ครั้งหนึ่งประเทศไทย : ร้อยละ 46 ของสะแหลกดีบุกที่ผลิตได้ทั่วโลก มาจากถนนในภูเก็ต

ท่านผู้อ่านเคยทราบบ้างไหมครับว่า ในสมัยก่อนประเทศไทยมีแหล่งแร่ที่มีชื่อเสียงมากคือแหล่งแร่ดีบุก ที่ครั้งหนึ่งประเทศไทยเรามีขีดความสามารถในการผลิตแร่ดีบุกส่งออกเป็นสินค้าสำคัญไปทั่วโลก โดยหนึ่งในพื้นที่ที่ทำเหมืองแร่ดีบุกที่สำคัญนั้นคือทางภาคใต้ของไทยเรา จำได้เลยว่าสมัยที่ผมเรียนในระดับประถมศึกษานั้นในโรงเรียนจะมีการสอนวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต(หรือตัวย่อ สปช. – หลักสูตร พ.ศ. 2521 เป็นวิชาที่รวมสังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ และอื่นๆมาสอนรวมกัน – ว๊าย!! รู้สึกแก่) ในตำรายังมีเรื่องเกี่ยวกับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยหนึ่งในนั้นคือแร่ดีบุก แต่พอโตมาถามนักเรียนรุ่นหลังๆ ก็จะไม่มีดีบุกในสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยแล้ว จะเป็นสินค้าทางด้านเกษตรกรรม รถยนต์ หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆแทนเสียมากกว่านั่นเอง

ในปัจจุบันนั้นหลายคนคุ้นเคยกับจังหวัดภูเก็ตในเรื่องของแหล่งท่องเที่ยว ทั้งสถานที่เก่าแก่ในประวัติศาสตร์ ประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน ทะเลสวย น้ำใส ธรรมชาติงาม แหล่งดำน้ำดูปะการัง รวมไปถึงการประมงที่ขึ้นชื่อ แต่หากย้อนกลับไปในวันที่ภูเก็ตยังเป็นจังหวัดเล็กๆจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ของไทยจะพบว่าภูเก็ตไม่ได้มีจุดขายที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างทุกวันนี้

เหมืองแร่ คือสิ่งที่อยู่คู่กับชาวภูเก็ตมาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคน หากจำกันได้เคยมีผลงานภาพยนต์ดีกรีรางวัลสุพรรณหงส์ถึง 3 รางวัลด้วยกันที่พูดถึงการทำเหมืองแร่ที่ภาคใต้นั่นคือภาพยนต์เรื่อง มหา’ลัย เหมืองแร่ เขียนบทและกำกับโดย จิระ มะลิกุล ซึ่งสร้างมาจากหนังสือรวมเรื่องสั้น ชุด เหมืองแร่ ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ แต่ในภาพยนต์แม้จะพูดถึงการทำเหมืองแร่ที่จังหวัดพังงาก็ตาม นั่นก็สะท้อนให้เห็นถึงการทำเหมืองแร่ในบริเวณภาคใต้ของไทยในช่วงสมัยนั้นได้ดี แต่โดยบริบทในวันนี้นั้นเรากำลังมุ่งไปที่การทำเหมืองแร่ที่จังหวัดภูเก็ตเป็นสำคัญ โดยหลักการทำเหมืองก็ค่อนข้างคล้ายกัน แต่ก่อนที่จะไปถึงสิ่งที่สำคัญที่จะกล่าวในบทความเราในวันนี้ เราไปดูข้อมูลของแร่ดีบุกและประวัติการทำเหมืองแร่ดีบุกคร่าวๆของประเทศไทยเราก่อนครับ

มหา’ลัย เหมืองแร่ (The Tin mine)

แร่ดีบุก

แร่ดีบุก

แร่ดีบุก ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Tin และเป็นธาตุเคมีที่มีหมายเลขอะตอม 50 และใช้สัญลักษณ์ในตารางธาตุคือ Sn (มาจากคำในภาษาลาตินว่า Stannum) ดีบุกเป็นโลหะ หลอมเหลวได้ง่าย ถูกอ๊อกซิไดซ์ในอากาศได้ง่าย แต่ทนต่อการกัดกร่อนดีกว่าเหล็ก

คุณสมบัติทางกายภาพของดีบุกแบบแคสซิเทอไรต์ มีดังนี้ เป็นรูปผลึกระบบเททราโกนาล มีระดับความแข็ง 6-7 ทนทานต่อการสึกกร่อนได้ดี ความถ่วงจำเพาะ 6.8-7.1 มีลักษณะความวาวอโลหะแบบเพชรหรือกึ่งโลหะ สีของแร่ดีบุกส่วนมากที่พบมักจะมีสีน้ำตาลดำหรือดำ สีน้ำผึ้ง เหลือง แดง และม่วงคล้ายเปลือกมังคุด

