห็นได้ว่ามันก็งั้นๆสิ มันต้องเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว ระบบการทำงานก็พื้นฐานของระบบการรับส่งข้อมูลต่างๆทั่วไป แล้วมันต่างจากการโพสต์ลง Twitter Facebook หรือคุยผ่าน Line ตรงไหน อ่า … สูตรเด็ดของมันคือตรงนี้ครับ นั่นคือ การกระจายศูนย์ อย่างที่บอกว่า Nostr ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยผู้ใช้ที่ชื่อว่า fiatjaf ในปี ค.ศ. 2019 แน่นอนว่าจุดประสงค์ของการพัฒนามันขึ้นมาคือการต่อต้านการถูกเซ็นเซอร์นั่นเอง ซึ่งการที่มันจะถูกแบน ถูกปิดกั้น ถูกลบโดยใครไม่ได้ก็ต่อเมื่อ มันไม่มีทางตาย หรือ มันมีเยอะมาก นั่นจึงเป็นที่มาของการกระจายศูนย์ข้อมูล แล้วมันกระจายอย่างไร ขอให้ดูแผนภาพด้านล่างนี้นะครับ

ภาพจาก www.researchgate.net

รูปแบบดังกล่าวนี้คือรูปแบบของเซิร์ฟเวอร์ทั่วๆไปที่มีการกระจายศูนย์ แต่เป็นการกระจายในรูปแบบที่เซิร์ฟเวอร์แต่ละตัวคุยกันเองแลกเปลี่ยนปรับปรุงข้อมูลด้วยกันเอง นั่นจึงเป็นจุดอ่อนของการกระจายศูยน์แบบนี้เพราะมีการควบคุมสั่งการจากใครบางคนในการกระจายศูนย์ข้อมูลเหล่านั้นได้ ดังนั้นมันจึงสามารถถูกปิดกั้นได้ ตัดการเชื่อมต่อได้ รบกวนได้ เพราะมีคนคอยควบคุมมันได้นั่นเอง จะแตกต่างจากรูปแบบด้านล่างของ nostr ที่การกระจายข้อมูลไม่ได้เกิดจากเซิร์ฟเวอร์ทำหน้าที่ของมัน แต่เป็นผู้ใช้แต่ละคนที่เข้ามาใช้นั้นช่วยในการกระจายข้อมูลออกไปยังที่ต่างๆ ที่เรียกว่า รีเลย์ แน่นอนว่ารูปแบบนี้หากเรารู้ตำแหน่งที่ตั้งของรีเลย์เราก็สามารถที่จะปิดกั้น ทำลาย หรือ แบนมันออกจากระบบได้ ทว่ารีเลย์ดังกล่าวในปัจจุบันกำลังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆก็พอจะเป็นการยากอยู่ในการค้นหาและจัดการมันซะ หันกลับมาที่ผู้ใช้ ที่บอกว่าเป็นผู้ช่วยในการกระจายข้อมูลต่างๆจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งนั้น แต่ใครไหนเล่าเอยจะสามารถปิดกั้น ทำลาย หรือแบนผู้ใช้ที่อยู่กระจายกันตามพื้นที่ต่างๆทั่วโลกในเวลาเดียวกันได้ เพื่อไม่ให้ทำการกระจายข้อมูลดังกล่าวในช่วงเสี้ยววินาทีได้ เป็นไปได้ยากมากนอกเสียจากดาวโลกนี้จะระเบิดแตกเป็นเสี่ยงๆ เราก็คงไม่ต้องมากังวลเรื่องข้อมูลสูญหายกันแล้วหล่ะ ฮ่าๆๆๆ

ภาพจาก nostr.how

จากแผนภาพดูชุดของรีเลย์ 3 ตัว ให้สังเกตที่รีเลย์ตัวที่ 2 จะเห็นว่า ไคลเอนต์อย่าง Bob Alice และ Mary ต่างก็มีการเชื่อมต่อที่รีเลย์ตัวเดียวกันคือรีเลย์ 2 แต่ Bob และ Alice นั้นเชื่อมต่อทั้งอ่านและเขียน ส่วน Mary นั้นเชื่อมต่อแค่อ่านอย่างเดียว นั่นหมายความว่าอะไร ผมจะอธิบายเป็นการ์ตูนคร่าวๆแบบนี้ครับ

