ถอดรหัส : เปิดมุมมองใหม่ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน(ภูมิหลังความขัดแย้งอย่างยาวนาน)

ณ ขณะนี้ทั่วโลกต่างหวั่นวิตกเกี่ยวกับความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย หรือเรียกสั้นๆว่า รัสเซีย กับประเทศยูเครนเป็นอย่างมาก เพราะตอนนี้กำลังเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงจนต่างฝ่ายต่างใช้กำลังทหารด้วยกันทั้งคู่ จนถึง ณ วันนี้(วันที่ 3/4/2565)วันที่เขียนบทความคือเกิดการดำเนินการตอบโต้ด้วยกำลังทหารกันมามากว่า 39 วัน หรือกว่า 1 เดือนแล้ว เกิดความเสียหายจากการรายงานและการประเมินของสำนักข่าวรอยเตอร์ว่ามีความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 120 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผู้คนได้รับผลกระทบกว่า 10 ล้านคน อาคารสิ่งก่อสร้างถูกทำลายมากกว่า 1,700 อาคาร มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 21,000 คน บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงในเวลาอันใกล้แต่อย่างใด แม้จะมีสัญญาณในแง่บวกเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพมาบ้างแล้วก็ตาม

แน่นอนว่าความขัดแย้งของทั้งสองชาติย่อมเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนแต่จากการค้นคว้าข้อมูลต่างๆนานาก็พอจะอนุมานคร่าวๆได้ตรงกันกับที่อาจารย์ ดร. ชินสัคค สุวรรณอัจฉริย กล่าวถึงในคลิปวิดีโอนี้ คือ ความขัดแย้งที่เหมือนต่างฝ่ายต่างถือเอกสารฉบับเดียวกันแต่ตีความเหมือนเป็นคนละฉบับ เข้าใจกันคนละแบบ ประกอบกับภูมิหลังของทั้งสองประเทศที่ทำให้เกิดความขัดแย้งหยั่งรากลึกลงมากขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

สัมภาษณ์พิเศษ เจาะวิกฤต #ยูเครน ทำไม “ปูติน” ต้องบุก ความจริงอีกด้านที่สื่อตะวันตกไม่พูด:Matichon TV

วันนี้ A Good Many ก็จะมาพาทุกท่านไปเปิดมุมมองอีกด้านหนึ่งของความขัดแย้งนี้ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจผ่านข้อตกลงสันติภาพกรุงมินสค์ ที่น่าจะเป็นประเด็นหลักในเรื่องนี้ แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น เราจะมาเล่าถึงความเป็นไปเป็นมาในอดีตของทั้งสองชาติก่อน เพื่อทำความเข้าใจตั้งแต่ต้นตอความเป็นมาอย่างแท้จริง

จักรวรรดิรุสเคียฟ

หากจะเริ่มต้นก็ย่อมต้องเริ่มด้วยการมีเมืองและมีผู้ปกครองที่มีลายลักษณ์อักษรจดบันทึกรายแรกๆของประวัติศาสตร์นั่นคือ จักรวรรดิรุสเคียฟ ซึ่งมีสายเลือดชาวสลาฟอย่าง กษัตริย์รูลิคที่ 1 แห่งราชวงศ์รูลิค(Rurikids) ที่ปกครองจักรวรรดิรุสเคียฟ ซึ่งมีอาณาเขตส่วนหนึ่งคือบริเวณเมืองเคียฟ ประเทศยูเครนในปัจจุบันยาวไปทางเหนือจนถึงประเทศแถบสแกนดิเนเวียร์ เริ่มต้นราวปี พ.ศ. 1373 นี่เป็นจุดเริ่มต้นทางประวัติศาสตร์เท่าที่มีการบันทึกไว้ ต่อมามีการปกครองเรื่อยมา และก็มีการขยายอาณาเขตไปทางตะวันออกครอบคลุมส่วนหนึ่งของรัสเซียในปัจจุบัน ต่อมามีการย้ายเมืองหลวงจากเมืองเคียฟ ประเทศยูเครนในปัจจุบันสู่เมืองมอสโก ประเทศรัสเซีย ในปัจจุบัน ช่วงราวปี พ.ศ. 1826 นับเป็นการเริ่มต้นความสำคัญของเมืองมอสโก แต่หากจะดูจากแผนที่แล้วจะพบว่า ทั้งเคียฟ และมอสโกนั้นคือพื้นที่ที่อยู่บริเวณใกล้ๆกัน ห่างกันไม่เท่าใดนัก

มหาจักรวรรดิแห่งยูเรเซีย

เดิมทีพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นบริเวณพื้นที่ที่เรียกกันว่า ยูเรเซีย นั้น โดยเฉพาะตอนบนที่เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ถูกปกครองด้วยชนเผ่า หรือกลุ่มเมืองต่างๆมากมาย มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมต่อเนื่องกันมาตลอดในเส้นทางแห่งประวัติศาสตร์ เมื่อชาวมองโกลมาครอบครองดินแดนแถบนี้ และรวบรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรมองโกล ราวๆปี พ.ศ. 1766 ก็ยังเป็นการปกครองที่มีหลากหลายชนเผ่าหลากหลายกลุ่มดำรงชีวิตกันตามเดิม เพียงแต่มีการปกครองที่เกิดเป็นรูปร่างของความเป็นอาณาจักรมองโกลมากขึ้น ต่อมาเมื่อพื้นที่กว้างใหญ่ ยากแก่การดูแล ประกอบกับการเสื่อมอำนาจเรื่อยๆของราชวงศ์มองโกล ก็มีการกำเนิดผู้ปกครองใหม่ๆ เมืองใหม่ๆเกิดขึ้นมา แต่หนึ่งในนั้นที่เห็นได้ว่ามีอำนาจมากคือ ซาร์อีวานที่ 4 แห่งรัสเซีย ผู้ปกครองแห่งอาณาจักรซาร์รัสเซีย ที่เริ่มก่อตั้งขึ้น ราวปี พ.ศ. 2090 เป็นยุคที่น่าเกรงขามมากในสมัยนั้นเพราะ ซาร์อีวานที่ 4 แห่งรัสเซีย มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อีวานผู้เหี้ยมโหด(Ivan the Terrible) ด้วยความเหี้ยมโหดนี่เองที่ทำให้รัสเซียนครรัฐเล็กๆกลายมาเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ รวมไปถึงเรื่องที่ขึ้นชื่อจนเป็นตำนานความโหดอย่างการควักลูกตาของสถาปนิกผู้ออกแบบสร้างมหาวิหารเซนต์บาซิล เพื่อไม่ให้ไปออกแบบสร้างวิหารแบบนี้ให้ใครได้อีก โหดมาก และภาพด้านล่างคือมหาวิหารเซนต์บาซิลที่มีความงดงามมากจริงๆครับ