ทวีปเอเชียเป็นแหล่งผลิตดีบุกมากที่สุดในโลก ได้แก่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย สำหรับประเทศไทยนั้นสามารถพบได้ทุกภาคทั่วประเทศแต่จะมีเยอะที่บริเวณภาคใต้นั่นเอง

แร่ดีบุกที่พบในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ แคสซิเทอไรต์ (cassiterite) ซึ่งพบและเป็นแร่เศรษฐกิจเพียงชนิดเดียวที่สามารถมาพัฒนาเป็นแร่ทางเศรษฐกิจได้ มีสูตรทางเคมีคือ SnO2 โดยมีส่วนประกอบของ Sn ประมาณ 78.6% และ O ประมาณ 21.4% ส่วนที่พบในไทยอีกชนิดหนึ่ง คือ สแตนไนต์ (stannite) ซึ่งพบน้อยมากและไม่มีการผลิตในทางการค้า การกำเนิดของแร่ดีบุกในประเทศไทยนั้นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับหินอัคนีแทรกซอนชนิดกรด (acid rock) โดยทั่วไปแล้วจะเกิดอยู่ในสายแร่แบบน้ำร้อนแทรกในหินพวกแกรนิตหรือหินชั้นที่อยู่ข้างเคียง และอาจเกิดเป็นก้อนหรือผลึกเล็ก ๆ ฝังในหินเพกมาไทต์ หินสการ์น รวมถึงในหินแกรนิตที่อยู่ใกล้กับบริเวณเขตสัมผัสกับหินข้างเคียง  เนื่องจากดีบุกเป็นแร่ที่มีความทนทานต่อการสึกกร่อนทางกายภาพสูงเมื่อหินต้นกำเนิดผุพัง จึงมักจะถูกนำพาไปสะสมตามเชิงเขาหรือแอ่งและที่ราบลุ่มต่าง ๆ เกิดเป็นแหล่งแร่ดีบุกแบบลานแร่ (placer) นั่นจึงเป็นที่มาของแร่ดีบุกชนิดแคสซิเทอไรต์นั่นเอง

สำหรับการใช้ประโยชน์ของดีบุกนั้น เนื่องจากโลหะดีบุกมีคุณสมบัติในด้านการทนทานต่อการกัดกร่อนของกรดและสารละลายต่างๆ ไม่เป็นสนิม ผสมเป็นเนื้อเดียวกับโลหะอื่นได้ดี และไม่เป็นพิษต่อร่างกาย จึงถูกนำมาใช้ในการเคลือบโลหะต่างๆ ที่ทำเป็นภาชนะบรรจุอาหารเป็นส่วนใหญ่ ใช้ผสมตะกั่ว เงิน หรือทองแดงเป็นโลหะบัดกรี ผสมกับโลหะอื่นทำภาชนะประดับและศิลปวัตถุต่างๆ เช่น พิวเตอร์และบรอนซ์ ผสมกับเงินและปรอททำสารอุดฟันทางทันตกรรม นอกจากนี้ยังใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์ สารประกอบของดีบุกสามารถใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีกหลายอย่าง ได้แก่ ใช้ในการผลิตแก้วเนื้อทึบ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบ สิ่งทอ กระจกแผ่นเรียบ พลาสติก สีทาบ้าน ยากำจัดพยาธิในสัตว์ ยาสีฟัน และใช้ในการฟอกน้ำตาล เป็นต้น

ประวัติการทำเหมืองแร่ดีบุกในสมัยโบราณ

การทำเหมืองแร่ดีบุกของไทยมีประวัติศาสตร์ที่ปรากฏเป็นหลักฐานขึ้นเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา ตามที่ปรากฏในพงศาวดารของไทย มีบันทึกเหตุการณ์ที่ชาวต่างประเทศเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทย โดยในปี พ.ศ. 2061 พระเจ้ามานูแอลของโปรตุเกสให้คอร์เตเดอโคแอลโล เป็นราชทูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2(หรือที่รู้จักในนาม พระเชษฐา พระราชโอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) มีการอนุญาตให้โปรตุเกสได้รับซื้อแร่ดีบุกจากทางภาคใต้ โดยชาวโปรตุเกสเรียกแร่ดีบุกว่า คาเลี่ยม (Calaem) ซึ่งมีอยู่มากที่เมืองถลาง (Gunsalan) หรือภูเก็ตในปัจจุบันนั่นเอง

เมื่อโปรตุเกสเสื่อมอำนาจลง ชาวตะวันตกชาติอื่นๆ ได้แก่ สเปนและฮอลันดาเข้ามาทำการค้ากับกรุงศรีอยุธยาแทน กรุงศรีอยุธยาขณะนั้นจึงมีการขุดแร่ดีบุกในภาคใต้มากขึ้น โดยชนชาติยุโรปต้องการดีบุกไปทำภาชนะต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ต่อมาใน พ.ศ. 2169 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม ฮอลันดาได้ทำการจัดตั้ง บริษัท ดัสท์อีสท์อินเดียของฮอลันดาขึ้น และได้ตั้งสถานีรับส่งสินค้าที่ปากน้ำเจ้าพระยา เรียกว่า New Amsterdam และยังตั้งสาขาขึ้นที่เกาะภูเก็ตและนครศรีธรรมราช เพื่อทำการค้ารับซื้อแร่ดีบุกของทางภาคใต้โดยเฉพาะ