ในรูปแบบการสื่อสารแบบปกติที่ใครๆก็ทำกัน มันจะออกมาในรูปแบบนี้ครับ

  1. Bob ส่งข้อความ
    1.1 เริ่มที่ Bob ส่งข้อความว่า “สวัสดี A Good Many” ออกมา ข้อความนี้จะถูกส่งไปยังรีเลย์ตัวที่ 1 และ 2
    1.2 ที่รีเลย์ 2 เมื่อมีข้อความใหม่เข้ามา ไคลเอนต์ของ Alice และ Mary จะดึงข้อมูลมาอ่านได้
  2. Alice ส่งข้อความ
    2.1 เริ่มที่ Alice ส่งข้อความว่า “สวัสดี A Good Many” ออกมา ข้อความนี้จะถูกส่งไปยังรีเลย์ตัวที่ 2
    2.2 ที่รีเลย์ 2 เมื่อมีข้อความใหม่เข้ามา ไคลเอนต์ของ Bob และ Mary จะดึงข้อมูลมาอ่านได้
  3. Mary ส่งข้อความ
    3.1 เริ่มที่ Mary ส่งข้อความว่า “สวัสดี A Good Many” ออกมา ข้อความนี้จะถูกส่งไปยังรีเลย์ตัวที่ 3
    3.2 ที่รีเลย์ 3 เมื่อมีข้อความใหม่เข้ามา ไคลเอนต์ของ Bob และ Alice ไม่สามารถดึงข้อมูลมาอ่านได้เพราะไม่ได้ทำการเชื่อมต่อที่รีเลย์ตัวนี้นั่นเอง

ซึ่งอย่างที่บอกมันคือรูปแบบปกติทั่วไป แต่ในรูปแบบการสื่อสารของโปรโตคอล nostr ที่บอกว่ามันกระจายศูนย์ ให้พิจารณาเฉพาะในส่วนของรีเลย์ 2 ก็พอ มันจะออกมาในรูปแบบนี้ครับ

Alice ส่งข้อความ
1.1 เริ่มที่ Alice ส่งข้อความว่า “สวัสดี A Good Many” ออกมา ข้อความนี้จะถูกส่งไปยังรีเลย์ตัวที่ 2
1.2 ที่รีเลย์ 2 เมื่อมีข้อความใหม่เข้ามา ไคลเอนต์ของ Bob และ Mary จะดึงข้อมูลมาอ่านได้
1.3 ที่ไคลเอนต์ Bob และ Marry
1.3.1 ที่ไคลเอนต์ Bob เมื่ออ่านข้อความของ Alice แล้วก็จะส่งไปเก็บไว้ที่รีเลย์ 1 ด้วย
1.3.2 ที่ไคลเอนต์ Marry เมื่ออ่านข้อความของ Alice แล้วก็จะส่งไปเก็บไว้ที่รีเลย์ 3 ด้วย

จากรูปแบบดังกล่าว จะเห็นได้ว่าข้อมูลถูกกระจายต่อไปยังรีเลย์ทั้งสามตัวโดยผู้ใช้งาน รีเลย์แต่ละตัวไม่ได้เชื่อมต่อกันโดยตรง ทำให้เกิดการกระจายศูนย์อย่างแท้จริง แล้วมันดีอย่างไร ลองจินตนาการเกิดวันดีคืนดี ข้อมูลของ Alice ที่อยู่ในรีเลย์ 2 ถูกทำลาย หากเป็นรูปแบบเซิร์ฟเวอร์ธรรมดาทั่วไป ก็คงเหมือนถูกปิดปาก ไม่มีใครจะสามารถพบเห็นข้อมูลของ Alice ได้อีก โดยเฉพาะคนที่เชื่อมต่ออยู่กับรีเลย์ 2 ทั้งหมด เพราะอย่าลืมว่า Alice เชื่อมต่ออยู่แค่รีเลย์ 2 ตัวเดียวเท่านั้น แต่หากเป็น nostr ข้อมูลต่างๆของ Alice มันยังอยู่ที่ รีเลย์ 1 ด้วยจากการกระจายไปของ Bob นั่นเอง ทำให้ข้อมูลของ Alice ยังกลับมาบันทึกไว้อยู่ในรีเลย์ 2 ได้อีกครั้งเมื่อถูกกู้คืนขึ้นมา หรือสามารถกระจายต่อไปได้เรื่อยๆตราบเท่าที่ผู้มีข้อมูลของ Alice ชุดนั้นเชื่อมต่อกับรีเลย์อื่นๆต่อไปเรื่อยๆ เพราะอย่าลืมว่ารีเลย์ทำหน้าที่แค่รับส่งข้อมูลเท่านั้น เราไม่สามารถควบคุมการทำงานของรีเลย์ดังกล่าวได้เลย แต่เราหาได้เกรงกลัวการจัดเรียงข้อมูลมั่วซั่วของรีเลย์ไม่เพราะ Markel Tree จะทำให้ระบบมันเติมเต็มข้อมูลส่วนที่ขาดหายไปด้วยตนเองโดยการดึงมาจากคนอื่นๆรอบๆข้างที่มีข้อมูลของ Alice เก็บไว้นั่นเอง นึกถึง P2P ของ bittorrent ประมาณนั้นครับ แต่มันทำอยู่บนรีเลย์