มหาวิหารเซนต์บาซิล

จักรวรรดิรัสเซีย

การปกครองดำเนินกันไปจากรุ่นสู่รุ่น เมืองก็ขยายอาณาเขตรวมไปถึงการปกครองในราชวงศ์ต่างๆกันมา จวบจนเข้าสู่ราชวงศ์โรมานอฟ ในยุคของ กษัตริย์คู่ ได้แก่ พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 หรือที่รู้จักกันในชื่อ จักรพรรดิปีเตอร์มหาราช ร่วมกันปกครองกับ พระเจ้าซาร์อีวานที่ 5 ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระราชมารดากับพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 นั่นเอง ต่อมาราวปี พ.ศ. 2243 เมื่อเกิดความขัดแย้งใหญ่ จนเข้าสู่ภาวะสงครามระหว่างมหาอำนาจ 2 อาณาจักรได้แก่ อาณาจักรซาร์รัสเซีย กับ จักรวรรดิสวีเดนผู้พิชิตเอสโตเนีย เรียกว่า มหาสงครามเหนือ จากการที่พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 ทำลายข้อตกลงสนธิสัญญาสโตลโบโว โดยการเริ่มรุกรานและยึดเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิสวีเดน การสงครามดำเนินมาอย่างยาวนานจนสิ้นสุดลงเมื่อ พระเจ้าคาร์ลที่ 12 แห่งสวีเดนทรงสวรรคต โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 21 ปี คือจบเมื่อปี พ.ศ. 2264 ส่งผลให้รัสเซียสถาปนาตนเองเป็นจักรวรรดิรัสเซีย ที่มีอำนาจเหนือคาบสมุทรบอลติก ได้ดินแดนเพิ่มขึ้นมากมายรวมถึงการเข้ามามีอิทธิพลในยุโรปมากขึ้น ราชวงศ์สวีเดนสูญสิ้นลง เกิดข้อตกลงผูกมัดต่างๆมากมาย พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 ได้ทรงเปลี่ยนจากอาณาจักรเล็กๆให้กลายเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในโลกในรัชสมัยของพระองค์ มีการขยายดินแดนตั้งแต่ทะเลบอลติกจรดมหาสมุทรแปซิฟิก จนกลายมาเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้รัสเซียกลายเป็นมหาอำนาจต่อยุโรปจวบจนถึงปัจจุบัน

ตราราชวงศ์โรมานอฟ

มีเกล็ดประวัติศาสตร์เล็กๆน้อยๆมาฝากครับ ซึ่งระหว่างการรบนั้นราวๆปี พ.ศ. 2255 หลังจากยึดเมืองโปลตาวา(ยูเครน) มาจากจักรวรรดิสวีเดนได้ พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 ก็ได้ทรงประสงค์ย้ายนครหลวงจากกรุงมอสโกไปยังกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของอ่าวฟินแลนด์เพื่อเป็น “หน้าต่างดูยุโรป” โดยการสร้างพระราชวังเปเตียร์กอฟที่มีสถาปนิกเป็นชาวฝรั่งเศษทำหน้าที่ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง หมู่อาคารพระราชวังดังกล่าวตกแต่งตามแบบสถาปัตยกรรมบาโรกที่ทรงโปรดปราน พระราชวังเปเตียร์กอฟมีความงดงามมากจนได้ชื่อว่าเป็นวังแวร์ซายแห่งรัสเซียเลยทีเดียว ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโก และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเลยครับ

หากจะเจาะให้ลึกลงไปอีกสักนิดจะพบว่า ในมหาสงครามเหนือ ชนชาติที่ร่วมรบกับจักรวรรดิรัสเซียซึ่งถือเป็นฝ่ายพันธมิตรได้แก่ รัสเซีย / เดนมาร์ก-นอร์เวย์ / เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย / คอสแซค(ยูเครน) / รัฐซัคเซิน(เยอรมนี) / ปรัสเซีย / รัฐเบราน์ชไวค์-ลือเนอบวร์ค(เยอรมนี) / บริเตนใหญ่(อังกฤษ)

กับคู่สงครามคือ

จักรวรรดิสวีเดน / จักรวรรดิออตโตมัน / เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย / อาณาจักรข่านแห่งไครเมีย / คอสแซค(ยูเครน) / โฮลสเตน-กอททรอป(เยอรมนี) / สาธารณรัฐดัตช์ / ราชอาณาจักรไอร์แลนด์ / บริเตนใหญ่(อังกฤษ)

จะได้ได้ว่ามีประเทศที่ขีดเส้นใต้ไว้ซ้ำกันทั้งสองฝั่ง นั่นคือ เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย เดิมอยู่กับจักรวรรดิสวีเดน ต่อมาย้ายข้างมาอยู่กับฝ่ายพันธมิตรรัสเซีย ส่วนคอสแซค(ยูเครน) และ บริเตนใหญ่(อังกฤษ) เดิมอยู่กับฝ่ายพันธมิตรรัสเซีย ต่อมาย้ายมาอยู่กับจักรวรรดิสวีเดน ส่งผลให้สองฝ่ายหลังอยู่ในฐานะผู้แพ้สงครามนั่นเอง

คีย์สำคัญอีกส่วนที่อยากให้ดูคือ ฝ่ายคอสแซค หรือ ยูเครน ที่เริ่มมีบทบาทแนวโน้มการระหองระแหงมากขึ้นในการที่เดิมอยู่ฝ่ายรัสเซีย ต่อมาย้ายฝ่ายไปเข้ากันกับจักรวรรดิสวีเดนจนนำมาสู่การเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้ในที่สุด ต้องบอกว่าในช่วงต้นราวปี พ.ศ. 2243 ฝ่ายรัสเซียเพลี่ยงพล้ำการต่อสู่แก่ฝ่ายจักรวรรดิสวีเดนเป็นอย่างมาก และบุคคลสำคัญที่นำกำลังรบของยูเครนที่เข้าร่วมกับรัสเซียตอนแรกนั้น คือ อีวาน มาเซปปา(Ivan Mazepa) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าชายแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ครองเมืองรุส(ยูเครน) ต่อมาช่วงฤดูใบไม้ร่วง ราวปี พ.ศ. 2250 กองกำลังจักรวรรดิสวีเดนจำนวนมาก เริ่มรุกเข้ามาหวังจะตีเมืองมอสโคของพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 ให้แตก แต่ปรากฏว่ากองทัพจักรวรรดินั้นเกิดทนต่อสภาพอากาศอันเลวร้ายไม่ได้ ประกอบกับยุทธวิธีในการซุ่มโจมตี ตัดกำลัง รวมไปถึงเผาทำลายทรัพยากร แหล่งอาหารบริเวณนั้นของทัพรัสเซีย ทำให้กองทัพจักรวรรดิอ่อนแอลง จึงต้องมุ่งทัพลงใต้เพื่อพักทัพและหนีหนาว แต่ถึงกระนั้นก็ได้รับการช่วยเหลือจากทัพยูเครนคือ อีวาน มาเซปปา ที่อดีตเป็นฝ่ายศัตรู ซึ่งตอนนี้หันกลับมาเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันแล้ว อีก 2 ปีต่อมา พ.ศ. 2252 ทัพจักรวรรดิสวีเดนหลังจากสะสมกองกำลังมาพอสมควรก็เริ่มดำเนินการรุกเข้าล้อมเมือง โปลตาวา ในยุทธการโปลตาวา ซึ่งถือเป็นการต่อสู้ที่สำคัญในมหาสงครามเหนือเลยก็ว่าได้ เพราะในครั้งนี้ กองทัพอันเกรียงไกรของจักรวรรดิสวีเดนพ่ายแพ้อย่างยับเยิน พระเจ้าคาร์ลที่ 12 แห่งสวีเดน และ อีวาน มาเซปปา ต้องหนีลงไปสู่จักรวรรดิออตโตมัน และอีวาน มาเซปปา ก็ได้เสียชีวิตลงที่นั่น การพ่ายแพ้ครั้งนั้นส่งผลให้กองทัพจักรวรรดิสวีเดนอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก ถือเป็นยุทธการที่เป็นบาดแผลใหญ่แก่ทัพจักรวรรดิ เป็นการพ่ายแพ้ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของกองกำลังทหารสวีเดน ทำให้ส่งผลต่อการพ่ายแพ้ของจักรวรรดิสวีเดนในเวลาต่อมา เมื่อจักรวรรดิสวีเดนพ่ายแพ้ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้กองกำลังต่างๆเข้าหารัสเซียมากขึ้น เช่น เดนมาร์ก-นอร์เวย์ ที่ช่วงแรกสูญเสียดินแดน และต้องทำตามข้อตกลงต่างๆมากมายตอนที่แพ้จักรวรรดิสวีเดนในยุทธการยึดป้อมทิวนิ่ง การต่อสู้ครั้งนี้จึงเป็นจุดสิ้นสุดของเวลาของสวีเดนในฐานะมหาอำนาจในยุโรปเหนือ การต่อสู้ครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของสวีเดน เช่นเดียวกับรัสเซียและยูเครน ที่เป็นบาดแผลลึกจากการหักหลังของเจ้าชายแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ผู้ครองเมืองรุส(ยูเครน)