นอกจากนี้ยังมี ฝรั่งเศส ที่เป็นเป็นชาติตะวันตกอีกชาติหนึ่งที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา โดยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ฝรั่งเศสถือว่ามีอำนาจมากในสมัยนั้น ได้ส่งราชทูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรี โดยราชทูตคนแรก คือ เชวาเลีย เดอโชมอง ได้ทำสัญญาฉบับแรกกับไทย เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2228 โดยมีข้อความในสัญญาระบุอยู่ข้อหนึ่งเกี่ยวกับการค้าแร่ดีบุกที่ภูเก็ต โดยฝรั่งเศสขอให้ บริษัท Compagme Derindis ผูกขาดการค้าแร่ดีบุกที่ภูเก็ตแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งมีราคาซื้อขายแร่ดีบุกในประเทศไทยขณะนั้นตามบันทึกของ เวเรด์ ซึ่งมากับราชทูตเขียนไว้ว่าราคาหาบละ 15 ปอนด์ฝรั่งเศส

ประวัติการทำเหมืองแร่ดีบุกในยุคเริ่มพัฒนาและจัดการโดยรัฐสมัยใหม่

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการทำเหมืองแร่ดีบุกของเราเท่าที่มีการบันทึกก็ย้อนหลังไปราวๆ 500 ปีแล้ว และมีการค้าขายแร่มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่จุดสำคัญที่ทำให้เกิดอุตสาหกรรมอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนั้น เกิดในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 สมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้ตั้ง กรมราชโลหกิจและภูมิพิทยา ขึ้นกับกระทรวงเกษตราธิการ ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434 มีหน้าที่ควบคุมกิจการที่เกี่ยวข้องด้วยแร่และโลหะธาตุ ทั้งประทานบัตรและสัญญาอาทานในการแร่ โลหะธาตุ และภูมิวิทยา ซึ่งคนส่วนใหญ่เรียกกรมนี้ว่า กรมแร่ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2441 ได้ทำการเปิด กองโลหกิจ ที่มณฑลภูเก็ตขึ้นแห่งแรก และในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2444 ก็ได้มีการออก พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ ขึ้น ซึ่งแต่เดิมอาณาเขตประเทศสยาม(ประเทศไทย) นั้นยาวไปจนสุดแหลมมลายู แต่ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงในยุคล่าอาณานิคม คือการที่อังกฤษทำสนธิสัญญากับกรุงสยามมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Anglo–Siamese Treaty 1909 หรือเรียกกันอีกชื่อว่า สนธิสัญญากรุงเทพ (Bangkok Treaty) ในปี พ.ศ. 2452 เป็นสนธิสัญญาการแลกเปลี่ยนดินแดนระหว่างกัน โดยอังกฤษยกเมืองสตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาสให้เป็นของสยาม ส่วนเมืองไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู เปอร์ลิส ให้เป็นของอังกฤษ ส่งผลให้ยุคนั้นมีการดำเนินการอย่างหลากหลายเพื่อทำการจัดการสิทธิ์เหมืองแร่ที่ทับซ้อนกันอยู่ช่วงหนึ่งเลยทีเดียว