รีเลย์ได้อะไร? คุ้มหรอ?

อย่างที่กล่าวมา social platforms ต่างๆ อยากจะได้ข้อมูลเรามาทำการตลาดหารายได้เข้าบริษัท แต่การทำรีเลย์เราได้ข้อมูลมาทำอะไรได้บ้าง ทั้งๆที่รีเลย์ได้ทุกอย่างที่เป็นข้อมูลครับ คือทุกอย่างที่เราส่งเข้าสู่รีเลย์มันก็จะถูกจัดเก็บไว้นั่นเอง แต่มันเป็นของใคร ข้อมูลนั้นมันเป็นของใครก๊อนนน เพราะสิ่งที่แนบไปมันไม่ใช่ที่อยู่อีเมลเรา ไม่ใช่เบอร์โทร มันคือ public key ที่แสดงว่า npub1mndr23nszjzhzpuqfljlu4zges8g8j669qyecc7mtlclf0ts2j0qyae897 เป็นคนโพสต์ แม้แต่หน้าโปรไฟล์ยังไม่มีอะไรเพิ่มเติมเลยถ้าเราไม่ทะลึ่งไปโพสต์ชี้โพรงให้กระรอก ฮ่าๆๆ แล้วไอ้นั่นมันเป็นใคร สมมติว่าเป็นผม อะเป็นผมจริงๆนี่แหละ 55 รู้แล้วว่าเป็นผมแล้วไงต่อ มันไม่มีที่ให้ขายโฆษณาในไคลเอนต์ รีเลย์ไม่รู้พฤติกรรมของผมว่าผมไปที่ไหน ทำอะไร ซื้ออะไร เพราะข้อมูลที่ถูกจัดเก็บมันคือแบบนี้

{
    "id": "4376c65d2f232afbe9b882a35baa4f6fe8667c4e684749af565f981833ed6a65",
    "pubkey": "dcda35467014857107804fe5fe5448cc0e83cb5a28099c63db5ff1f4bd70549e",
    "created_at": 1673347337,
    "kind": 1,
    "tags": [
        ["e", "3da979448d9ba263864c4d6f14984c423a3838364ec255f03c7904b1ae77f206"],
        ["p", "bf2376e17ba4ec269d10fcc996a4746b451152be9031fa48e74553dde5526bce"]
    ],
    "content": "Hello, A Good Many",
    "sig": "908a15e46fb4d8675bab026fc230a0e3542bfade63da02d542fb78b2a8513fcd0092619a2c8c1221e581946e0191f2af505dfdf8657a414dbca329186f009262"
}

หรือ อยากเข้าไปดูรายละเอียดต่างๆของโค้ดเบื้องหลังจาก nostr ของผมก็ได้ครับ ตาม Link นี้ https://www.nostr.guru

นอกจากบริษัทโฆษณาจะมาเปิด public key เองแล้วผมไปกดติดตามมันถึงจะขึ้นมาให้ผมเห็น อะหารายได้แบบไหน ช่วยกันคิดสิ๊ อิอิ หรือไม่อย่างนั้นบริษัทโฆษณาจะต้องจ้างบริษัทไอทีอื่นๆให้มารวบรวมข้อมูลที่ได้จากรีเลย์นั้นๆมาทำการวิเคราะห์การตลาดเอง นั่นช่วยส่งเสริมการจ้างงานในระบบเข้าไปอีก ฮ่าๆๆ