เพิ่มเติมอีกเล็กน้อย หลังจากมหาสงครามเหนือจบลงไประยะเวลานาน ราวพ.ศ. 2400 จักรวรรดิรัสเซียภายใต้การนำของจักรพรรดินีโคลัสที่ 1 ได้ทำสงครามพิชิตแหลมไครเมียกับจักรวรรดิออตโตมัน เกิดการต่อสู้แย่งชิงกันจนกระทั่งเมื่อล่วงเข้ารัชสมัยของ จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2 แห่งรัสเซียผู้เป็นลูก รัสเซียก็พิชิตแหลมไครเมียได้สำเร็จ (คาบสมุทรไครเมีย นี่แหละครับที่จะเป็นประเด็นต่อในช่วงปี พ.ศ. 2557 เดี๋ยวจะมากล่าวในกรณีนี้อีกครั้งหนึ่ง)

ภูมิหลังของรัสเซีย และยูเครนภายใต้ร่มเงาของสหภาพโซเวียต

หลังจากเหตุการณ์มหาสงครามเหนือ รัสเซียก็มีอำนาจ รุ่งเรือง และมั่งคั่งมากขึ้น ด้วยสิทธิตามข้อตกลง รวมไปถึงการได้ครอบครองพื้นที่ต่างๆดังที่กล่าวไป จวบจนสมัยปลายของราชวงศ์โรมานอฟ จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ได้มีการทำสงครามใหญ่ๆ ถึง 2 ครั้งด้วยกันได้แก่ สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น พ.ศ. 2447 กับ สงครามโลกครั้งที่ 1 พ.ศ. 2457 ซึ่งสงครามกับญี่ปุ่นนั้นฝ่ายรัสเซียพ่ายแพ้ ส่งผลให้สูญเสียทรัพยากรและงบประมาณมหาศาลไป แต่หลังจากนั้นอีกเพียง 10 ปี รัสเซียก็เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ใหม่กับฝ่ายสัมพันธมิตร การสงครามดำเนินไปยังไม่ทันจบ รัสเซียเข้าร่วมสงครามได้เพียงสามปีก็เกิดปัญหาภายใน ประกอบกับปัญหาด้านงบประมาณที่ต้องใช้ในสงครามที่มีมูลค่าเยอะมากรวมไปถึงความไม่พอใจการเข้าร่วมสงครามของฝ่ายต่างๆ ส่งผลให้เกิดการประท้วง และบานปลายใหญ่โตและเหตุการณ์อันเป็นจุดสิ้นสุดการปกครองของกษัตริย์รัสเซีย คือ เหตุการณ์การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ที่เมืองเปโตรกราด(เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก)ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าในขณะนั้น เป็นการยึดอำนาจของฝ่ายสังคมนิยมเปโตรกราดโซเวียต โดย จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ต้องทรงสละราชสมบัติในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460 ตั้งประเทศจากจักรวรรดิรัสเซียเป็นสาธารณรัฐรัสเซีย มีการตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมาบริหารประเทศในภาวะฉุกเฉิน และหลังจากนั้น จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 พร้อมครอบครัว ถูกปลงพระชนม์ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2461 ถือเป็นการสิ้นสุดระบบการปกครองในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างถาวรในรัสเซีย

ธงชาติสหภาพโซเวียต

อย่างที่กล่าว การที่ฝ่ายรัสเซียต้องมีปัญหาภายใน ในขณะที่กำลังทหารหลักยังสู้รบอยู่แนวหน้า เท่ากับเกิดความวุ่นวายของทหารและฝ่ายการเมืองพร้อมๆกัน และปัญหายิ่งพอกพูนเมื่อเกิดความขาดแคลนและงบประมาณที่น้อยลง เมื่อเกิดปัญหาดังนี้ วลาดีมีร์ เลนิน ผู้นำพรรคบอลเซวิคจึงได้ทำการพยายามดึงรัสเซียกลับออกมาจากสงคราม โดยการปฏิวัติรัฐบาลชั่วคราวอีกครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน(พ.ศ. 2460) หลังจากการควบคุมรัฐบาลของพรรคบอลเซวิคได้มีการก่อตั้งสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียขึ้นมาโดยใช้เปโตรกราด(เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก)เป็นเมืองหลวงก่อนที่จะย้ายมาที่มอสโกในภายหลัง โดยหลังจากยึดอำนาจเบ็ดเสร็จพรรคบอลเซวิคมีการเจรจาสงบศึกกับทางฝ่ายมหาอำนาจกลาง ที่มีเยอรมันเป็นแกนหลัก โดยร่วมลงนานใน สนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ ในวันที่ 3 มีนาคม ปี พ.ศ. 2461 โดยใจความสำคัญคือ รัสเซียต้องจ่ายค่าปฏิกรรมหกพันล้านมาร์กทองคำเยอรมัน และต้องสละอำนาจและยกดินแดนรัฐบอลติกให้แก่เยอรมัน ซึ่งได้แก่ ลิทัวเนีย ลัตเวีย เอสโตเนีย ในปัจจุบัน รวมไปถึงดินแดนของ โปแลนด์ ฟินแลนด์ เบราลุส ยูเครน และลิทัวเนีย ในปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย ให้แก่เยอรมัน