การทำเหมืองแร่ในสมัย รัชกาลที่ 6 – จับเข่าเล่าประวัติศาสตร์

เหมืองสูบ เป็นวิธีทำเหมืองในลานแร่ที่สำคัญมากวิธีหนึ่ง เป็นวิธีที่นิยมทำกันแพร่หลายในประเทศไทยและประเทศสหพันธรัฐมลายู ซึ่งผลิตแร่ดีบุกได้มากที่สุดของโลก วิธีทำเหมืองสูบเป็นวิธีการทำเหมืองแล่นที่ดัดแปลง เพื่อทำเหมืองแร่ในที่ที่สภาพภูมิประเทศไม่อำนวยให้ ดังเช่นในแหล่งลานแร่ที่ต้องเปิดทำโดยวิธีเหมืองหาบและเหมืองปล่องมาแล้วในครั้งก่อน โดยก่อนที่จะลงมือทำเหมืองสูบ ผู้ทำเหมืองจะต้องตรวจลองแร่ให้ละเอียด เพื่อทราบระดับของดินดาน ความลึกของดินดานหรือชั้นกระสะจากผิวดิน ลักษณะดินมีหินใหญ่ดินเหนียวมากหรือไม่ และสามารถจะฉีดพังได้สะดวกหรือไม่ และสิ่งที่สำคัญที่สุดมีแร่ดีบุกอยู่ เป็นปริมาณเท่าใด และจะทำเหมืองได้กี่ปี จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนดีหรือไม่ เมื่อเลือกเนื้อที่ที่จะทำเหมืองได้แล้ว ขั้นต่อไปจะต้องพยายามหาที่ตั้งต้นเริ่มทำเหมือง โดยพยายามเลือกตั้งต้นที่จุดซึ่งมีดินดานอยู่ลึกที่สุดและไม่ห่างจากที่ที่จะใช้เป็นที่เก็บขังมูลดินทรายจากการทำเหมือง แล้วทำการสร้างรางล้างแร่(Palong) ขึ้น ตั้งเครื่องยนต์และสูบ (Gravel Pump) ขุดหลุมตรงปลายท่อดูดขึ้นก่อนพอเป็นบ่อสำหรับสูบดินกรวดทรายขึ้น ใช้กระบอกฉีด ฉีดพังดินขยายบ่อให้กว้างออกและลึกลง จนถึงพื้นดินดาน ซึ่งในระยะนั้นบ่อก็ขยายออกเป็นขุมเหมืองกว้างปฏิบัติการฉีดพังหน้าเหมืองมาลงบ่อสูบ เป็นการดำเนินงานเต็มที่ เครื่องยนต์สำหรับสูบดินนั้นอาจจะต้องเลื่อนลงมาตั้งต่ำลงมาในขุมตามเครื่องสูบ (ที่มา – facebook : เหมืองเจ้าฟ้า ตันจิ้นหงวน)

ประวัติการทำเหมืองแร่ดีบุกยุคอุตสาหกรรมแร่

หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้น การพัฒนาในมิติต่างๆ ก็ถูกปรับให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเครื่องมือเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่นำมาใช้แทนแรงงานคน อันจะเห็นได้จากการที่เราสามารถทำให้เกิดขนาดอุตสาหกรรมที่มีขนาดแรงงานเครื่องจักรที่ทดแทนแรงงานคนที่เพิ่มมากขึ้นในยุคต่อมา

เหมืองแร่ก็เช่นกัน การผลิตแร่ที่ต้องใช้แรงงานคนในการขุดหาแร่ถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่ รวมไปถึงการขนส่ง การพัฒนาการขุดแร่ การสำรวจ การบริหารจัดการ การแปรรูปแร่ คัดแยกแร่ ก็ก้าวเข้ามาสู่อุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว ดังตัวอย่างในภาพด้านล่างนี้

เรือขุดดีบุกลำแรกของประเทศไทย พ.ศ.2450 – ศิลปวัฒนธรรม
เรือขุดแร่บนบก – ภูเก็ตสารสนเทศ

อีกสิ่งที่เห็นได้ชัดเลยต่อการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่คือ ย้อนกลับไปสักนิดราวๆปี พ.ศ. 2460 มีการเปิดเหมืองขึ้นมาที่ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต เป็นเหมืองสูบ โดยหลังจากนั้น สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจทรงเสด็จมาทอดพระเนตรกิจการเหมืองที่ตำบลวิชิต และทำพิธีเปิดจ่ายกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าของเหมืองเมื่อ วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2473 เลยได้ชื่อว่า เหมืองเจ้าฟ้า สืบต่อมา ขณะนั้นทรงทราบว่าประเทศไทยไม่มีโรงถลุงแร่ดีบุก แร่ดีบุกที่ขุดได้ส่งไปขายโรงถลุงที่ปีนัง และต้องนำกากสะแหลกดีบุกกลับมาทิ้งที่ไทยเราด้วย เพราะทางโรงถลุงไม่รับกำจัด หรือมีต้นทุนในการกำจัดทิ้งสูงทำให้ผู้ส่งทำเหมืองแร่ดีบุกต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูง บางส่วนจึงนำกลับมาทิ้งที่ไทยเหมือนเดิม สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจจึงมีพระราชปรารภว่าประเทศไทยน่าจะมีโรงถลุงดีบุกเป็นโลหะเพื่อใช้ในประเทศ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเสริมสร้างโอกาสส่วนนี้ให้ประเทศไทยได้ แต่เราก็ต้องรอโอกาสนั้นจนถึงราวๆ ปี พ.ศ. 2506 จึงมีนักลงทุนชาวสหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งบริษัท ไทยแลนด์สเมลติ้งแอนด์รีไฟนิ่ง จำกัด (Thailand Smelting and Refining Co.,Ltd.) เรียกกันย่อ ๆ ว่า ไทยซาร์โก้ (THAISARCO) ที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อดำเนินกิจการถลุงแร่ดีบุก โดยเริ่มเปิดทำการเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 จากนั้นเป็นต้นมาเราจึงเริ่มมีการถลุงแร่ดีบุกในประเทศได้ด้วยตนเอง(แต่เป็นบริษัทต่างชาติ)