สิ่งเดียวที่รีเลย์จะหากินกับผู้ใช้ได้คือ บริการ ครับ บริการเก็บไฟล์ไม่จำกัดเวลา บริการเพิ่มปริมาณไฟล์ที่เก็บไว้ บริการแปลงไฟล์(ในอนาคต) บริการเก็บข้อมูลลงบล็อกเชนบิทคอยน์เพื่อให้อยู่ถาวรไปเลย อะไรแบบนี้ ซึ่งถามว่าคุ้มไหม อย่างแรกเลยที่เห็นคือ มันไม่ฟรี ผู้ใช้ที่จะมาใช้แบบฟรีๆ ก็จะเป็นแบบหนึ่งถูกจำกัดอะไรต่างๆนานา คนที่เสียเงินก็จะมีสิทธิพิเศษอะไรอีกแบบหนึ่ง ถามว่าคุ้มไหม ส่วนของรีเลย์น่าจะคุ้มเค้าแหละเค้ามีบริการมาเสิร์ฟให้เรา เราไม่ใช้เค้าก็เอาไปให้บริการอย่างอื่นๆได้ แต่ส่วนของตัวเราลองถามตัวเองว่าการจ่ายเงินเพื่ออะไรบางอย่างมันคุ้มไหม คิดเองจ๊ะ

แต่ แต่ แต่ แต่ตอนนี้มันมีที่เป็นรีเลย์ฟรีไง ฟรีแบบไม่ต้องกังวลเงื่อนไขอะไร แถมไม่มีอะไรรบกวน สำหรับผมก็ใช้ต่อไป ถ้าหากวันหนึ่งเราอยากจ่ายเงินเพื่ออะไรที่ดีกว่าก็ต้องพิจารณา ณ เวลานั้นอีกครั้ง

สรุป

Nostr แม้ตอนนี้จะพัฒนาไปมาก จุดประสงค์ที่สำคัญคือการต่อต้านการถูกเซนเซอร์ยังเป็นจุดแข็งของเขา แต่ยังมีจุดสังเกตที่รีเลย์นั่นเอง เพราะส่วนของรีเลย์อย่างที่บอก มันมีทั้งแบบฟรี และเสียเงินเพื่อแลกกับบริการต่างๆ อาจจะไม่ถูกใจคนที่เคยใช้ social platforms ต่างๆแบบฟรีมาโดยตลอดโดยที่เราไม่รู้เลยว่าเราเอาข้อมูลต่างๆไปประเคนให้เขาเอาไปทำการตลาดหารายได้ใส่บริษัทตัวเองโครมๆอยู่ตลอดเวลา เก็บแม้กระทั่งเวลาชาร์ตแบต เวลานอน ใจร้าย อิอิ แต่แค่รีเลย์ฟรี ก็ไม่ขี้เหล่นะครับ ผมยังไม่เห็นความจำเป็นจะต้องเสียเงินในตอนนี้ ส่วนตัวผมตอนนี้ในบริการอื่นๆใช้วิธี Decloud และ Social Detox ลดการพึ่งพาผู้อื่นโดยการมี NAS เล็กๆเก็บข้อมูลส่วนตัวของตัวเองต่างๆ ไม่ได้ใช้ Google Cloud อย่าง Google Photos Google Docs Google Drive หรือค่ายต่างๆอีกเลยตอนนี้ แถมยกเลิกบริการผูกเบอร์มือถือ จำกัดสิทธิ์แอพต่างๆในมือถือ ปิดแอพ social ไปเยอะละ เว้นแต่ยังต้อง Hosting เว็บนี้นี่แหละที่ยังใช้อยู่ ฮ่าๆๆ

ไปติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆของ nostr ได้ที่นี่เลยครับ https://github.com/aljazceru/awesome-nostr

https://stacker.news/items/186346
ภาพจาก stacker.news

อ้างอิง

https://github.com/nostr-protocol/nostr

https://fiatjaf.com/nostr.html

https://nostr.com/

https://usenostr.org/

https://nostr.how/en/what-is-nostr

https://medium.com/@colbyserpa/nostr-2-0-layer-2-off-chain-data-storage-b7d299078c60

ภาพประกอบจาก https://github.com/SovrynMatt/Nostr-Website-Button-Design

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่

สามารถสนับสนุนเราได้ทางช่องทางต่อไปนี้

Lightning network (Tippin Me)

LN-tippin-me

Lightning network (Alby)

Bitcoin

BitcoinQR

หรือสนับสนุนผ่านช่องทาง Verified creator เพียงแวะชม หรือให้ทริปเราผ่านเว็บบาวเซอร์ Brave

Scroll to Top