วลาดีมีร์ เลนิน

แต่ผลของสัญญานั้นกลับสิ้นสุดลงอย่างเร็วเมื่อฝ่ายมหาอำนาจกลางพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 เป็นอันสิ้นสุดลงของการสู้รบ รวมไปถึงสนธิสัญญาต่างๆตามมา แต่การจัดการที่ส่งผลที่สุดหลังสงครามคือการเกิด สนธิสัญญาแวร์ซาย ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2462 ที่หลังสงครามจบไปช่วงหนึ่งแล้ว ส่งผลให้จักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ในทวีปยุโรปต้องล่มสลายไปถึง 4 จักรวรรดิ ได้แก่ จักรวรรดิรัสเซีย, จักรวรรดิเยอรมัน, จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และจักรวรรดิออตโตมัน หลายพื้นที่จำนวนมาก แบ่งแยกแตกออกจากการควบคุมเดิม มีประเทศจำนวนมากได้รับเอกราชกลับคืนมา และมีการเกิดเป็นการก่อตั้งประเทศใหม่ขึ้นมา จากการล่มสลายของเหล่าราชวงศ์ได้แก่ ราชวงศ์โรมานอฟ ราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค และราชวงศ์ออตโตมัน ก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองต่างๆมากมาย

สงครามกลางเมืองรัสเซีย

คราวนี้มาเจาะเล่าถึงกลุ่มเดิมของจักรวรรดิรัสเซียที่ตอนนี้อาศัยผลของสนธิสัญญาแวร์ซายบ้าง สนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์บ้าง ในการแยกตัวออกมาจากการควบคุมภายใต้การปกครองใหม่ของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม สหภาพโซเวียต โดยการเกิดสงครามกลางเมือง ที่ครุกรุ่นตั้งแต่การเกิดการล้มล้างการปกครองของราชวงศ์โรมานอฟ หลังเหตุการณ์การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ยาวมาจนถึงสิ้นสุดสถานการณ์ความขัดแย้งราวๆเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2466 การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดสุดคือการเกิดเป็นประเทศที่มีเอกราชเป็นของตนเองอย่าง เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ลัตเวีย ลิทัวเนียและโปแลนด์ แต่ความพัวพันยังไม่จบแค่นี้ เราพูดถึงเรื่อง รัสเซีย ยูเครนเป็นหลัก ดังนั้นเรามาตามต่อไปถึงพื้นที่ที่เหลือจากการปลดแอกตัวเองอย่างสหภาพโซเวียตกันต่อ

ความร่วมมือสู่ สหภาพโซเวียต

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าเมื่อเกิดการปกครองใหม่ของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียเดิม มีการทำข้อตกลงร่วมกันเกิดเป็น สนธิสัญญาการก่อตั้งสหภาพโซเวียต โดยร่วมลงนามในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2465ได้แก่

สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย ประกอบไปด้วยประเทศรัสเซีย, เอสโตเนีย, ลิทัวเนีย, มอลโดวา, ลัตเวีย, คีร์กีซสถาน, ทาจิกิสถาน, เติร์กเมนิสถาน, อุซเบกิสถาน, คาซัคสถาน ในปัจจุบัน
สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน หรือประเทศยูเครนในปัจจุบัน
สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตไบโลรัสเซีย หรือประเทศเบลารุสในปัจจุบัน
สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตทรานส์คอเคซัส ประกอบไปด้วยประเทศอาร์มีเนีย, ประเทศอาเซอร์ไบจาน และประเทศจอร์เจีย ในปัจจุบัน

ถือเป็นการกำเนิดสหภาพโซเวียตด้วยการปกครองแบบคอมมิวนิสต์อย่างเต็มตัว

สนธิสัญญาการก่อตั้งสหภาพโซเวียต

การเกิดประเทศรัสเซีย และยูเครน

จากตอนต้นๆ รัสเซียและยูเครนมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ต่างเป็นเมืองที่มีความสำคัญเรื่อยมาตั้งแต่ในอดีต จวบจนหลังเหตุการณ์ช่วงชิงอำนาจในสงครามกลางเมืองดังที่กล่าวมา ส่งผลให้สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย เปลี่ยนแปลงมาเป็น สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ซึ่งนำโดยกลุ่มพรรคบอลเซวิคดังที่กล่าวมาแล้วนั้น เหตุการณ์ที่สำคัญต่อการเมืองการปกครองต่อมาคือ เมื่อ โจเซฟ สตาลิน เข้าสู่อำนาจ เขายึดมั่นอุดมการณ์ใน ลัทธิมากซ์–เลนิน และริเริ่มเศรษฐกิจที่มีการวางแผนจากส่วนกลาง ส่งผลให้ประเทศเข้าสู่สมัยการเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นระบบรวมอำนาจการผลิต (collectivisation) ถือเป็นการรวมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จในทุกกรณีเลยทีเดียว เป็นยุคที่ถือได้ว่าอุดมการณ์ทางคอมมิวนิสต์ถูกใช้งานอย่างจริงจังมากที่สุดยุคหนึ่งเลยทีเดียว

ฮิตเลอร์กับมุสโสลินีประกาศอักษะต่อกัน ค.ศ. 1935

เมื่อเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นการบุกยึดครองโปแลนด์โดยเยอรมนี และมีการประกาศทำสงครามกับเยอรมนีในหลายประเทศ หลังจากนั้นวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2482 โซเวียตและเยอรมนีคือไรช์เยอรมัน(Deutsches Reich) ในขณะนั้นได้ทำข้อตกลงใน กติกาสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบินทร็อพ โดยระบุการถือครองดินแดนต่างๆ บางส่วน ที่เคยอยู่ในการปกครองของรัสเซียสมัยที่ยังเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย ได้แก่ โปแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย ร่วมกับเยอรมนี ได้แก่ รวมถึงทำข้อตกลงไม่รุกรานกันหรือร่วมมือกับบุคคลอื่นรุกรานกัน แต่ทว่าฝ่ายเยอรมนีกลับเป็นฝ่ายฉีกสัญญาเสียเองเมื่อเริ่มทำการบุกโจมตีโซเวียตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2484 หลังจากลงนามกันได้เพียง 2 ปี เป็นที่รู้จักกันในนาม ปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา และผลของการบุกโซเวียตแบบไม่ดูตาม้าตาเรือของเยอรมนีทำให้กองทัพเยอรมนีเป็นฝ่ายเสียเปรียบและอ่อนแอลง จนนำไปสู่ความปราชัยในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในที่สุดโดยการนำทัพโต้กลับของโซเวียตเอง เมื่อจบสงครามโลกครั้งที่ 2 พื้นที่ที่เคยถูกยึดครองโดยเยอรมนีก็กลับมาสู่อำนาจของโซเวียตอีกครั้ง และยังเป็นการขยายอิทธิพลลัทธิคอมมิวนิสต์ไปสู่นานาประเทศอีกด้วย จากนั้นโลกก็เข้าสู่ยุคสงครามเย็น