สะแหลกดีบุก ของเหลือทิ้งที่กลายเป็นของแพงกว่าแร่ดีบุก

อย่างไรก็ตามการดำเนินการขุดแร่ดีบุกในจังหวัดภูเก็ตก็ดำเนินต่อไปเรื่อยๆจากโบราณนานมาจนกระทั่ง พ.ศ. 2444 ในสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ สมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต ได้มีคำสั่งให้เจ้าของเหมืองแร่ดีบุกนั้น ทำถนนหนทางแลกเปลี่ยนกับการสัมปทานขุดแร่ บรรดาเหมืองต่างๆ จึงได้ขนสะแหลกดีบุก ซึ่งเป็นส่วนกากของเสียหลังจากการถลุงแร่ดีบุกแล้ว โดยที่สะแหลกดังกล่าวหรืออีกนัยหนึ่งคือขี้ตะกรันดีบุกนั้นจะกองทิ้งไม่ได้ทำประโยชน์อื่นใดบริเวณเตาหลอม ซึ่งต้องนำกลับมาจากปีนังด้วย เพราะคนรับถลุงก็ไม่อยากรับกำจัดกากไร้ค่าเหล่านี้ ของเหล่านี้จึงถูกมาถมกองทิ้งไว้ ผู้ต้องการทำเหมืองที่ต้องการประทานบัตรการทำเหมืองจึงนำสิ่งเหล่านั้นมาถมทำถนน หรือบางส่วนก็เอาไปถมที่ดินใช้สำหรับปลูกบ้านเรือนของชาวบ้าน เพื่อแลกกับผลประโยชน์ในการทำเหมืองนั่นเอง ดังนั้นช่วงดังกล่าวทั้งบ้านเรือนประชาชนและถนนแทบทุกสายในเมืองภูเก็ต จึงสร้างทับสะแหลกดีบุกไปโดยปริยาย

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)

ต่อมามีการค้นพบธาตุชนิดใหม่โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนชื่อ Anders Ekeberg ซึ่งเรียกธาตุที่พบว่า แทนทาลัม โดยจะได้มาจากแร่แทนทาไลต์ แทนทาลัมในธรรมชาติจะไม่เกิดอยู่อย่างอิสระ แต่จะแทรกอยู่ในแร่อื่นๆ และมีแทรกอยู่ในดีบุกสูงที่สุด ดังนั้นเมื่อทำการถลุงดีบุกโดยให้ความร้อนแก่แร่ต่างๆ เข้าสู่เตาหลอมแล้ว โดยปกติจะได้แร่ดีบุกออกมา ส่วนที่เหลือจึงเป็นกากที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เรียกว่า สะแหลกดีบุก อย่างที่กล่าว แต่ทว่าแร่แทนทาไลต์ที่ปะปนมากับแร่ดีบุกนั้นมีการทนความร้อนดีกว่าดีบุก จึงไม่สามารถหลอมปนมากับแร่ดีบุกได้ จึงมีบางส่วนไหลปะปนออกไปกับสะแหลกดีบุกนั่นเอง

แทนทาลัม

แทนทาลัม

แทนทาลัม ภาษาอังกฤษ คือ Tantalum เป็นธาตุที่มีหมายเลขอะตอม 73 ใช้สัญลักษณ์ตามตารางธาตุคือ Ta เป็นธาตุโลหะทรานซิชันสีฟ้าเทา ลักษณะแข็ง แข็งแรงเหนียวและดึงเป็นเส้นได้ดีดีมากทนต่อการกันกร่อน จุดหลอมเหลวที่สูง มักพบในแร่แทนทาไลต์ ใช้ทำเครื่องมือผ่าตัด และสามารถฝังในร่างกายมนุษย์ได้เพราะไม่ทำปฏิกิริยาเคมีกับกระแสเลือดในร่างกายมนุษย์ สามารถนำไปสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยานยนต์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์โทรศัพท์ระบบจุดระเบิด เครื่องยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการทหาร อุปกรณ์อวกาศและนิวเคลียร์

อันที่จริงในยุคแรกของการค้นพบธาตุแทนทาลัมแล้วนั้น มนุษย์เรายังไม่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้ว่ามันควรเอาไปทำอะไร จนกระทั่งต่อมาอีกเป็นร้อยปีหลังจากการค้นพบนั้นจึงมีการพัฒนาสร้างประโยชน์จากแทนทาลัมได้และพบว่ามันมีประโยชน์อย่างยิ่งในอุตสาหกรรมสำคัญๆต่างๆ รวมไปถึงความหายากของมันก็ทำให้เกิดเป็นความต้องการแทนทาลัมเป็นอย่างมาก จนมีราคาที่พุ่งสูงขึ้น

ยุคตื่น(แทนทาลัม)ทอง

เหตุการณ์นี้เริ่มขึ้นราวๆ ปี พ.ศ. 2520 ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่รวมถึงผู้ประกอบการเหมืองขนาดเล็กหลายรายเริ่มรู้ถึง คุณค่าของสะแหลกดีบุกว่ามันมาแร่แทนทาไลต์ปะปนอยู่ซึ่งมีราคาสูง อีกทั้งหากนำมาถลุงเป็นแทนทาลัมก็จะยิ่งมีราคาที่สูงกว่าเดิมอีกมาก ชาวบ้านจึงเริ่มทำการขุดดินที่ถมทำบ้านเรือนตนเองเพื่อนำมาขายกันมากขึ้น ต่อมาในราว พ.ศ. 2521 บรรดานายทุนต่างๆ จึงได้ยื่นประมูลต่อทางหน่วยงานราชการขอขุดถนนเก่าๆ ทุกสายในตัวเมืองภูเก็ตโดยมีข้อตกลงว่า เมื่อขุดเสร็จแล้วจะสร้างถนนใหม่ชดใช้ให้ นับเป็นการประมูลที่แปลกประหลาดมาก ประมูลเพื่อขอสร้างถนนให้ใหม่ ลองคิดดูว่ามูลค่าของมันมีค่าเท่าไร เพราะขุดทำถนนให้ใหม่ก็ยังมีกำไรอยู่ดี หรือตามบ้านเรือนที่ปลูกสร้างอยู่ตะกรันสะแหลกดีบุกที่ทับถมกันก็จะถูกรื้อหรือทุบพื้นทิ้งเพื่อขุดเอาขี้ตะกรันดังกล่าวออกไปขาย เกิดเป็นปรากฏการณ์แตกตื่นขี้ตะกรัน หรือสะแหลกดีบุก ทำให้คนภูเก็ตแห่กันขุดถนน หรือแม้แต่ขุดพื้นบ้านตัวเองเป็นการใหญ่ ถึงกับทำให้พื้นถนนทรุด บ้านถล่มจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บกันหลายราย ลองดูราคาแร่โคลัมไบต์–แทนทาไลต์ ที่ในช่วงนั้นมีราคากิโลกรัมละ 60–70 บาทและเมื่อนำมาผ่านกระบวนการถลุงต่อจนได้ แทนทาลัม จะมีราคาสูงกว่าแร่แทนทาไลต์หรือสะแหลกดีบุกประมาณ 40-50 เท่า ทำไมจะไม่อยากขุดถนน ขุดดินถมที่บ้านมาขายกันละครับ และจากข้อมูลในช่วงนั้น ประเทศไทยเป็นแหล่งส่งขายสะแหลกดีบุกสูงถึงร้อยละ 46 ของการผลิตทั่วโลก ซึ่งสะแหลกดีบุกส่วนใหญ่ก็มาจากจังหวัดภูเก็ต สะแหลกดีบุกจึงเป็นสินค้าใหม่ที่ส่งออกและทำรายได้ให้ประเทศจนนำมาสู่การแนวคิดที่จะก่อสร้างโรงงงานถลุงแทนทาลัมในประเทศไทยในเวลาต่อมา เดี๋ยวเราจะมาพูดต่อเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งครับ

หากจำกันได้เรามีบริษัทที่ทำการถลุงแร่ดีบุกในประเทศเราแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2508 นั่นคือบริษัท ไทยซาร์โก้ นั่นเอง มีรายงานเบื้องต้นว่า ไทยซาร์โก้รู้ว่าสะแหลกดีบุกมีราคาก่อนหน้านั้นมานานแล้วและได้ทำการรับซื้อสะแหลกดีบุกเหล่านั้นจากผู้ประกอบการรายน้อยรวมไปถึงชาวบ้านในภูเก็ตในราคาถูกๆ มาหลายปี เพื่อทำการส่งออกไปขายยังต่างประเทศ อย่าลืมนะครับว่าเค้าคือบริษัทรับถลุงแร่ดีบุกที่ผูกขาดอยู่เจ้าเดียวในประเทศไทย ดังนั้นสะแหลกดีบุก ขี้ตะกรันต่างๆจึงตกอยู่กับเค้าหมด จากสถิติที่เปิดเผยโดยกรมทรัพยากรธรณีเฉพาะปี พ.ศ. 2518 บริษัท ไทยซาร์โก้ ส่งสะแหลกดีบุกไปขายเป็นมูลค่า 26.2 ล้านบาท หากคำนวณกลับไปในช่วง 9 ปีก่อนการตั้งโรงถลุง ก็พอจะอนุมานได้ว่าบริษัทนี้น่าจะได้กำไรจากแทนทาลัมไปประมาณ 200–600 ล้านบาท