เหตุการณ์หนึ่งที่สั่นคลอนทางอำนาจของโซเวียต จนมาเป็นจุดพลิกผันเมื่อเกิดเหตุการณ์การปฏิรูปเปเรสตรอยคา และกลัสนอสต์ โดย มีฮาอิล กอร์บาชอฟ ซึ่งจุดประสงค์คือการดำเนินนโยบายปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจโดยการรับรูปแบบจากทางตะวันตกมาปรับปรุงและใช้มากขึ้นเรียกกันว่า ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม ที่เห็นได้ชัดคือ กฎหมายที่ได้อนุญาตให้ประชาชนมีทรัพย์สินส่วนบุคคล และดำเนินกิจการเอกชนได้ ซึ่งขัดต่อลัทธิมาร์กซ์อย่างสิ้นเชิง กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งกับจีน โดยที่จีนก็ลดบทบาทลงรวมทั้งพัฒนาการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่เข้มข้นขึ้นในฝ่ายของตัวเอง และอีกส่วนที่เกิดจากการปฏิรูปดังกล่าวคือ การยกเลิกการรวมอำนาจไว้ที่พรรคคอมมิวนิสต์ นั่นหมายถึงเกิดการกระจายอำนาจสู่ประชาชนและทำให้เกิดการเลือกตั้งเกิดขึ้น เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐย่อยต่าง ๆ ของสหภาพโซเวียตซึ่งมีความพยายามจะแยกตัวมากก่อนหน้านี้แล้ว ได้มีการลงประชามติเห็นชอบการแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต โดยวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2534 กอร์บาชอฟได้เห็นชอบการโอนอำนาจการบริหารทั้งหมดจากประธานาธิบดีแห่งสหภาพโซเวียต ให้กับ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งก็คือ บอริส เยลซิน ที่ได้รับการเลือกตั้งไปก่อนหน้านี้ ในวันที่ 12 มิถุนายน ปีเดียวกัน และในคืนวันนั้นธงชาติสหภาพโซเวียตได้ถูกเชิญลงจากยอดเสาที่เครมลิน อันเป็นการสิ้นสุดสหภาพโซเวียตอย่างสมบูรณ์

แทรกนิดหน่อย ระหว่างช่วงสงครามเย็น สหภาพโซเวียต ร่วมกับชาติยุโรปตะวันออกได้แก่

แอลเบเนีย สาธารณรัฐประชาชนแอลเบเนีย (ถอนตัวปี พ.ศ. 2511)
บัลแกเรีย สาธารณรัฐประชาชนบัลแกเรีย
เชโกสโลวาเกีย สาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวัก
เยอรมนีตะวันออก สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (ถอนตัวปี พ.ศ. 2533)
ฮังการี สาธารณรัฐประชาชนฮังการี
โปแลนด์ สาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์ (ถอนตัวปี พ.ศ. 2533)
โรมาเนีย สาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนีย

จัดตั้ง องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ หรือ Warsaw Pact ขึ้นมาตอบโต้กับ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ถือเป็นองค์กรที่สำคัญของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่มีไว้ต่อต้านการขยายอำนาจและการแผ่อิทธิพลเข้าครองดินแดนของฝ่าย NATO โดยมีการยกเลิกภายหลังหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายไป และเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาอีกในภาพหลัง

กติกาสัญญาวอร์ซอ

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย รัฐต่างๆก็แยกตัวออกจากที่กล่าวมาแล้ว กลุ่มโซเวียตเดิมเปลี่ยนมาเป็น สหพันธรัฐรัสเซีย หรือ รัสเซียในปัจจุบัน และมีรัฐอื่นๆที่เกิดได้รับเอกราช หรือ ก่อตั้งเป็นชาติตนเองขึ้นมาอีก 14 ประเทศ โดยดูจากภาพประกอบจาก Wikipedia จะเห็นภาพที่สุดครับ ด้านล่างนี้เลย

การแยกประเทศต่างๆหลังการล่มสลายของโซเวียต

ความขัดแย้ง

วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539 สภาดูมาของสหพันธรัฐรัสเซียได้แสดงถึงฐานะทางกฎหมายเนื่องจากการตัดสินใจของสภาโซเวียตสูงสุดของอดีตสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียว่า “การบอกเลิกสนธิสัญญาก่อตั้งสหภาพโซเวียต” เป็นสิ่งที่ผิด กล่าวว่า รัฐบัญญัติที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยการละเมิดรัฐธรรมนูญของอดีตสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย และบรรทัดฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ นั้นขัดต่อกฎหมาย

ПОСТАНОВЛЕНИЕ ГОСУДАРСТВЕННОЙ ДУМЫ

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายไปแล้ว จะเห็นได้ว่าแต่ละรัฐที่เคยร่วมกันก่อตั้งเป็นสหภาพโซเวียตต่างก็พยายามที่จะปลดแอกตัวเองแยกออกจากการปกครองแบบดั้งเดิม แล้วก่อตั้งเป็นรัฐเอกราช พัฒนาเป็นประเทศตนเองขึ้นมา ตามเขตการปกครองเดิมที่ตนเองครอบครองอยู่ อย่างในบทความนี้เราพูดถึง การเกิดเป็นประเทศยูเครน และประเทศรัสเซีย แต่ปัญหาคือ ทั้งสองประเทศนี้ต่างมีพรมแดนที่ติดต่อกัน ดังนั้น เขตการปกครองของแต่ละรัฐที่ยึดถือกันนั้น คือส่วนไหนบ้างกันแน่ ครอบคลุมถึงพื้นที่ใดบ้าง สิ้นสุดตรงส่วนไหน ห่างจากอะไรเท่าไร และการจะสรุปว่ามันเป็นเขตการครอบครองของใครกันแน่ มันคลุมเครือมาก เพราะจากบรรทัดแรกที่พูดถึงตั้งแต่ยังเป็นจักรวรรดิรุสเคียฟ จนมาถึงสิ้นสุดถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียตนั้น จะเห็นได้ว่าแต่ละพื้นที่มีการยึดครอง ครอบครองโดยต่างฝ่ายอำนาจกันมาอย่างยาวนาน บางส่วนมีข้อตกลงเป็นรายลักษณ์อักษร บางส่วนเป็นการครอบครองโดยอำนาจด้านการทหาร บางส่วนเป็นการครอบครองโดยการกำหนดของการบริหารงานจากส่วนกลาง แล้วจะสรุปลงเอยให้เป็นแบบไหนดี เห็นไหมครับ ปัญหามันเกิดจากตรงนี้ ที่ผมเขียนเพื่อบรรยายมามากกว่าค่อนบทความเพื่อแสดงให้ทุกท่านเห็นถึงย่อหน้าในบรรทัดต่อไป