ปัญหาหลังจากเหตุการณ์ตื่นแทนทาลัมในภูเก็ต

ผลของการต่อต้านการเปิดโรงงานแทนทาลัมด้วยความรุนแรง

หลังจากการแห่ขุดขายสะแหลกดีบุก ไปสักช่วงหนึ่ง ปีถัดมา ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2522 มีกลุ่มนักธุรกิจของภูเก็ต ร่วมกับนายพงส์ สารสิน รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเข้าร่วมถือหุ้นด้วย ได้ขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัท ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ชื่อ บริษัท ไทยแลนด์ แทนทาลัม อินดัสตรี จำกัด โดยมีโครงการก่อสร้างโรงงานจุดประสงค์เพื่อทำการถลุงแร่แทนทาลัม เพื่อจะได้ไม่ต้องส่งไม่ถลุงที่ต่างประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ก่อสร้างจำนวน 120 ไร่ ที่อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ต่อมาปี พ.ศ. 2524 ได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และเพิ่มการลงทุนเป็น 1,000 ล้านบาท จากนั้นจึงทำสัญญาซื้อเทคโนโลยีการผลิตจากบริษัทเยอรมัน และต่อมาได้รับใบอนุญาตให้สร้างโรงงาน ในปี พ.ศ. 2526 และทำสัญญาก่อสร้างกับบริษัทจากอังกฤษ จนการก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2529 แต่โรงงานไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เพราะประสบปัญหาการคัดค้านจากหลายภาคส่วนทั้งในระดับจังหวัดและประเทศอย่างรุนแรงเรื่องความหวาดกลัวต่อสารพิษที่เกิดจากกระบวนการถลุงแร่นั่นเอง ในยุคนั้นต้องถือว่าเกิดเป็นปัญหาบานปลายใหญ่โตจนถึงขั้นเป็นการจลาจลกันเลยทีเดียว สืบเนื่องมาจากในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2529 ตัวแทนจากจังหวัดภูเก็ตได้ขอพบนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้ปิดโรงงานแทนทาลัมภายในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 จากนั้น นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น ได้เดินทางไปยังจังหวัดภูเก็ตในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2529 เพื่อรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น แต่พอถึงจังหวัดภูเก็ต เกิดเป็นการที่กลุ่มผู้คัดค้านการเปิดโรงงานแทนทาลัมได้ต่อต้านและก่อความรุนแรงมากขึ้น ทั้งเผารถยนต์ ลามไปจนถึง เผาโรงงานแทนทาลัมที่ยังไม่ทันได้เปิดใช้งานจนเสียหาย เกิดเป็นความรุนแรงจนต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในจังหวัดภูเก็ตเพื่อควบคุมสถานการณ์ ตำรวจและทหารจึงเข้าเคลียร์พื้นที่โดยใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชน สุดท้ายกลุ่มทุนเจ้าของโรงงานต้องยอมย้ายโรงงานไปยังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองแทน และการจลาจลในครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 2 พันล้านบาทด้วยกัน นอกจากนั้นช่วงระยะหลังมา แร่ดีบุกมีปัญหาราคาดีบุกตกต่ำ จากวิกฤตอุตสาหกรรมดีบุกถดถอยทั่วโลก จนผู้ผลิตหลายรายต้องปิดเหมืองลงเพราะไม่คุ้มทุน ก็ถือเป็นการจบบทบาทการเป็นแหล่งแร่ดีบุกอย่างยาวนานของจังหวัดภูเก็ตไปโดยปริยาย

โรงงานของบริษัท ไทยแลนด์ แทนทาลัม อินดัสตรี จำกัด ถูกเผา

ภูเก็ตที่เปลี่ยนไป

https://www.paiduaykan.com

หากย้อนกลับไปสักช่วงหนึ่งก่อนจะเกิดการต่อต้านโรงงานแทนทาลัมดังที่กล่าวในย่อหน้าที่แล้ว  จะมีแนวความคิดในการก่อสร้างท่าเรือภูเก็ตเกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นท่าเรือหลักด้านชายฝั่งอันดามันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเป็นการขนส่งดีบุกและยางพาราออก รวมถึงสินค้าด้านการประมงระหว่างไทยและต่างประเทศ โดยแนวความคิดดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อราวๆ ปี พ.ศ. 2510 จนกระทั่งได้เข้ากระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าเรือหลายต่อหลายครั้ง สุดท้ายก็ได้ทำการก่อสร้างขึ้นใน ปี พ.ศ. 2527 และเสร็จสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2531 ดังนั้นท่าเรือแห่งนี้จึงใช้เวลาทั้งสิ้นยาวนานกว่า 21 ปี ถึงเสร็จสมบูรณ์ แต่พอช่วงที่เริ่มก่อสร้าง กลับเกิดปัญหาดังที่กล่าวไปแล้วนั้น ประกอบกับช่วงระยะหลังโดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลไทยต่อการเน้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเริ่มเฟื่องฟูมากขึ้น