ปัญหาเมื่อก่อตั้งประเทศยูเครน และสมบัติที่ไม่อาจครอบครอง

หลังจากมีเอกราชและก่อตั้งเป็นประเทศขึ้นมา ยูเครนได้ครอบครองสมบัติเก่าที่สำคัญของสหภาพโซเวียตมากถึง 1,249 ชิ้นด้วยกัน นั่นคือ หัวรบนิวเคลียร์ เพราะว่า โรงงานจัดเก็บอาวุธนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตนั้น ดันมาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ประเทศยูเครนในปัจจุบัน ยูเครน ณ ขณะนั้นเลยกลายเป็นประเทศที่มีหัวรบนิวเคลียร์มากเป็นอันอับสามของโลก รองจากรัสเซีย และอเมริกา แต่ถึงแม้จะมีมากมายแต่ปรากฎว่ามันใช้ไม่ได้ เพราะรหัสสั่งการหัวรบนิวเคลียร์เหล่านั้น มันอยู่กับรัสเซีย ดังนั้นปัญหามันเลยเกิดเพราะรัสเซียก็อยากจะได้ของตนเองคืน เมื่อเกิดการฮึ่มๆกันขึ้นมาแล้ว ทั่วโลกก็กังวลกลัวจะบานปลายเป็นสงครามกันอีก เมื่อการประชุมองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe หรือ OSCE) ที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี จึงมีมติให้ประเทศที่ครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ที่ไม่ใช่ของตนเองได้แก่ ยูเครน เบลารุส และคาซัคสถาน ทำลายหัวรบอาวุธนิวเคลียร์และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ทิ้งไป(Denuclearization) แลกกับการที่อเมริกา อังกฤษ และรัสเซียจะรับประกันความปลอดภัยให้ โดยมีการลงนามระหว่างกันในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2537 เรียกว่า ข้อตกลงบูดาเปสต์ ทำให้ทั้งสามชาติกลายเป็น รัฐที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์(Non-Nuclear-Weapon State) เพื่อแลกกับเอกราชตามการรับรองของนานาชาติ ต้องบอกก่อนว่า ตอนแรกเริ่มแม้ยูเครนจะมีเอกราชด้วยตนเองจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตแล้ว แต่ก็ยังไม่มีประเทศไหนให้การรับรองเอกราชดังกล่าวนั่นเอง นี่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ยูเครนจำเป็นต้องปฏิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หัวรบนิวเคลียร์

เศษกระดาษจากข้อตกลงบูดาเปสต์

เมื่อจบการประชุมพร้อมลงนามในข้อตกลงดังกล่าว ต่างฝ่ายต่างเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่กันดี แต่มันเป็นปัญหาที่เริ่มปริแยกให้เห็นเมื่ออเมริกาเป็นผู้ทำลายข้อตกลงนั้นเอง โดยเริ่มเมื่อราวๆปี พ.ศ. 2556 ฝ่ายยูเครนโดยประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช ผู้ได้รับเลือกตั้งมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปฏิเสธไม่นำยูเครนเข้าร่วมในสหภาพยุโรป (EU)และจะอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจยูเรเซีย(Eurasia Economic Union : EAEU) ซึ่งเป็นกลุ่มของรัสเซียต่อตามเดิม ทำให้เกิดการประท้วงไม่พอใจของประชาชนบางส่วนจนลุกลามเป็นการจราจลและลุกฮือประท้วงกันหลายพื้นที่ ปัญหาเริ่มด้วยการที่ยุโรปและอเมริกา สนับสนุนผู้ประท้วงให้ทำการโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช เรียกว่าการปฏิวัติ Euromaidan โดยนอกจากทำการสนับสนุนกลุ่มประชาชนของยูเครนแล้ว ยังมีการสนับสนุนกลุ่มนีโอนาซีที่เป็นกองกำลังทหารเข้าต่อต้านรัฐบาลอีกด้วย จนสุดท้ายเกิดการปะทะกันมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากและจบลงด้วยการที่ถูกรัฐสภาขับออกจากตำแหน่งและตนเองต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ พร้อมกับมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2557 ส่วนทางฝ่ายรัสเซียก็กล่าวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการรัฐประหารที่ผิดกฎหมายและไม่รับรองรัฐบาลใหม่ของยูเครนแต่อย่างใด

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช ปี พ.ศ. 2553

จากการแทรกแซงในยูเครน ประเทศที่ถูกแทรกแซงจากอเมริกาอีกประเทศคือเบลารุส ซึ่งถือเป็นประเทศคู่ลงนามใน ข้อตกลงบูดาเปสต์ ด้วยเช่นกัน พ.ศ. 2556 อเมริกาทำการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเบลารุส โดยอ้างการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลเบลารุส ทำให้เบลารุสร้องถึงการผิดต่อข้อตกลงบูดาเปสต์ ที่ห้ามใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อคู่สัญญา แต่ทางอเมริกาก็ไม่สนใจอะไร ดังนั้น ข้อตกลงบูดาเปสต์ จึงเหมือนไม่มีผลอะไรกับใครทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังกลายเป็นแค่กระดาษเปล่าๆ เท่านั้น เมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมาประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก บอกผ่านสื่อว่า แม้เบลารุสจะทำลายอาวุธนิวเคลียร์ทิ้งไปหมดแล้ว(หรือเปล่า)ตามบันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ แต่ไม่ได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงฐานยิงขีปนาวุธข้ามทวีปแต่อย่างใด พร้อมให้รัสเซียนำอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาติดตั้งได้ทันที ผ่าม!!! อ้าวยูเครนทำลายทิ้งเรียบเลยทุกอย่าง

เบลารุสผ่านประชามติแก้รัฐธรรมนูญ เพิกถอนสถานะ “รัฐไร้นิวเคลียร์”

ผมสรุปให้ง่ายๆ ข้อตกลงบูดาเปสต์ ไม่ใช่สนธิสัญญาจึงไม่มีผลทางกฎหมายผูกมัดระหว่างประเทศที่ร่วมกันลงนาม กลายเป็นว่าเป็นข้อตกลงที่ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศ ว่าจะยึดมั่นในบันทึกข้อตกลงนี้หรือไม่ มันจึงสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่บาดลึกลงไปอีกเมื่อเรามาทราบภายหลังว่าเบลารุส ทำลายแต่เพียงหัวรบนิวเคลียร์ที่อ้างว่าทำลายหมดแล้ว หรือเปล่าก็ไม่ทราบแน่ แต่ที่แน่ๆ คือ ยังไม่ได้ทำลายตัวจรวดข้ามทวีปขนาดใหญ่ รวมไปถึงฐานยิงขีปนาวุธข้ามทวีปที่ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ในขณะที่คาซัคสถานยังเหลือฐานยิงจรวดบางส่วนอยู่ กับผู้น่าสงสารในเกมนี้คือ ยูเครน ที่ทำลายทุกอย่างเรียบ ไม่เหลือสิ่งใด ทำตามข้อตกลงที่ลงนามไว้อย่างมั่นคง ยูเครนจึงกลายเป็นรัฐที่ไม่เหลือข้อต่อรองอะไรอยู่เลยในเวลานั้น

ไครเมีย เมืองท่าแห่งความรุงโรจน์ของชนรัสเซีย ที่รอวันกลับรัสเซีย

Crimea

ในเวลาไล่เลี่ยกันกลับช่วงที่เกิดการปฏิวัติ Euromaidan แคว้นไครเมียก็มีทีท่าที่จะไปอยู่ร่วมกับรัสเซียอย่างเห็นได้ชัด ไครเมียมีพื้นที่เป็นลักษณะคาบสมุทร ตั้งอยู่ระหว่างทะเลดำและทะเลอาซอฟ โดยมีช่องแคบเคิร์ชเป็นพรมแดนที่คั่นระหว่างรัสเซีย เป็นพื้นที่ทางออกทางทะเลที่มีฐานทัพของรัสเซียตั้งอยู่ การบริหารการปกครองของยูเครนต่อแคว้นไครเมียหลังจากแยกตัวจากสหภาพโซเวียต ถือว่าแคว้นไครเมียเป็น เขตปกครองตนเองพิเศษไครเมีย ซึ่งอาศัยการดำเนินการภายใต้การควบคุมของยูเครนนั่นเอง ชนวนเหตุการแบ่งแยกดินแดนเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีการปลดธงชาติยูเครน และสวมธงชาติรัสเซียแทนในหลายพื้นที่ พร้อมเรียกร้องให้ผนวกไครเมียกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย มีการประท้วงต่อต้านยูเครนอย่างรุนแรง หลังจากนั้น วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2557 ไครเมียได้จัดการลงประชามติเพื่อแยกดินแดนออกจากยูเครนและผนวกรวมเข้ากับรัสเซีย ซึ่งผลการทำประชามติปรากฎออกมาว่าผู้ที่มาลงคะแนนเสียงถึง 96.77% สนับสนุนให้ไครเมียกลับเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียอีกครั้ง และทันทีที่ผลประชามติดังกล่าวออกมา ในวันที่ 18 มีนาคม ปีเดียวกัน ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ก็ออกมารับลูกจากทางไครเมียอย่างรวดเร็ว ด้วยการลงนามในสนธิสัญญาเพื่อผนวกสาธารณรัฐไครเมียทางตอนใต้ของยูเครน และเมืองเซวาสโตโพล(พื้นที่ท่าเรือที่รัสเซียเช่าต่อจากยูเครน เพื่อวางกองทัพเรือ)เข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย โป๊ะ!!! ตอนนี้ทั่วโลกต่างประนามการกระทำของรัสเซียทันทีถือว่าเป็นการรุกรานยูเครนโดยการควบรวมดินแดนของคนอื่น แม้ว่าดินแดนแคว้นไครเมียส่วนนี้เดิมจะเป็นของรัสเซียมาก่อน ตั้งแต่สมัยยังเป็น สหภาพโซเวียต โดยเมื่อราวๆปี พ.ศ. 2497 นิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำโซเวียตในขณะนั้นได้ทำการยกดินแดนดังกล่าวให้เป็นของยูเครน เพียงแต่ขอการวางกองทัพของตนเองไว้ในพื้นที่เท่านั้น ตอนนั้นมันไม่เกิดปัญหาอะไรไงครับ เพราะมันคือสหภาพโซเวียต เหมือนเป็นประเทศเดียวกัน แต่ภายหลังยูเครนได้รับเอกราชหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ไครเมียก็ได้เป็นรัฐปกครองตนเองอยู่ภายใต้การปกครองของยูเครนดังที่กล่าวมา แต่โดยที่เดิมทีมันคือเขตของทางรัสเซียเก่า ดังนั้นประชากรส่วนใหญ่คือชาวรัสเซียนั่นเอง มันจึงเกิดเป็นข้อเรียกร้องให้ผนวกรวมกับรัสเซียแบบนั้น ปัญหาความขัดแย้งช่วงนั้นจึงตรึงเครียดเป็นอย่างมาก เพราะไม่เพียงเฉพาะพื้นที่แคว้นไครเมียเท่านั้น ยังคงมีพื้นที่แคว้นดอนบาสอีกที่มีปัญหาคล้ายๆกัน

ดอนบาส กับความใกล้ชิดรัสเซีย

หลังจากการทำประชามติของเขตปกครองตนเองไครเมียเพื่อแยกตัวเป็นอิสระจากยูเครนได้จุดกระแสความต้องการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่อื่นๆของยูเครนอีกตามมา แคว้นดอนบาส(Donbas)ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งแคว้นดอนบาสที่ว่านี้ประกอบไปด้วยมณฑล ลูฮันส์ (Luhansk) และ โดเนตส์ (Donetsk) นั่นเอง ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวมีการต่อต้านและประท้วงเพื่อเรียกร้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย หรือบางเมืองอย่างโดเนตก์ก็ต้องการแยกตนเองออกจากยูเครนโดยให้เป็นรัฐอิสระ ทางยูเครนเองก็ได้มีการส่งกองกำลังทหารเข้ามาระงับการประท้วงจนเกิดเป็นการปะทะกันเป็นวงกว้าง จากนั้นทางแคว้นดอนบาสเองก็ร้องเรียนว่ากลุ่มกองกำลังที่พยายามมาควบคุมพื้นที่ตรงนั้นของทางยูเครนนั้น เป็นกลุ่มนีโอนาซีหัวรุนแรง มีการสังหารฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวดอนบาสมากมาย มีการทารุณ ทรมานประชาชน รวมทั้งเรียกร้องให้ทางรัสเซียเข้ามาปกป้องตนเองให้ปลอดภัย หลายฝ่ายมองว่า รัสเซียให้การสนับสนุนทั้งในด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ต่อกองกำลังของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเผู้นำรัสเซียก็ปฏิเสธมาโดยตลอด ความขัดแย้งและการสู้รบด้านนี้ จึงได้ลุกลามบานปลายออกไปเป็นวงกว้างทั่วพื้นที่ในภาคตะวันออกของยูเครน อีกทั้งทางฝ่ายรัสเซียเองก็ยังมีการวางกองกำลังสังเกตุการณ์ตามแนวชายแดนที่พิพาทตลอดพรมแดนยูเครนเกิดเป็นความตรึงเครียดอย่างมากในเวลานั้น