ท่าเรือภูเก็ต

หลังจากเหตุการณ์เผาโรงงานแทนทาลัมในปี พ.ศ. 2529 รัฐบาลหันมาส่งเสริมการท่องเที่ยวภูเก็ตครั้งใหญ่ จึงกลายเป็นเหตุการณ์ที่พลิกโฉมเศรษฐกิจภูเก็ตจากเหมืองแร่สู่การท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่งผลให้ที่ดินและแรงงานมีราคาสูง พื้นที่การเกษตรกรรมเริ่มลดลง พวกยางพาราที่ฮิตๆ ลดน้อยลงไปมาก และแทนที่ด้วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งห้องพัก โรงแรม สถานบันเทิง การประมงเชิงท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือภูเก็ตมีปริมาณน้อยมากตั้งแต่ท่าเรือเริ่มเปิดดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นก็เป็นเรือนักท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยเยอะสักเท่าไร เพราะส่วนใหญ่มาจากทางฝั่งทั้งหมด การที่มีเรือนักท่องเที่ยวมาจอดเทียบท่าจึงน้อยมาก กลายเป็นท่าเรือที่สร้างมาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และยางพารา ก็กลายมาเป็นสิ่งก่อสร้างที่แทบจะร้างไปเลย มีตัวเลขที่น่าสนใจอย่างหนึ่งครับคือในปี พ.ศ. 2565 นั้น จากการสำรวจจังหวัดภูเก็ตมีสถานประกอบการที่พักที่ได้รับใบอนุญาต 1,758 แห่ง รวมแล้วมีห้องพักกว่า 100,000 ห้องด้วยกันถือว่าเยอะมากเลยทีเดียวสำหรับปริมาณห้องพักของจังหวัดภูเก็ต

หลังจากการพึ่งพาการทำเหมืองแร่ดีบุกมาตลอดหลายศตวรรษ ภูเก็ตในปัจจุบันจึงแปรเปลี่ยนจากสังคมเหมืองแร่ สู่ สังคมท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว เพราะทัศนียภาพและธรรมชาติที่สวยงามหลังจากการฟื้นตัวจากการทิ้งร้างเหมืองได้เปลี่ยนให้ภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีมากจนติดอันดับโลก และทำรายได้ให้กับท้องถิ่นรวมไปถึงประเทศไทยได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท โดยจากข้อมูลก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิดในปี 2562 ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ ซึ่งภูเก็ตทำรายได้ถึง 4.7 แสนล้านบาท อันเกิดจากการมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวถึง 14 ล้านคน ซึ่งแบ่งเป็นชาวต่างชาติ 10 ล้านคน และคนไทย 4 ล้านคน แต่พอช่วงโควิดก็ตามสภาพ การท่องเที่ยวถูกกระทบอย่างหนัก และเพิ่งจะมาฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมานี่เอง

https://www.infoquest.co.th
https://roijang.com/phuket

 มีรายงานของการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตในช่วง 5 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2565 ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคม มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาจำนวน 1,733,119 คน –ครั้ง หากดูเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะอยู่ที่ 404,707 คน-ครั้ง สัดส่วนเพิ่มขึ้นมากเป็นพันเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติพึ่งเดินทางกลับเข้ามา ทำให้มีรายได้หมุนเวียนจากการท่องเที่ยวโดยรวม อยู่ที่ 26,505 ล้านบาทเศษ ส่วนจำนวนห้องพัก 101,221 ห้อง มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 28.27% ก็เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวนั่นแหละครับ

https://roijang.com/phuket

การศึกษาเพิ่มเติม

ปัจจุบันแหล่งเรียนรู้เรื่องการทำเหมืองที่จังหวัดภูเก็ตนั้นมีอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเหมืองแร่เก่าบนเนื้อที่ 400 กว่าไร่ อยู่ที่ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต มีอาคารของพิพิธภัณฑ์ที่สร้างเป็นอาคารของบริษัทเหมืองแร่สมัยนั้น มีรูปแบบศิลปะชิโนโปรตุกีส มีการเรียกอาคารนี้ว่า “อังมอเหลานายหัวเหมือง” ซึ่งเหมาะแก่การเรียนรู้ในการทำเหมืองแร่ของจังหวัดภูเก็ตนี้มาก ใครสนใจลองไปเยี่ยมชมเรียนรู้ได้เลยครับ

อ้างอิง

https://th.wikipedia.org/wiki/แร่ดีบุก

พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต :: Museum Thailand

การศึกษาอายุตะกอนดินและการสะสมโลหะหนักในตะกอนดินพื้นที่อ่าวภูเก็ต(psu.ac.th)

มหา’ลัย เหมืองแร่ – วิกิพีเดีย (wikipedia.org)

แทนทาลัมกับอวสานท่าเรือภูเก็ต – สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (chula.ac.th)

https://www.prachachat.net/

https://www.bangkokbiznews.com/news/1012545

https://roijang.com/phuket/

30 ที่เที่ยวภูเก็ต 2023 ทะเล จุดชมวิว คาเฟ่ จัดให้ครบ
ติดตามเพิ่มเติมได้ที่

สามารถสนับสนุนเราได้ทางช่องทางต่อไปนี้

Lightning network (Tippin Me)

LN-tippin-me

Lightning network (Alby)

Bitcoin

BitcoinQR

หรือสนับสนุนผ่านช่องทาง Verified creator เพียงแวะชม หรือให้ทริปเราผ่านเว็บบาวเซอร์ Brave


Scroll to Top