Donbas

การสงบศึกและยุติทางการทหาร

หลังจากการควบรวมแคว้นไครเมียเข้าสู่รัสเซีย ทางฝ่ายยูเครนก็ไม่พอใจ อีกทั้งยังถือว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมายและปฏิเสธการอ้างสิทธิของรัสเซียดังกล่าว ยูเครนพยายามที่จะใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงด้วยความรุนแรงจนเกิดมีการปะทะด้วยอาวุธกันขึ้น จากนั้นก็ลุกลามไปสู่พื้นที่ต่างๆอย่างแคว้นดอนบาสดังกล่าว ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวหลายฝ่ายก็กล่าวว่ารัสเซียยื่นมือเข้ามาสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงที่เรียกร้องการแยกตัวจากยูเครน จนกลายเป็นกองกำลังของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน จากนั้นมีการระดมกำลังทหารของทั้งสองฝ่ายตรึงในพื้นที่พิพาทต่างๆ ทั้งบริเวณทะเลดำ และแคว้นดอนบาส รวมทั้งมีความพยายามทางฝ่ายยูเครนที่มีการปฏิบัติการณ์ทางทหารเพื่อชิงพื้นที่แคว้นไครเมียคืน และการปราบปรามกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่แคว้นดอนบาส ต่อมาจึงเกิดเป็นการปะทะกันอย่างหนักจนนานาชาติหวั่นว่าจะเป็นสงครามใหญ่และได้รับผลกระทบตามมา จึงได้มีการหารือกันจนนำไปสู่กระบวนการความร่วมมือร่วมกันต่อไป

Minsk Protocol

มาถึงการประชุมผู้นำ 4 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยรัสเซีย ยูเครน ฝรั่งเศสและเยอรมนี ร่วมกันหาทางออกยุติความรุนแรงระหว่างรัสเซีย และยูเครนในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2557 เรียกว่าข้อตกลงสันติภาพกรุงมินส์ก (Minsk Protocol) โดยมีใจความว่าให้ต่างฝ่ายต่างหยุดยิงทันที และถอนอาวุธหนักห่างกันด้วยรัศมี 5-15 กิโลเมตร และอีกฉบับในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 โดยฉบับหลังนี้มีฝรั่งเศสและเยอรมนี ร่วมลงนามด้วย ซึ่งข้อความในฉบับหลังนี้ มีข้อกำหนดเพิ่มเติมโดยยูเครนต้องอนุญาตให้ฝ่ายแบ่งแยกดินแดนจังหวัดลูฮันส์ และโดเนตส์ จัดการเลือกตั้งขึ้นมาเองได้ พร้อมให้ตั้งศาล และตำรวจของตัวเองได้ด้วย นั่นจึงกลายเป็นข้อตกลงที่ทางยูเครนเสียเปรียบมากๆเลยทีเดียว

ข้อตกลงสันติภาพกรุงมินสค์ ช่วยอะไรได้บ้าง

“ถ้ามีการยิงอาวุธทางอากาศจากดินแดนยูเครน มันจะบินมาถึงมอสโกในระยะเวลา 7-10 นาที และถ้าเป็นอาวุธเหนือเสียงจะใช้เวลาแค่ 5 นาทีเท่านั้น ลองจินตนาการดูละกัน ว่าเราจะทำอะไรได้ในสถานการณ์แบบนั้น”

Vladimir Putin
พื้นที่ปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียสู่ยูเครน

หลังจากการทำข้อตกลงสันติภาพดังกล่าวนั้นปัญหาต่างๆก็ยังไม่ถูกแก้ไขอย่างเด็ดขาด แต่ปัญหามาบานปลายใหญ่โตอีกครั้ง เมื่อกองทัพรัสเซียยิงเรือรบยูเครนและเข้าทำการยึดเรือรบของยูเครน บริเวณทะเลดำมากถึง 3 ลำ โดยทางฝ่ายรัสเซียอ้างว่าเรือรบของยูเครนรุกล้ำเข้ามาในน่านน้ำของรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย หลังจากนั้นก็มีการปะทะด้วยกำลังทางทหารกันมาโดยตลอดระหว่างรัฐบาลยูเครน และกลุ่มผู้ต้องการแยกดินแดน จนมาถึงวันที่ช็อคโลกคือเมื่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียได้ลงนามรับรองอำนาจอธิปไตยสาธารณรัฐประชาชนโดเนตส์ และ สาธารณรัฐประชาชนลูฮันส์ เพื่อแยกเป็นเอกราชจากยูเครน จากนั้นมีการประกาศส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเดินหน้าเข้าสู่แคว้นดอนบาสเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของรัฐใหม่จากการรุกรานของยูเครน และหลังจากนั้นก็เป็นการเดินหน้าปฏิบัติการพิเศษทางการทหารต่อยูเครนทันที โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 จนถึงปัจจุบัน(วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2565) ณ ขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ ยังคงมีการต่อสู้ปะทะกันด้วยอาวุธอยู่ และมีการเจรจากันหลายครั้งแล้วระหว่างคู่ขัดแย้ง แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปอะไรเท่าไรนัก และยังไม่รู้ว่ามันจะไปจบลงที่ตรงไหน

สรุป

หลังจากอ่านจนจบมาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ ความซับซ้อนในหลากหลายเรื่องราว ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกัน ข้อตกลง ความร่วมมือ สนธิสัญญาในแต่ละยุคสมัย ผลประโยชน์ต่างๆ อำนาจ การเงิน การปกครอง เชื้อชาติ ทรัพยากร มันอีรุงตุงนังกันไปหมด ความขัดแย้งของรัสเซียกับยูเครนเห็นว่าจะจบลงด้วยการตกลงแบบง่ายๆนั้น ไม่มีแน่นอน ตอนนี้เราก็ได้แต่รอดูบทสรุปว่าจะออกมาแบบไหน การร่วมมือระหว่างนานาชาติ จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง และนอกจากรัสเซียกับยูเครนแล้ว ในพื้นที่พิพาทอื่นๆ เราจะมีการแก้ไข หรือ ร่วมมือกันจัดการอย่างไร เพราะอย่าลืมว่า ทุกๆความขัดแย้งมันมีแต่ความสูญเสีย แล้วเราจะสูญเสียอะไรไปเพื่ออะไร ในเมื่อหากเราร่วมมือกันได้ เราควรร่วมมือกันเพื่อหาทางอยู่ร่วมกัน แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน จัดการแก้ไขปัญหาร่วมกัน น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่เราควรทำ

มนุษย์เราทำไมมันยุ่งยากจัง

อ้างอิง

Wikipedia – ชาวสลาฟ

Wikipedia – จักรวรรดิรัสเซีย

Wikipedia – มหาสงครามเหนือ

Wikipedia – ราชวงศ์โรมานอฟ

Wikipedia – สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต

https://en.wikipedia.org/wiki/Minsk_agreements

Wikipedia – สนธิสัญญาแวร์ซาย

https://en.wikipedia.org/wiki/2022_Russian_invasion_of_Ukraine

https://en.wikipedia.org/wiki/Crimea

https://en.wikipedia.org/wiki/2022_Russian_invasion_of_Ukraine#/media/File:Russian_military_weapons_destroyed_and_seized_by_the_Armed_Forces_of_Ukraine.jpg

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่

สามารถสนับสนุนเราได้ทางช่องทางต่อไปนี้

Lightning network (Tippin Me)

LN-tippin-me

Lightning network (Alby)

Bitcoin

BitcoinQR

หรือสนับสนุนผ่านช่องทาง Verified creator เพียงแวะชม หรือให้ทริปเราผ่านเว็บบาวเซอร์ Brave


Scroll to Top